กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
เรื่องของกังหันลม ถ้าเป็นเมื่อก่อน สำหรับประเทศไทย อาจจะมีสถานะเพียงแค่ ของสวยงามเอาไว้ประดับบ้าน ประดับสถานที่ให้รู้สึกตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจเท่านั้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป บ้านเมืองเริ่มมีความขัดแย้งกันเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรหนักขึ้นเรื่อยๆ โครงการผลิตพลังงานทั้งของภาครัฐและเอกชนสร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม ชุมชน รวมไปถึงกระทบกับวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมแบบที่เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย
หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องหันไปศึกษาเรื่องพลังงานทางเลือก หรือการสร้างพลังงานจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องของพลังงานจากสายลมที่พัดผ่านไปมา ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่น่าจับตามองมากที่สุดในเวลานี้
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ทำแผนที่ศักยภาพพลังงานลมของประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดผ่านไทยจากทะเลจีนใต้ ในเดือนพฤศจิกายน ถึงปลายเดือนมีนาคม ทำให้มีคลื่นลมแรง ทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ทิศทางของลมพัดจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง ทำให้พื้นที่บริเวณชายฝั่ง เริ่มตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี มีกำลังแรงลมเฉลี่ยประมาณ 6.4 เมตร ต่อวินาที ส่วนอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านประเทศไทยจากอันดามันใน เดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม ทำให้เทือกเขาใน จ.เพชรบุรี กาญจนบุรี และตาก ที่เป็นรอยต่อกับประเทศพม่า มีกำลังลมแรงบนยอดเขา มีความเร็วลมเฉลี่ย 5.6 เมตร ต่อวินาที นอกจากนั้นในบริเวณพื้นที่สูง ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ มีความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 5.1 เมตร ต่อวินาที
แหล่งที่มีศักยภาพพลังงานลมรองลงมาพบว่า อยู่บริเวณพื้นที่อ่าวไทย จ.ชลบุรี ระยอง เพชรบุรี ชุมพร สุราษธานี นครศรีธรรมราช พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.สตูล ตรัง กระบี่ ภูเก็ต พังงา และบริเวณที่สูงบางพื้นที่บนยอดเขาในภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.เพชรบูรณ์ และเลย มีความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 4.4 เมตร ต่อวินาที
มีการวิเคราะห์เบื้องต้นสำหรับเรื่องพื้นที่ และความเหมาะสมสำหรับการใช้ประจากพลังงานลม พบว่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดชายทะเล เพราะได้รับทั้งลมบก ลมทะเล และลมประจำฤดู
พื้นที่ บริเวณแนวชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ตามแนวถนนทางหลวง 4031 และ 408 นับแต่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ถึง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร พื้นที่กว้างประมาณ 2 กิโลเมตร หรือ 280 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นที่ราบชายฝั่ง ถนนลาดยางตลอดทั้งสาย ซึ่งได้รับลมเป็นระยะยาวนานในหนึ่งปี ทั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเร็วลม 4.5-5.0 เมตร ต่อวินาที
พื้นที่ ในบริเวณ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราชได้ทำโครงการสาธิตผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ และ 250 กิโลวัตต์ ในพ.ศ. 2549-2550 และที่บริเวณ จ.สงขลาได้ทำโครงการศึกษาศักยภาพพลังงานลมเฉพาะแหล่ง ผลการศึกษาพบว่า บริเวณเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ มีศักยภาพในการพัฒนาติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าในรูปแบบทุ่งกังหันลมได้ประมาณ 5-10 เมกกะวัตต์ ซึ่งสามารถนำไปส่งเสริมการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานลมได้ในอนาคต
นายศุกิจ นันทะวรการ นักวิจัยพลังงานและอุตสาหกรรม มูลนิธินโยบายและสุขภาวะ กล่าวว่า เวลานี้มีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานของประเทศเริ่มทำโครงการ สร้างพลังงานจากพลังงานลมแล้ว เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าไปสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ 2 ตัวเสาสูง ตัวละประมาณ 40 เมตร แต่ละตัวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1.5 เมกะวัตต์ ที่บริเวณเขายายเที่ยง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และมีโครงการจะสร้างเพิ่มอีก 12 ตัว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้ จ.นครราชสีมา ที่สำคัญคือ มีภาคเอกชนอีกหลายแห่งสนใจที่จะเข้ามาทำเรื่องนี้ จากการศึกษาเราพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมทั่วประเทศประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง
“ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่เราจะหันไปพึ่งพาพลังงานทางเลือกจากพลังงานลม เข้ามาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแทนการสร้างเขื่อน หรือการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบ แม้จะไม่สามารถแทนพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นทางเลือกที่จะลดการสร้างมลพิษเพิ่ม และลดการทำลายทรัพยากร เช่น การสร้างเขื่อน เราจะต้องตัดต้นไม้ และใช้พื้นที่จำนวนมหาศาล แต่การสร้างกังหันลม แค่เอาเสาไปปักในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เสร็จแล้วปล่อยให้ระบบทำงาน เท่านั้น” นายศุภกิจ กล่าว
ถึงกระนั้นก็ใช่ว่า จะไม่มีปัญหาเลยสำหรับการใช้กังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยก่อนหน้านี้มีรายงานจากพื้นที่ทดลองติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่บางปู ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ที่มีนกนางนวลจำนวลมาก พื้นที่ดังกล่าว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้นำกังหันลมขนาด 5 กิโลวัตต์ จำนวน 9 ตัว เข้าไปติดตั้ง พบปัญหาคือ เมื่อนกนางนวลบริเวณดังกล่าวมีอาการแตกตื่น เพราะมีเรือเข้าฝั่ง พวกมันจะบินชนใบพัดกังหัน ตกลงมาตาย ซึ่งปัญหานกบินเข้าไปในพัดกังหันลมนี้เกิดขึ้นทุกประเทศที่ใช้กังหันลม มีการทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยการ พยายามทำให้สีของใบพัดตัวกังหันเข้มเข้าไว้ เพื่อว่าเมื่อนกเห็นเข้าพวกมันจะบินหลบแทนที่จะบินชน
ในประเทศไทยนั้น ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ พื้นที่ที่มีศักยภาพลมส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสิ้นการเข้าไปใช้จึงค่อนข้างยาก
นายศุภกิจ กล่าวว่า ก่อนจะเป็นกังหันลม 1 ตัว ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ (ขนาดเล็ก สูงประมาณ 15 เมตร ขนาดใหญ่ประมาณ 100 เมตรขึ้นไป) ระหว่างการก่อสร้างอาจจะสร้างความเสียหายให้พื้นที่รอบๆทั้งสิ้น ยิ่งขนาดใหญ่มาก ยิ่งเสียหายมาก เพราะต้องใช้รถเครนขนอุปกรณ์การก่อสร้างเข้าไปทำงาน เพื่อปักตัวเสาของกังหันลงไปในพื้นที่ แต่ความเสียหายดังกล่าวถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับการสร้างเขื่อน หรือโรงไฟฟ้า
“เวลานี้เรากำลังจะหาทางออกร่วมกันอยู่ว่า ในเมื่อพื้นที่ที่มีศักยภาพลมนั้น เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์อะไรได้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องขนอุปกรณ์เข้าไปทำงาน ยิ่งเป็นปัญหาหนัก ถือเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับเรื่องนี้ แต่ผมคิว่าน่าจะมีทางออกที่ดีได้ หากทำให้โครงการเป็นความร่วมมือระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าของพื้นที่ ซึ่งก็คือ กรมอุทยานแห่งชาติ หรือกรมป่าไม้ และหน่วยงานเจ้าของโครงการ ให้มานั่งคุยกัน หาทางออกร่วมกันสำหรับจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการ ผมมั่นใจว่า หากเราได้คุยกันมากๆอเราจะเข้าใจกัน และทำงานร่วมกันได้ ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับก็จะตกอยู่ที่ชุมชน และคนในพื้นที่นั่นเอง” นายศุภกิจ กล่าว
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พูดถึงเรื่องนี้ว่า เคยได้รับรายงานเช่นกันว่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพลมที่สามารถเป็นแหล่ง พลังงานแห่งใหม่ของประเทศไทย เท่าที่ได้ดูแผนที่ศักยภาพลม หรือวินด์ แมป ก็เห็นจริงตามนั้น ยอมรับว่า การขอเข้าใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้นค่อนข้างหยุมหยิมและยุ่งยากมาก
“อย่าว่าแต่เข้าไปสร้างกังหันลมเลย ที่ผ่านมาการไฟฟ้าทั้งฝ่ายผลิต และส่วนภูมิภาคจะขอเข้ามาปักเสาไฟเพื่อเดินกระแสไฟฟ้าก็ยังไม่สามารถทำได้ ยังมีปัญหาอีกหลายแห่ง แต่เรื่องนี้ผมก็เข้าใจว่าสำคัญ และเป็นเรื่องดี หากเราจะสร้างแหล่งพลังงานได้โดยสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และพลังงานลมก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง” นายจตุพร กล่าว
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ บอกด้วยว่า วิธีการหนึ่งสำหรับการเข้าไปใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์คือ การกันพื้นที่อนุรักษ์นั้นออกมาก่อน ซึ่งยอมรับว่าทำไม่ง่ายนัก แต่หากมีความจำเป็นมากก็สามารถทำได้ เพราะเชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานส่วนนี้อยู่แล้ว
ถือเป็นความหวังที่เราสามารถหวังกันได้ว่าในอนาคต เราจะมีพลังงานสะอาด อย่างพลังงานลมมาใช้อย่างจริงจัง ขั้นตอนการดำเนินการอาจจะมีอุปสรรคขวากหนามบ้าง แต่หากทุกฝ่ายพร้อมใจร่วมมือกันทำ เชื่อว่าในที่สุดเราก็จะผ่านอุปสรรคนั้นไปได้