กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การประชุมวิชาการแห่งชาติด้านสูงวัยและผู้สูงอายุ ครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 ณ อาคาร อปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นความร่วมมือระหว่าง สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในการระดมนักวิชาการ ผู้รู้และผู้สนใจทางด้านผู้สูงวัยจากสาขาสุขภาพการแพทย์ และสาขาสังคมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เพื่อบรูณาการณ์ศาสตร์ต่าง ๆ ในการสร้าง “สังคมสูงวัยเปี่ยมสุข ด้วยวิถีสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” เนื้อหาในการประชุมในครั้งที่ 2 นี้ ได้ขยายขอบข่ายให้กว้างไกลเกินกว่ามิติทางด้านสุขภาพและการแพทย์ เป็นการมองผลกระทบของสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสภาวะแวดล้อมต่อสุขภาพและสังคมของผู้สูงวัย รวมทั้งการหามาตรการร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของผู้สูงวัยอย่างรอบด้าน
สำหรับทางด้านสุขภาพ มีเนื้อหาที่เพิ่มเติมไปจากหัวข้อในการจัดประชุมวิชาการแห่งชาติด้านสูงวัยฯ ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2550 ตัวอย่างเช่น สุขภาพทางเพศในผู้สูงวัย โรคภูมิแพ้และการแปรเปลี่ยนของผิวหนัง ปัญหาเวียนหัว บ้านหมุนที่พบได้บ่อยขึ้นตามวัย การนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ โรคไวรัสและการฉีดวัคซีนป้องกัน วิศวกรรมด้านสุขภาพและเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิด การประเมินระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
ในส่วนของเนื้อหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการจัดประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยเรื่อง เสถียรภาพทางการเงินของผู้สูงวัย สถาปัตยกรรมของบ้านและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและการสื่อสารร่วมสมัย จิตวิญญาณของผู้สูงวัย ภูมิปัญญาชาวบ้านกับสังคมสูงวัย เทคโนโลยีการสร้างอนาคตภาพของผู้สูงวัย ภาวะโรคร้อนกับสังคมสูงวัย ผลกระทบของทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์ รูปแบบของสถานดูแลผู้สูงวัยในทศวรรษหน้า การตลาดกับวิถีชีวิตผู้สูงวัย เมืองเล็กน่าอยู่ของผู้สูงวัย สังคมในอนาคตที่เยาวชนอยากเห็น ผู้สูงวัยนานาชาติ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในวันแรก ยังมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการณ์พร้อมกัน 7 เรื่อง ได้แก่ เทคโนโลยีตรวจวิเคราะห์การเคลื่อนไหวในผู้สูงวัย เคล็ดลับชะลอความชรา การแพทย์แผนไทยกับผู้สูงวัย การออกกำลังกายในผู้สูงวัย การฝึกจิตและกายให้เข้มแข็งด้วยชี่กง โยคะในผู้สูงวัย และ สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมสามารถจองการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ได้ล่วงหน้า
ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของการจัดประชุมวิชาการแห่งชาติด้านสูงวัยและผู้สูงอายุ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2553 เพื่อเป็นการระดมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผู้สูงวัย เพื่อมองและคาดการณ์ปัญหาที่ปรากฏขึ้นแล้วในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเตรียมการณ์รองรับในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไข เพื่อให้ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดี นำไปสู่ สังคมผู้สูงวัยเปี่ยมสุข อย่างยั่งยืน
ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักวิชาการในสาขาวิชาการต่างๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับด้านผู้สูงวัยและผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้สนใจทุกท่าน
มีอัตราค่าลงทะเบียน ท่านละ 3,500 บาท
ติดต่อที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เบอร์โทรศัพท์ 02-256-4455 หรือ 02-256-4493
หรือที่ website; http://aging.md.chula.ac.th