กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--My Brand Agency
คงไม่มีใครนึกถึงว่า กล่อง ยูเอชที จะสามารถนำมาผลิตแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ชั้นวางของ ฯลฯ ที่สวยงามและทนทานไม่แพ้วัสดุอื่น แต่กล่องขยะเหล่านี้ต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการผลิตต่าง ๆ จนกระทั่งกลายเป็นแผ่นชิปบอร์ดถึงจะนำมาผลิตเป็นชิ้นงานจริงและจำเป็นต้องอาศัยมันสมองสร้างสรรค์ชิ้นงานจึงจะสำเร็จออกมาได้ ซึ่งทั้ง 20 ผลงานระดับหัวกะทิของนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบ จากสามร้อยกว่าผลงานที่ส่งเข้ามาในโครงการประกวดออกแบบ “กล่องวิเศษ Magic Box Idea Contest” จัดโดย บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด และ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ เส้นทางหนึ่งที่ทำให้นักศึกษามีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรมดี ๆ เพื่อสังคม อีกทั้งมีโอกาสได้เข้าร่วมเวิร์คชอปกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างอำพลฟูดส์ฯ อีกด้วย
ท่ามกลางความล้ำหน้าของเทคโนโลยีที่เรียกว่า คอมพิวเตอร์ โลกแห่งการสร้างสรรค์ได้เปิดทางให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งนำเครื่องมือที่ทันสมัยนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม โดยการออกแบบชิ้นงานที่ทำจากวัสดุเหลือใช้เพื่อให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริง การเข้าร่วมเวิร์คชอปเป็นสิ่งสำคัญเพราะได้เรียนรู้กระบวนการผลิตจริง นำมาซึ่งการแก้ไขปรับปรุงผลงานให้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น สวยงาม แข็งแรงทนทาน และสิ่งสำคัญคือไม่เป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อม...โจทย์ข้อใหญ่ที่นักศึกษาต้องทำให้ดีที่สุด
เช่นเดียวกับแนวคิดของนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยที่ส่งผลงานเข้าประกวด ที่ต่างมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และร่วมกันสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลกที่พร้อมร่วมกัน “เสก” กล่องวิเศษผลงานของพวกเขาให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ลดโลกร้อนมอบเป็นของขวัญเพื่อสังคมโดยไม่เกิดขยะเพิ่มขึ้นมา
น้องอุทัย วิมลศรีสุภาพ หรือ บอล นักศึกษาจากสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความคิดเห็นที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “การได้รู้จักกับโครงการดีๆ อย่างโครงการที่ผลิตวัสดุเพื่อช่วยอนุรักษ์โลกอย่าง ชิปบอร์ด โดยนำเอาเศษกล่องนมที่ไม่ได้ใช้งานเเล้วมารีไซเคิลเพื่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับน้องๆ นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ถือว่าเป็นโครงการที่สร้างสรรค์ในสิ่งที่มีคุณค่า สำหรับผลงานของตนเอง ใช้ชื่อว่า “ที-แชร์ (T-share)” เป็นการออกเเบบเป็นเฟอร์นิเจอร์โต๊ะ ที่มีเก้าอี้รวมอยู่ด้วยกัน สาเหตุที่ตั้งชื่อว่า “ที (T)” ได้มาจากรูปร่างของโต๊ะเรียนที่มีรูปร่างคล้ายตัวที เเละมีส่วนที่เป็นเก้าอี้สอดไว้ภายในช่องตัวที ซึ่งมีข้อดีในเรื่องการสร้างพื้นที่ที่แปลกใหม่ สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลาย โดยใช้เเนวคิดด้านการสร้างยูนิตย่อยๆ ของเฟอร์นิเจอร์ตัวที เเละการนำเก้าอี้ที่มีอยู่ภายในโครงสร้างของโต๊ะมาใช้สร้างต่อ ประกอบกันให้เกิดเป็นเฟอร์นิเจอร์อื่นได้หลากหลาย ตามเเต่ละการดีไซน์ เช่น การนำโต๊ะตัวทีมาวางเรียงให้เป็นชั้นวางของ วางหนังสือ เป็นต้น หรือสร้างเป็นพื้นที่ใช้สอยที่เเปลกใหม่ได้หลากหลายให้เหมาะสมกับการเรียนของเด็กในปัจจุบัน คือการให้เด็กเป็นศูนย์กลาง (child center) ที่มีครูเป็นผู้ควบคุม ไม่ใช่แค่การนั่งเรียนอยู่กับโต๊ะเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีข้อดีในเรื่องการประหยัดพื้นที่ด้วย”
เยาวชนรุ่นใหม่อย่าง บอล ยังได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของภาวะโลกร้อนอีกว่า “ในปัจจุบันเราทุกคนจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า โลกของเราเปลี่ยนเเปลงไปอย่างมาก จะร้อนก็ไม่ร้อน จะหนาวก็ไม่หนาว ปัญหาภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย สื่อที่เราเห็นได้ชัดเจนเเละใกล้ตัวเราอย่างมาก เช่น ภาพยนตร์เรื่อง 2012 เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราได้เห็นถึงผลเสียที่มันอาจจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตได้ ถึงเวลาที่เราจะต้องช่วยโลกของเราเเล้ว สิ่งที่เราทำได้ใกล้ตัวที่สุดก็คือการใช้สิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดประสิทธิภาพในตัวมันเองให้มากที่สุด ทั้งการใช้ซ้ำ ลดการใช้ หรือการใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล การเเยกขยะรีไซเคิล เข้า พยายามไม่ใช้ถุงพลาสติก เเค่ทำกันคนละเล็กละน้อยก็รวมกันให้เกิดผลดีที่ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งผลดีต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้ทำเพื่อใคร เเต่เพื่อตัวพวกเราเองทุกๆคน”
ด้าน น้องชัยมงคล โล่สุวรรณรักษ์ (เอ็ม) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาบริหารบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงประโยชน์ของโครงการนี้ว่า “โครงการกล่องวิเศษเป็นโครงการที่ต้องการนำวัสดุที่ใช้แล้วและอาจเป็นขยะต่อสิ่งแวดล้อม นำมารีไซเคิลให้สามารถนำมาใช้ได้ในหลายรูปแบบ เป็นกระบวนการที่สามารถลด และกำจัดขยะให้กับสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่นการเผาทำลาย ทำให้เรารู้ว่ามีวิธีที่จะลดจำนวนขยะที่ต้องนำไปเผาทำลายได้อีกหนึ่งวิธี ซึ่งผมรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในการที่จะช่วยสร้างผลงานที่จะนำไปใช้ลดปัญหามลภาวะในปัจจุบันได้อีกทางหนึ่งและได้เป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่ที่จะหันมาเลือกใช้และเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รู้จักกับวัสดุทางเลือกนี้ในการประโยชน์ต่อไป อยากให้กิจกรรมนี้จัดขึ้นเรื่อยๆเพื่อที่จะสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและได้เห็นความคิดในการพัฒนาผลงานของเด็กไทย จากรุ่นสู่รุ่น อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับแนวคิดของเอ็ม ได้นำชิปบอร์ดมาสร้างเป็นชั้นวางของกึ่งผนังกั้น (Partition) แม้ว่าไม่ได้เรียนด้านการออกแบบมาโดยตรง แต่ด้วยใจรักและมีแนวคิดด้านศิลป์บวกกับแรงสนับสนุนของกลุ่มเพื่อนที่คอยให้คำแนะนำทำให้วัสดุ เช่น ชิปบอร์ด และพลาสติกรีไซเคิล สร้างขึ้นมาเป็นชั้นวางของที่ใช้งานได้จริงและมีแนวคิดที่เก๋ไก๋พร้อมแปรรูปเป็นผนังกั้นได้อีกด้วย โดยเอ็มกล่าวว่า “ผลงานชิ้นนี้ได้แนวคิดมาจากฝาไหล และฝาสำหรวด ของบ้านทรงไทยที่สามารถเปิดปิดบังลมได้ตามความต้องการ เป็นการนำเอาภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์ให้เกิดเป็นชั้นวางของที่ใช้งานได้หลากหลายสามารถเป็นได้ทั้งผนังกั้นและที่เก็บของได้ ทั้งยังสามารถเปิด-ปิดได้ (เหมือนประตูบานเลื่อน และฝาสำหรวด) ทำหน้าที่ เหมือนกับลิ้นหัวใจที่เปิด-ปิดคอยรับเลือดเข้า-ออกหัวใจ หากว่าห้องคือหัวใจ และลมคือเลือด ผนังกั้นนี้ก็เปรียบได้เป็นลิ้นให้กับห้องนั่นเอง แม้ว่าเราปิดผนังนี้ ก็ไม่ทำให้ห้องทึบตัน เพราะเราได้ออกแบบให้มีช่องเปิดไว้ในบางช่อง เพื่อการระบายอากาศ และลดทอนความทึบ นอกจากนี้ยังเพิ่มลูกเล่นในเรื่องของแสง เพื่อความสวยงามและการใช้งานในเวลากลางคืนอีกด้วย”
สำหรับน้องภาณุพงศ์ หวาดเชาว์ดี (ป๋อม) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงโครงการกล่องวิเศษว่า เป็นโครงการที่สนับสนุนให้คนหันมาสนใจในการช่วยลดจำนวนขยะโดยการให้ส่งกล่องเปล่ามาที่บริษัทอำพลฟูดส์ จำกัดและนำไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ นอกจากได้ช่วยเหลือสังคมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีได้อีกด้วย “หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ากล่องนมที่ดูไร้ค่าจะสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าได้ ผลงานของผมชื่อ Cabiiverse เป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำว่า “หลากหลาย” หลากหลายการใช้งาน หลากหลายเส้นสายและรูปแบบ ซึ่งผมก็ได้เล่นกับคำว่าหลากหลายที่ว่า ดีไซน์ออกมาเป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ชุดนี้นั่นเอง โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ 3 รูปแบบ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ตู้ใส่ของ 2.ตู้โชว์ และ 3.ชุดโต๊ะและเก้าอี้ ในส่วนของฟังก์ชันแรกที่เป็นตู้ใส่ของ จะมีลิ้นชักทั้งหมด 4 ลิ้นชักให้เก็บของ และช่องสำหรับวางของทั้งด้านบนและด้านล่างของตู้ ส่วนฟังก์ชันที่สองที่เป็นตู้โชว์จะทำได้ถึง 2 ตู้ ซึ่งขั้นตอนการใช้งานให้นำลิ้นชักออก และลิ้นชักนั้นจะสามารถนำประกอบกันขึ้นเป็นตู้ได้อีกหนึ่งตู้โดยใช้ระบบการยึดด้วยเดือยไม้ ส่วนอีกตู้คือตู้ก่อนหน้านี้ที่ถอดลิ้นชักออกมาจะเป็นเส้นสายสลับกันไปมา สาเหตุที่ไม่มีผนังด้านหลังเพราะผมต้องการให้เป็นตู้โชว์ของที่สามารถวางไว้ส่วนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องวางชิดติดผนัง สามารถมองได้หลายทิศทาง ฟังก์ชันสุดท้ายคือชุดโต๊ะและเก้าอี้ เมื่อนำตู้มาถอดประกอบก็จะได้มาเป็นโต๊ะจำนวน 2 ตัว และเก้าอี้จำนวน 4 ตัว ซึ่งเก้าอี้นั้นจะได้มาจากลิ้นชักซึ่งได้ทำคานกลางไว้เพื่อให้มีหน้าที่ในการรองรับน้ำหนักในการนั่งนั่นเอง”
เจ้าของผลงานแต่ละชิ้นล้วนเป็นเด็กหนุ่มสาว กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไฟแรง ไม่เพียงแต่มีแนวคิดที่ดีในการนำเสนอเท่านั้น ความสำเร็จของงานยังเปรียบได้กับช่างฝีมือที่บรรจงสร้างขึ้นมาอย่างมืออาชีพแบบไม่น้อยหน้ากัน นอกจากดีไซน์ ความเก๋ไก๋ของรูปลักษณ์ และคุณลักษณะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงแล้ว ผลงานไอเดียบรรเจิดเหล่านี้ยังเป็นดั่งเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งเลือกหนึ่งด้วย
ใครจะรู้ว่ากูรูและนักออกแบบมืออาชีพในปัจจุบันต่างก็ผ่านสนามและเวทีเช่นนี้มาด้วยกันทั้งนั้น คงไม่แปลกที่ในอีกไม่กี่ปีจะมีนักออกแบบที่มาจากน้องๆ ทั้ง 20 คนนี้ และเส้นทางแห่งการดีไซน์ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ถือเป็นเรื่องต้องคอยติดตามกันต่อไป ร่วมเชียร์และให้กำลังใจกับน้องๆ พร้อมส่งคะแนนโหวตผลงานที่ชื่นชอบ มาได้ที www.ampolfood.com/csr ไอเดียไหนได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจะได้รับรางวัล popular vote ไปครอง เข้าไปดูผลงานโมเดลได้ตั้งแต่วันที่ 26 มค. ถึง 20 กพ. นี้