กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
นายอรรถพร สุวัธนเดชา ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. เปิดเผยว่า ในวันที่ 2—3 ก.พ. 53 นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมคณะศึกษาดูงาน ประกอบด้วย นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ศึกษานิเทศก์ สภาเยาวชน ผู้บริหารสำนักการศึกษาและเจ้าหน้าที่ เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการศึกษาที่ จ.บุรีรัมย์ โดยในวันที่ 2 ก.พ. 53 เยี่ยมชมกิจกรรมเยาวชนบ้านลิ่มทอง โครงการคลองส่งน้ำชุมชน ดูงานพัฒนาชุมชนบ้านหนองตาเข้ม อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ จากนั้นวันที่ 3 ก.พ. 53 เยี่ยมชมโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาประถม รับฟังบรรยายสรุปแนวทางการเรียนการสอนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เยี่ยมชมโรงเรียนลำปลายมาศมัธยม และดูงานโครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้านและห้องสมุดของเล่นในพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ
ทั้งนี้โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เกิดจากแนวคิดของนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ที่ต้องการให้มีโรงเรียนที่เป็นแบบอย่างในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข เต็มศักยภาพ เป็นคนดีและคนเก่ง สอดคล้องกับวิถีชีวิตและกลมกลืนกับวิทยาการสมัยใหม่ สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยคุณธรรม ภูมิปัญญา และสำนึกในความเป็นพลเมืองดี สร้างเยาวชนให้เป็นคนดีของประเทศ ให้เด็กชนบทมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเด็กในเมือง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของนายเจมส์ คลาร์ค ชาวอังกฤษ ซึ่งได้มีโอกาสสัมผัสกับระบบการศึกษาไทยในชนบทอย่างใกล้ชิด โดยนายเจมส์ คลาร์ค ได้ให้ความสนับสนุนโครงการทุนการศึกษานักเรียนของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ซึ่งมูลนิธิเจมส์คลาร์คแห่งประเทศอังกฤษเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนฯ โดยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือในวันที่ 8 สิงหาคม 2544 และทำพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มิถุนายน 2546 โดยเปิดทำการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2546 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 จำนวน 3 ชั้นเรียน ได้แก่ ชั้นอนุบาล 1 ชั้นอนุบาล 2 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และจะเปิดชั้นเรียนอื่นๆอีกในทุกปีจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ละระดับชั้นมีจำนวน 1 ห้องเรียน นักเรียนห้องละ 30 คน โรงเรียนฯ คัดเลือกเด็กจากเด็กทั่วไปในอำเภอลำปลายมาศโดยวิธีจับฉลาก นักเรียนที่เข้าเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ข้อพิจารณาที่สำคัญคือ ผู้ปกครองต้องสามารถรับส่งนักเรียนได้ทุกวัน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับโรงเรียน