สรุปสถานการณ์และแนวโน้มตลาดหุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 1, 2010 13:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--อเบอร์ดีน ภาพรวม ตลาดหุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ผ่านพ้นสถานการณ์ความผันผวนอย่างหนักในปี 2552 มาได้ โดยดัชนีตลาดหุ้นสามารถปรับขึ้นจากแรงหนุนของนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น โดยดัชนี MSCI Emerging Markets สำหรับตลาดหุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ปรับตัวขึ้นเกือบ 80% ของมูลค่าที่เป็นเหรียญสหรัฐฯ โดยปรับขึ้นมากที่สุดคือ ตลาดหุ้นลาตินอเมริกา และตลาดหุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่เอเชีย ซึ่งปรับขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นมาก ดังจะเห็นได้จากดัชนี MSCI AC World สำหรับตลาดหุ้นทุกประเทศ ปรับขึ้นแค่ประมาณ 35% ในงวดเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในรอบปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่เหวี่ยงตัวกลับไปกลับมาของนักลงทุน โดยเริ่มต้นปีนักลงทุนต่างชาติเริ่มถอนตัวจากการลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยมีความวิตกกังวลจากความล้มเหลวของสถาบันการเงินใหญ่หลายแห่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่ทำให้ตลาดการเงินเกือบจะล่มสลายไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมากเนื่องจากการปล่อยกู้ถูกจำกัด ทั้งด้านอุปสงค์ก็ลดลง การส่งออกก็สะดุด และหลายประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ถลำเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นปี 2552 แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มกลับคืนมาในช่วงต้นเดือนมีนาคม หลังจากรัฐบาลของหลายประเทศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินในปริมาณที่สูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทำให้ความกลัวว่าโลกจะประสบกับภาวะตกต่ำครั้งร้ายแรงที่สุดอีกครั้งนับจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ (Great Depression) คลายตัวลงไป โดยตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงมาถึงจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2552 และหลังจากนั้นก็กลับมาสู่การเติบโต โดยแทบไม่มีการสะดุดลงอีกเลยจนถึงสิ้นปี ในด้านเศรษฐกิจ การพร้อมใจกันเข้าแทรกแซงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในหลายประเทศได้ช่วยให้เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น และทำให้หลายๆประเทศกลับมามีการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง นำโดยประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งทำให้รัฐบาลเริ่มพิจารณาที่จะหาหนทางยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในกลุ่มประเทศ BRIC ที่มีบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ต่างฟื้นตัวขึ้น โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของบราซิลในปี 2552 หดตัวน้อยกว่าหลายประเทศสำคัญของโลก ด้านรัสเซีย เศรษฐกิจเติบโตขึ้นสองไตรมาสติดต่อกัน หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ส่วนจีนรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 9% ขณะที่เศรษฐกิจของอินเดียได้รับการประมาณการว่ามีการขยายตัวเกือบ 8% ในปีงบประมาณ 2552 ซึ่งจะจบลงในสิ้นเดือนมีนาคม 2553 แนวโน้ม ตลาดหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่อาจจะปรับตัวขึ้นต่อไป ในช่วงที่สภาพคล่องยังมีมากในระยะสั้น แต่เงื่อนไขทางการเงินที่ผ่อนคลายลงและการก่อหนี้มากขึ้นของรัฐบาลส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดการเงินทั่วโลกในระยะกลาง เนื่องจากประเด็นเหล่านี้ในที่สุดจะต้องได้รับการสะสาง ซึ่งจะทำให้ความไร้เสถียรภาพและความผันผวนในตลาดมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อออกไป และทำให้แนวโน้มสำหรับปี 2553 ยังคงคลุมเครือ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะผลักดันทิศทางของตลาดหุ้นในปี 2553 คงจะแตกต่างไปจากปัจจัยเดิมของปีที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤตการณ์สินเชื่อที่แย่ที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่น่าเป็นกังวลอันดับแรกในปีใหม่นี้น่าจะได้แก่เรื่องเสถียรภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เหมือนกับความวิตกว่าจะเกิดภาวะถดถอยทั่วโลกดังที่เกิดขึ้นในปี 2552 โดยประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่กลับสร้างความเติบโตได้อีกครั้งในไตรมาสสาม โดยเป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการเงิน ขณะที่ทั้งประเทศจีนและอินเดียสามารถหลีกพ้นภาวะถดถอยได้ทั้งคู่ ในบราซิล อัตราการจ้างงานขยับขึ้นมาเท่ากับระดับก่อนเกิดวิกฤต อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังทรงๆ ดังเช่น ในสหรัฐฯ อัตราการว่างงานยังคงทรงตัวในระดับใกล้จะถึงจุดสูงสุดในรอบ 26 ปี ขณะที่รายได้ในไตรมาสสามของภาคธุรกิจสูงกว่าการคาดการณ์ เพียงเพราะว่ามีการลดต้นทุน ด้านกระแสการปลดหนี้สินในฝั่งตะวันตกที่กำลังเป็นไปน่าจะส่งผลกดดันในทางลบต่ออุปสงค์และต่อการฟื้นตัวของการส่งออกจากประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่จะจำกัดตัวลง นอกจากนี้ เรายังไม่สามารถตัดทิ้งความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะวนกลับมาถดถอยอีกครั้ง กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะฟื้นตัวได้ดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขยายอุปสงค์ภายในประเทศของตนด้วย ประการที่สอง การขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการนำงบประมาณไปช่วยเหลือภาคธนาคารอย่างเร่งด่วน และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นธรรมดาว่าไม่สามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลานาน จึงนำมาซึ่งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนของโครงการต่างๆซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง จนต้องเตรียมการขึ้นภาษี ในปัจจุบัน รัฐบาลดูเหมือนจะได้ตัดสินใจแล้วว่าการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ฉลาด ไม่ว่าจะอย่างไร การกำหนดกรอบเวลาและกลวิธีที่จะยกเลิกมาตรการแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐบาลก็จะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อตลาดหุ้นในที่สุด อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญได้แก่การเข้มงวดนโยบายการเงิน อิสราเอลปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้ง ซึ่งเป็นประเทศแรกในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยมีเหตุผลว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มสูงขึ้น ซึ่งสร้างความเป็นไปได้ที่ประเทศอื่นๆที่ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรงในปี 2552 จะทำตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ยังมีช่องทางที่สร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าแพงขึ้น เช่น ผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2515 ที่อินเดียจะต้องเผชิญ อุปสงค์ภายในประเทศที่มากขึ้นในจีน บราซิล เม็กซิโก และอีกหลายประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีสาเหตุจากจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวที่ขยายตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย แม้ว่าด้านอุปทานที่เกินมาในบางอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันดิบ อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันดังกล่าวได้บ้าง ประการที่สาม ความเสี่ยงที่ราคาทรัพย์สินจะขยายตัวแบบฟองสบู่คาดว่าจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ถ้าการฟื้นตัวของประเทศร่ำรวยยังคงไม่น่าไว้วางใจ การผ่อนปรนนโยบายการคลังและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้จะเป็นศูนย์ เหล่านี้ล้วนปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้สภาพคล่องยังคงไหลบ่าเข้ามายังกลุ่มตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะจำกัดการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ และทำให้ธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อหาประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงกว่าเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของหลายประเทศกำลังพัฒนาได้รับทราบถึงความเสี่ยงจากราคาทรัพย์สินแบบฟองสบู่ที่จะเพิ่มมากขึ้นแล้ว และบางรัฐบาลได้กล่าวถึงมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเข้มงวดมากขึ้น ตามอย่างบราซิลที่ได้มีการใช้มาตรการดังกล่าว และการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าจะเป็นงานหลักที่เร่งด่วนของรัฐบาลด้วย ปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะของประเทศหรือของภูมิภาคนี้จะมีบทบาทมากขึ้นด้วย เช่น ภัยคุกคามที่มาจากการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ การมีหนี้เสียเพิ่มสูง และการผิดนัดชำระหนี้ที่ยังเป็นปัญหาในกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งมีการกู้ยืมมาลงทุน มากและพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่มเดียวกัน ปัญหาหนี้สินของดูไบ ซึ่งตามมาด้วยการเทขายหุ้นเป็นเครื่องย้ำเตือนว่าตลาดสินเชื่อยังคงมีสภาพที่เปราะบางมาก และยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลเสียหายอย่างกว้างขวางหรืออาจจะถึง กับเป็นหายนะครั้งใหญ่ หากมีการผิดสัญญาชำระหนี้เกิดขึ้น จากปัญหาต่างๆที่กล่าวมานี้ อเบอร์ดีนเห็นว่าพื้นฐานศักยภาพของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังคงสดใส โดยระบบการเงินของภาครัฐและภาคเอกชนได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก และยอดหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้กว้างขวางมากขึ้นหากจำเป็น การเข้าแทรกแซงจากภาครัฐเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์เศรษฐกิจ และกรอบการทำงานในระดับสถาบันที่ดีขึ้นทำให้ภาคธุรกิจมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง ในภาพรวมนี้ เราเห็นว่าแนวทางการเลือกหุ้นเพื่อลงทุนของเรามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในเวลาที่ตัวเลขรายได้ของธุรกิจยังมีที่มาไม่ชัดเจน เนื่องจากอยู่ภายใต้อิทธิพลของการลดต้นทุนและการกักตุนสินค้าคงคลังที่ถือเป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในรอบปี อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่าบริษัทที่เราเลือกลงทุน มีระบบการบริหารจัดการที่ดีและการเงินที่มั่นคง จึงควรที่จะฟื้นตัวขึ้น ได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิมจากการเอาชนะอุปสรรคที่มีอยู่ในปัจจุบันได้สำเร็จ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์: +66 2352 3388, โทรสาร: +66 2352 3389 อีเมล์: client.services.th@aberdeen-asset.com บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน จำกัด อาคารบางกอกซิตี้ทาวเวอร์, ชั้น 28 เลขที่ 179 ถนนสาทรใต้, แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 www.aberdeen-asset.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ