แพทย์และนักกำหนดอาหารเตือน!!! ระวังมฤตยูร้าย... “โรคหัวใจและหลอดเลือด”

ข่าวทั่วไป Friday January 29, 2010 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ ระวัง... โรคหัวใจและหลอดเลือดมฤตยูร้ายที่ทำให้เจ็บและตายกะทันหัน ส่วนใหญ่พบว่าชายวัยกลางคนเสียชีวิตกะทันหันเพราะโรคหัวใจพิบัติและอัมพาต หากรอดตายต้องมีการเยี่ยวยารักษาต่อเนื่อง เป็นภาระค่าใช้จ่ายของสังคม สำหรับประเทศไทยมีมากกว่าปีละ หนี่งแสนเจ็ดพันล้านบาท มารที่ผลาญชีวิตเรานี้ล้วนแต่ได้รับการเชื้อเชิญเข้ามาด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะการกินผิดหลักโภชนาการมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้เจ็บและตายเพราะรู้ไม่ทันโรคร้าย จากงานสัมมนา “รู้ทันมฤตยูร้าย โรคหัวใจและหลอดเลือด” ซึ่งจัดโดยโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ร่วมกับบริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็วๆ นี้ พญ.สวรรยา เดชอุดม ประธานฝ่ายวิชาการ มูลนิธิหัวใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า “ในอดีตคนไทยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยมาก แต่ในปัจจุบันสถิติเพิ่มขึ้นเกือบทัดเทียมทางตะวันตกที่ลดลงมากในระยะ 10 ปีหลังนี้ เนื่องจากมีการเลียนแบบในการบริโภคอาหารตามค่านิยมไม่เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพก่อนรับประทานเพราะไม่เห็นสำคัญ และไม่ทราบว่าเราสามารถเลือกอาหารที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตะกรันไขมันในหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะไขมันซึ่งความจริงแล้วมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ หากเลือกกินที่มีองค์ประกอบกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง อันจะช่วยลดปริมาณ LDL และเพิ่ม HDL ได้ เช่น น้ำมันเมล็ดชา และน้ำมันมะกอก ประกอบกับการใช้เครื่องผ่อนแรงทำให้การออกกำลังลดลง ทำให้มีพลังงานจากอาหารเหลืออยู่ซึ่งร่างกายก็จะเปลี่ยนเป็นไขมัน ดังนั้นหากรู้เท่าทันทั้งสาเหตุ และปัจจัยจะสามารถป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้” เหตุของโรคเกิดจากเซลของหัวใจ หรือสมอง ส่วนหนึ่งขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด ซึ่งอาจมีการตีบแคบจากตะกรันไขมันสะสมพอกพูนมาก่อนเป็นเวลานานสิบปี และมีอาการเตือนมาก่อน เช่น เจ็บหน้าอก หรือ อาจไม่มีการตีบแต่มีการอักเสบครุกรุ่นอยู่แล้วกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดได้ทันที ทำให้บางคนเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่มีอาการเตือนมาก่อน แต่เดิมเราเชื่อว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดทำนายได้ รักษาหาย ป้องกันไว้ได้ทันท่วงที สุขภาพหัวใจจะดีตลอดไป ด้วยสมมุติฐานนี้ เราสามารถเอาชนะโรคร้ายได้ร้อยละ 70 แต่มีชายอีกกว่าร้อยละ 20 ที่เสียชีวิตแบบกะทันหันได้แม้เวลาหลับ และส่วนใหญ่ของสตรีวัยหลังหมดประจำเดือนไม่เป็นไปตามสมมุติฐานแรก ทั้งจำนวนผู้ป่วยยังเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากลัวอีกด้วย อย่างไรก็ตามจากการศึกษาที่มีนามย่อว่า COURAGE พบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีความสำคัญสามารถต่ออายุให้ผู้ป่วยร่วมกับการรักษาแบบต่างๆ ได้มากถึง 4 เท่า สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรค ป้องกันได้ด้วยการเลิกพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค และเพิ่มพฤติกรรมที่เอื้อต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะการกินและการออกกำลังกาย ลดกินหวาน เค็ม และมัน หันมากินไขมันชนิดดี อย่าง น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันมะกอก ซึ่งมีองค์ประกอบกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง กินผักผลไม้ให้มากขึ้น และเคลื่อนไหวร่างกายให้บ่อยกว่าที่เคย หลักการป้องกันโรคสำหรับสตรีที่ไม่สามารถทำนายโรคได้ ยังคงใช้ได้ในปัจจุบันสำหรับทุกเพศทุกวัย ได้มีการเรียงร้อยให้จำง่ายเป็น ALOHA Heart Disease มี 5 ประการ คือ 1. A-Assessment ประเมินภาวะตนเอง ส่วนสูง น้ำหนัก วัดรอบเอว สอบประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดในครอบครัว ควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่บุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน 2. L-Life Style ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กินอาหารให้สมดุลกับพลังงานที่ใช้และครบ 5 หมู่ เน้นกินผักผลไม้ เลี่ยงหวาน มัน ลดสุรา งดสูบบุหรี่และหมั่นออกกำลังกาย รักษารูปร่างและน้ำหนักให้สมส่วน 3. O-Others Intervention ขบวนการรักษาอื่นๆ เมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ดูแลระดับไขมัน ควบคุมเบาหวาน และระดับน้ำตาล gxHo9ho 4. H-High risk of Heart Attack ถ้าเสี่ยงสูงต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อควบคุมและเลือกใช้ยาป้องกัน 5. A-Avoid หลีกเลี่ยงเมื่อไม่รู้จริงเช่น การใช้ฮอร์โมนชดเชยในวัยทอง การกินอาหาร หรือวิตามินเสริมที่ได้จากการสังเคราะห์เพื่อต้านออกซิเดชั่น เช่น carotene เป็นต้น ด้าน อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ให้การปรึกษาด้านโภชนบำบัด กล่าวว่า จากงานวิจัยของแพทย์โรคหัวใจพบว่าอาหารมีส่วนสำคัญมากในการทะลวงหลอดเลือด เพื่อช่วยยืดอายุผู้ป่วยโดยไม่ต้องรับการผ่าตัด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและเบาหวาน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยอาหารดีปริมาณสมดุลจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยง รวมถึงผู้รักสุขภาพ ซึ่งอาหารลดโรคหัวใจในแต่ละวันจะต้องครบ 5 หมู่ ประกอบด้วย ข้าว แป้ง เส้น ขนมปังและธัญพืชไม่ขัดสี 6-8 ทัพพี, น้ำมันที่มีกรดไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันคาโนล่าผสมน้ำมันทานตะวัน น้อยกว่าวันละ 6-8 ช้อนชา, เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือโปรตีนคุณภาพดีจากปลาและถั่วเมล็ดแห้ง 10-12ช้อนโต๊ะ, ไข่แดงไม่เกิน 2 ฟอง /สัปดาห์ (ไข่ขาวไม่จำกัด), ผักหลากสี 3-5 ทัพพี, ผลไม้ 4 อุ้งมือ, นมและ ผลิตภัณฑ์นมพร่องไขมันไม่เกิน 2 กล่อง ในขณะเดียวกันหมั่นเพิ่ม HDL ให้กับร่างกายด้วยการออกกำลังกายอย่างน้อยเดินให้มากขึ้น ขยับร่างกายแม้เวลาทำงานด้วยการยกแขน ยกขา นอกจากนี้เลือกอาหารที่เพิ่ม HDL ผสมในมื้ออาหาร เช่น ส้มสดหรือน้ำส้มคั้น, ผักผลไม้สีม่วง, ไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอกและน้ำมันเมล็ดชา, ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์, ธัญพืชไม่ขัดสี เป็นที่ทราบกันว่าไขมันมักเป็นผู้ร้ายแต่ก็ยังแฝงความดี จึงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง ทางออกที่ดีควรเลือกชนิดของไขมันที่มีกรดไขมันดีสูง ใช้น้ำมันให้เหมาะกับการปรุง โดยเลือกที่จุดเดือดเป็นควันสูงอย่างน้ำมันเมล็ดชา หรือน้ำมันคาโนล่าในการใช้ทอด เลี่ยงไขมันร้ายด้วยการอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง และใช้น้ำมันมากกว่า 1 ชนิดเพื่อเพิ่มความสมดุลของกรดไขมัน โดยนำมาผสมกันเองเมื่อประกอบอาหาร หรือใช้น้ำมันผสมตามท้องตลาดแบบ น้ำมันคาโนล่าผสมน้ำมันทานตะวัน แต่ไม่ว่าจะเป็นไขมันดีแค่ไหนก็ไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะไขมันทุกชนิดให้พลังงานสูง นอกจากกินดี ต้องออกกำลังกาย หมั่นตรวจสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอร์เกิน 1-2 ดริ๊ง/วัน เท่านี้ก็บอกลาโรคร้ายได้” อ.ศัลยา กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ