ทีวีไกด์รายการ "ไทยโชว์" ตอน “ลิเกปากน้ำโพ-ไพศาล เพียรศิลป์”

ข่าวบันเทิง Monday February 1, 2010 11:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--พีอาร์ 360 องศา ปากน้ำโพถือเป็นแหล่งศูนย์รวมศิลปะการแสดงที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเชิดสิงโต เชิดมังกรที่เลื่องชื่อระดับเอเซีย และลิเกก็เป็นอีกหนึ่งการแสดงที่ได้รับความนิยม โต้โผหรือหัวหน้าคณะลิเกมาตั้งหลักปักฐานรับงานการแสดงที่ปากน้ำโพ ในปัจจุบันมีเกือบถึง 200 คณะ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวมคณะลิเกที่มีจำนวนมากที่สุดในเมืองไทยครับ คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวนำอย่างภูมิใจแทนลิเกปากน้ำโพ และขยายความต่อว่า “ถ้าถามคนดูแถว นครสวรรค์และบริเวณจังหวัดใกล้เคียง ว่าลิเกปากน้ำโพคณะแรกที่นึกถึงคือคณะอะไร คำตอบที่ได้คือ “ลิเกคณะไพศาล เพียรศิลป์” ซึ่งเมื่อทีมงานไทยโชว์ได้เดินทางมารู้จักพูดคุยกับศิลปิน ได้สัมผัสวิถีชีวิตและการแสดงก็ต้องยอมรับครับว่า เป็นเช่นนั้นจริง” “ผมได้พูดคุยกับโต้โผใหญ่และผู้ก่อตั้งลิเกคณะนี้ นั่นคือ ครูไพศาล เข็มกลัด หรือรู้จักกันในชื่อการแสดงว่า ไพศาล เพียรศิลป์ อดีตพระเอกลิเกชื่อดังแห่งปากน้ำโพ ประธานไหว้ครูลิเกแห่งปากน้ำโพวัยเจ็ดสิบกว่า ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า และไม่เจ้าชู้ ปัจจุบันไม่ได้ขึ้นเวทีแสดงลิเก แต่ทำหน้าที่รับงานและควบคุมดูแลการแสดง โดยแบ่งคณะฯเป็นสองสาย สายแรกให้ลูกสาว คุณสมรัก เข็มกลัด ดูแล ส่วนตนเองดูแลสายที่สอง ซึ่งมีงานทุกวันตลอดปี ...ครูไพศาลเป็นนักสร้างสรรค์ สอดแทรกลูกเล่นให้ลิเกร่วมยุคถูกใจคนดูอยู่เสมอ เป็นผู้เริ่มต้นเวทีแบบถอดประกอบพร้อมติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว ...เวทีลิเกสองชั้นที่ขนเอาวงดนตรีปี่พาทย์ไปไว้ตรงกลาง..และที่เป็นเอกลักษณ์ของคณะนี้เลยก็คือก่อนการแสดงออกแขก ศิลปินจะพร้อมใจกันเดินอัญเชิญ ธงชาติ พระพุทธรูปและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อให้ปลุกใจให้คนดูเกิดความรักหวงแหนสถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้พอถึงช่วงการแสดงครูไพศาล จะรักษาเนื้อแท้รูปแบบลิเกไว้ได้อย่างครบถ้วน” คมสันต์ สุทนต์ เล่าให้ฟังต่อว่า “ดูเหมือนเป็นลิเกคณะเดียวที่โต้โผไม่สนับสนุนให้มีระบบอุปถัมภ์ที่เรียกว่า พ่อยกแม่ยก เพราะมองว่าเป็นจะเป็นบุญคุณกันไม่จบสิ้น หรืออาจสร้างความลำบากใจ ความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของพ่อยกแม่ยกและศิลปินได้” ...“คุณสมรัก เข็มกลัด โต้โผลิเกคณะนี้ ถือว่าเป็นทายาทโดยตรงที่เข้ามาสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อ ได้นำเอาความรู้ด้านรัฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาปกครองลูกน้องด้วยความเป็นธรรม คือทุกคนทำงานเท่ากันต้องช่วยยกแบกหามเครื่องแต่งตัวเครื่องใช้ไม้สอย ใครมีความสามารถในการแสดงก็จะได้เลื่อนเป็นนางเอกพระเอก ตัวเด่นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลานอย่างเดียว รวมถึงรูปแบบการแสดงก็ปรึกษาพ่อไพศาลขอเพิ่ม มินิคอนเสิร์ตก่อนแสดงลิเกเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่” “ผมและทีมงานไทยโชว์ได้ติดตามไปกับลิเกไพศาล เพียรศิลป์ 1 สายแรก ดูบรรยากาศการแสดงจริงๆ ที่งานประจำปีไหว้พระ วัดสว่างอารมณ์ อุทัยธานี ได้พูดคุยกับบรรดาพี่ป้าน้าอา และวัยรุ่นคนหนุ่มสาวถึงลิเกที่ พวกเขาชื่นชอบและความเปลี่ยนแปลงของลิเกในปัจจุบัน.. ที่สำคัญเราได้ดูหลังฉากว่าเขาแต่งหน้าแต่งตัว เปลี่ยนชุดอย่างไรกันบ้าง เฉพาะแต่งหน้าก็ต้องแต่งแบบตัวใครตัวมันใช้เวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมง เวลาแสดงแต่ละคนต้องใช้ทั้งความสามารถในการแสดงหน้าเวทีให้คนดูชอบสนุกสนาน หลังฉากทุกคนต้องสาระวนเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ทันกับเวลาโชว์ช่วงหน้า” เป็นแบบนี้ตั้งแต่หัวค่ำยันเที่ยงคืน เห็นแล้วเหนื่อยแทนครับ” คมสันต์ สุทนต์ กล่าวปิดท้ายโชว์นี่ว่า “ต้องยอมรับว่าลิเกมีความเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและความอยู่รอดของศิลปินไม่ว่าจะเป็นฉาก เวที การแต่งกาย แสง เสียง หรือเนื้อเรื่องขั้นตอนการแสดงที่ต้องกระชับฉับไว แต่สิ่งหนึ่งที่คณะไพศาล เพียรศิลป์และลิเกเมืองไทยอีกหลายคณะคงยึดไว้เป็นรากฐานคือรูปแบบการแสดงที่ยังมีเอื้อนเอ่ยเจรจาราชนิเกลิง ที่เราดูอย่างไร ก็รู้ว่านี่แหละลิเก” ติดตามรายการไทยโชว์ ตอน “ลิเกปากน้ำโพ ไพศาล เพียรศิลป์”วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 18.00 น. พิเศษสำหรับรายการไทยโชว์ ฉากแบบเดิม วาดบนผ้าดิบ โชว์เปลี่ยนฉากแบบชักรอก ขึ้นลง และ ด้านข้าง นำเสนอในท้องเรื่องกาหลงดงรัก โดยทีมงานลิเกหนุ่มสาว ถ่ายทำที่โรงลิเกสถานีวิทยุ วปถ.๙ (ซึ่งที่นี่เขาเปิดให้คนเข้ามาชมลิเกฟรีทุกวันอาทิตย์พร้อมถ่ายทอดสดผ่านรายการวิทยุในระบบเอเอ็ม) ชมรายการย้อนหลังได้ทาง www.thaipbs.or.th/Thaishow

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ