ก.พลังงาน รับทั่วโลกตื่นใช้พลังงานทดแทน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 22, 2006 11:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--ก.พลังงาน
ก.พลังงาน รับทั่วโลกตื่นใช้พลังงานทดแทน ฟุ้งเงินลงทุนทั่วโลกเพื่อนำพลังงานทดแทนมาผลิตไฟฟ้ากว่า 5.5 แสนล้านบาทต่อปี ย้ำเม็ดเงินครึ่งหนึ่งลงทุนในเอเชีย ระบุนานาชาติเตรียมกฎหมายเฉพาะ เพื่อรับมือปัจจัยเสี่ยงการใช้พลังงานทดแทน
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเดินทางไปร่วมประชุม Asia Power Congress ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 13-19 มีนาคม 2549 ว่า ในที่ประชุมฯ ซึ่งประกอบไปด้วย รมต. กระทรวงพลังงาน ในกลุ่มประเทศในอาเซี่ยน อาทิ จากศรีลังกา เวียดนาม และอินเดีย รวมทั้งตัวแทนซึ่งเป็นระดับเรคกูเรเตอร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีความเห็นตรงกันว่า ประเทศในกลุ่มเอเชีย จะเป็นฐานสำคัญ ในการลงทุนพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และลดการพึ่งพาน้ำมัน เนื่องจากขณะนี้ นานาชาติทั่วโลกได้ให้ความสนใจด้านพลังงานทดแทนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะมีเม็ดเงินในการลงทุนสูงถึง 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 5.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยมุ่งที่จะมาลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียเป็นหลัก ถึง 50%
ทั้งนี้ ปัจจัยการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนให้เกิดขึ้นโดยเร็วนั้น ที่ประชุมฯ ชี้ว่า ปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน จะเป็นปัจจัยสำคัญ โดยหากราคาน้ำมันดิบยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีราคาสูงกว่า 60 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลขึ้นไป การพัฒนาด้านพลังงานทดแทนก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพราะขณะนี้ทั่วโลกต่างมุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์พลังงานคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมด้วย
นอกจากนี้ เรื่องสำคัญที่ ที่ประชุม ฯ ได้เสนอและมีการหารือ ได้แก่ประเด็นในเรื่องการออกกฎหมายเฉพาะรองรับ เพื่อจัดการ หรือลดความเสี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งแต่ละประเทศเห็นด้วยที่ควรจะมีกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ ด้านวัตถุดิบในการรองรับการผลิต การพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ กลไกตลาดเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ปัจจัยเรื่องการพัฒนาบุคลากร และปัจจัยเสี่ยงสำหรับการลงทุนในการผลิตพลังงานทดแทน ที่อาจมีกระแสเงินสดไม่คงที่ เป็นต้น
โดยในส่วนของกระทรวงพลังงาน ได้เร่งการออกกฎหมายในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับปรุง พระราชบัญญัติการประกอบกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ที่จะครอบคลุมในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อเป็นกลไกผลักดันการพัฒนาพลังงานทดแทนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ