กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับ งานสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดเพชรบุรี ในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2553 โดยได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2553 : การฟื้นตัวบนความท้าทาย” ดังนี้
วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศไทยให้แกร่งขึ้น โดยจากประสบการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งมีต้นตอมาจากการกู้หนี้ยืมสินที่เกินตัว ทำให้คนไทยมีวินัย ในการกู้ยืมมากขึ้น รวมถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปลายปี 2551 ซึ่งส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ลดน้อยลง ได้ทำให้ไทยได้มีการกระจายความเสี่ยงโดยการหาตลาดการส่งออกใหม่ อาทิ จีน ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเวียดนาม
จากภูมิคุ้มกันที่แกร่งขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวถึงร้อยละ 3.6 ต่อปี จากในเดือนธันวาคม 2552 ที่การส่งออกขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปี และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวถึง 1.6 ล้านคน ส่งผลให้ทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวเพียงร้อยละ -2.8 ต่อปี และในปี 2553 คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลด หรือเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่าง ๆ ผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (อาฟต้า) ที่ทำให้การแข่งขันในภูมิภาคมีความเข้มข้นมากขึ้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงิน
และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มากขึ้น ทั้งนี้ นายสาธิตฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับตัวของภาคเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตไทย และการบริหารจัดการความเสี่ยง ทางการเงิน
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจปีเสือ ฟื้นจริงหรือ?” ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มุมมอง เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น แต่การฟื้นตัวดังกล่าวยังอยู่บนพื้นฐาน ที่เปราะบางจากภาคแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังไม่ดีขึ้น กอปรกับความอ่อนแอของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่จะเป็นข้อจำกัดในการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้มีสภาพคล่องที่สูง อันนำไปสู่ความผันผวนของตลาดเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงที่ผ่านมา
ในขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นจริง โดยในปี 2553 มีปัจจัยบวก ได้แก่ 1) ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นส่งผลดีต่อ การบริโภคภาคเอกชน 2) ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและ การส่งออก และ 3) การเมืองและกฎหมายที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคของไทย ซึ่งจะช่วยทำให้การฟื้นตัวของไทยกระจายไปอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลในสถานการณ์ การเมืองไทย และการฟื้นตัวของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
สำหรับ นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ย้ำถึงความสำคัญในการปรับกลยุทธ์ของการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีการค้าที่มากขึ้น การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย เป็นต้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ความมีมาตรฐานสากล ความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืน โดยได้เสนอยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ และรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเสนอแนวทางในการพัฒนากลุ่มธุรกิจหลัก อาทิ กลุ่มธุรกิจเกษตร ประมง และอาหาร กลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพ และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้ นายฉัตรชัยฯ ได้วิเคราะห์ว่า จังหวัดเพชรบุรีมีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจผลิตและแปรรูปสินค้าประมง
ส่วน นางสุนิสา อับดุลนิเลาะ คลังจังหวัดเพชรบุรี ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจจังหวัดเพชรบุรีว่ามีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สมดุล กล่าวคือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน อันเป็นส่วนช่วยในการรองรับความเสี่ยงหากภาคส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหา
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจังหวัดเพชรบุรีมีทิศทางการฟื้นตัวที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม และได้รับอานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 16.9 ต่อปี เป็นหลัก