กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ หมั่นตรวจสอบสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ดัดแปลงสภาพรถ หรือนำรถไปใช้งานผิดประเภท ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขี่รถด้วยความเร็วสูง สวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานทุกครั้ง ไม่ซ้อนท้ายเกิน ๒ คน หรือบรรทุกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป จะส่งผลต่อการทรงตัวและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนพบว่า รถจักรยานยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุสูง เนื่องจากสภาพรถทรงตัวได้ยากและปราศจากการหุ้มเกราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงไม่มีส่วนใดของรถที่ช่วยปกป้องร่างกายและป้องกันการบาดเจ็บ โดยเฉพาะหากขี่ด้วยความเร็วสูงจะเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำได้ง่าย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากการไม่สวมหมวกนิรภัย การนำรถไปใช้งานผิดประเภท การดัดแปลงสภาพรถ การใช้ความเร็วสูง เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้
ก่อนเดินทาง ควรศึกษาวิธีการขับขี่ การแก้ไขปัญหา เฉพาะหน้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างปลอดภัย ตรวจสอบสภาพรถจักรยานยนต์ให้พร้อมใช้งานอย่างปลอดภัย เติมลมยางให้มีค่าตามที่กำหนด โซ่รถไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป ระบบเบรก สัญญาณไฟใช้งานได้ดี ปรับกระจกมองหลังให้อยู่ในตำแหน่ง ที่มองเห็นทัศนวิสัยได้อย่างชัดเจน ไม่นำรถไปดัดแปลงสภาพหรือถอดอุปกรณ์ส่วนควบที่ติดมากับรถจักรยานยนต์ออก ไม่ปรับแต่งเครื่องยนต์ให้แรงขึ้น เนื่องจากรถที่มีเครื่องแรงจะวิ่งด้วยความเร็วสูง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
ขณะเดินทาง ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขี่รถย้อนศร ไม่ขี่รถในลักษณะผาดโผน ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ ไม่ขี่รถด้วยความเร็วสูง เพราะจะทำให้รถเสียการทรงตัวได้ง่ายแล้ว ยังส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยความเร็วที่ส่งผลให้รถจักรยานยนต์มีความปลอดภัยอยู่ที่ระดับไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากเป็นระดับที่หมวกนิรภัยสามารถรองรับแรงกระแทกได้กรณีเกิดอุบัติเหตุ เว้นระยะห่างจากรถคันอื่นในระยะที่เหมาะสม ไม่ขี่รถปาดหน้าหรือแซงรถคันอื่นในระยะกระชั้นชิด โดยเฉพาะรถขนาดใหญ่ เพราะอาจถูกแรงลมดูดไปใต้ท้องรถ ก่อนเปลี่ยนเส้นทางรถ หยุดหรือเลี้ยวรถ ควรให้สัญญาณไฟล่วงหน้าในระยะ ไม่ต่ำกว่า ๓๐ เมตร
ที่สำคัญ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ ควรสวมหมวกนิรภัยแบบเต็มใบที่มีขนาดพอดีกับศีรษะ มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมและคาดสายรัดคางให้แน่นทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางระยะใกล้หรือไกล เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บที่สมองเมื่อประสบอุบัติเหตุ ไม่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เกิน ๒ คน ไม่นำรถไปใช้งานผิดประเภทหรือบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเกินไป เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทรงตัวและการขับขี่รถ//