กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
สภากทม. หวั่นโครงการก่อสร้างทางลอดจรัญสนิทวงศ์-พรานนก ส่งผลกระทบต่อประชาชน กระทุ้งผู้บริหารทบทวนโครงการ พร้อมตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบโครงการก่อสร้าง ด้าน ส.ก.เขตบางกอกน้อย แจงเหตุพบว่าไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์อย่างแท้จริง
ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2553 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในที่ประชุม นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ได้ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้กรุงเทพมหานครชะลอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด ถนนจรัญสนิทวงศ์-พรานนก และขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบโครงการก่อสร้างดังกล่าวอย่างรอบคอบ เนื่องจากพบว่าโครงการก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์อย่างแท้จริง เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวนั้นมีจุดตัดหลายแห่ง ประกอบกับมีเส้นทางรถไฟสายธนบุรีตัดผ่านทำให้รถเกิดการชะลอตัว และในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค การขนส่งเพิ่มขึ้น เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถนนตัดใหม่ จากถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนตัดใหม่เลียบทางรถไฟ ถนนพรานนก-สะพานพระราม 8 หากกทม.ต้องการทำอุโมงค์เท่ากับว่าเป็นการลดช่องทางการจราจร และไม่สามารถรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้ ทั้งนี้จากการศึกษากรุงเทพมหานคร ควรมีนโยบายก่อสร้างทางยกระดับ ซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่า เพราะเป็นการเพิ่มช่องทางการจราจร อีกทั้งทางยกระดับดังกล่าวยังสอดคล้องกับเส้นทางยกระดับลอยฟ้าที่เชื่อมเส้นทางไปถึงสะพานพระราม 8 อีกด้วย
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวเพิ่มว่า ประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ระบุถึงสาเหตุหากมีการก่อสร้างทางลอดแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ได้ อีกทั้งจะเกิดอุปสรรคกับถนนตัดใหม่เลียบทางรถไฟ รางรถไฟสายธนบุรี สี่แยกบางขุนนนท์ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดขึ้น-ลงทางลอดประมาณ 100-200 เมตร นอกจากนี้เมื่อสร้างทางลอดจะทำให้ช่องทางจราจรลดจาก 6 ช่อง เหลือเพียง 2 ช่องทางเท่านั้นซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบกับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าที่ตั้งแผงค้าขายของริมทางเท้า
สำหรับโครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์ กับถนนพรานนก มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทางลอดสำหรับ รถยนต์ขนาด 3 ช่องจราจร โดยกำหนดโครงสร้างความกว้าง ประมาณ 12 เมตร ความยาวทั้งโครงการ 1,250 เมตร ซึ่งโครงการก่อสร้างประกอบด้วย ระบบระบายน้ำ ป้ายและเครื่องหมายจราจร ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 820 วัน
ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบในญัตติดังกล่าว และแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบ จำนวน 29 คน โดยไม่กำหนดระยะเวลาในการพิจารณา