สถาบันอาหารเตรียมระดมสมองดันยุทธศาสตร์องค์กรพัฒนาอุตฯอาหารไทย ทะยานสู่มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาทใน 5 ปี

ข่าวทั่วไป Tuesday February 2, 2010 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--สถาบันอาหาร สถาบันอาหาร เตรียมระดมสมองภาครัฐผนึกภาคเอกชนผลักดันยุทธศาสตร์องค์กร 6 ด้าน พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยระยะ 5 ปี (2553-2557) รองรับเป้าหมายการเติบโตร้อยละ 10 ต่อปี หวังสร้างมูลค่าการส่งออกอาหารไทย ให้ขึ้นถึง 1.1 ล้านล้านบาทในปี 2557 มุ่งสร้างความพร้อมแก่ภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยเข้าสู่ยุคการแข่งขันทางนวัตกรรม (Innovation Industry) บนฐานการผลิตของอุตสาหกรรมฐานความรู้ (Knowledge Based Industry) นายอมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า ขณะนี้สถาบันอาหารกำลังเตรียมผลักดันยุทธศาสตร์สถาบันอาหารในระยะ 5 ปีข้างหน้าโดยร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมสมองกำหนดยุทธศาสตร์องค์กรในฐานะเป็นองค์กรขับเคลื่อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอาหารไทย ระหว่างปี 2553-2557 โดยมีกรอบแนวทางทั้งหมด 6 ด้านดังนี้ 1. ด้านการสร้างคุณค่าให้อุตสาหกรรมอาหารด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นพลังขับเคลื่อนทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี รองรับทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้กรอบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) 2. ด้านการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยขยายขอบเขตของการพัฒนา ครอบคลุมการผลิตทุกภาคส่วนการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบ โรงงานแปรรูปผู้ประกอบการอาหาร (Food Services) จนถึงผู้บริโภค โดยจะลดปริมาณของเสีย การสิ้นเปลือง รวมถึงของเสียหาย (Defects) อันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามเงื่อนไขของระบบคุณภาพมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เช่น GMP HACCP , BRC และ ISO 22000 เป็นต้น 3. ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหาร โดยสร้างความพร้อมด้านข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ตลาด กลุ่มลูกค้า กฎระเบียบ ฯลฯ และสร้างกลไกในการแก้ปัญหาระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงสนับสนุนด้านวิชาการต่าง ๆ เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการประกอบการแก่ผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน รองรับสถานการณ์ตามกรอบการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป 4. ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารให้รับผิดชอบต่อสังคม บริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยสนับสนุนการผลิตทางอุตสาหกรรมอาหารภายใต้แนวทางการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย และรณรงค์ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) เพื่อลดเงื่อนไข ประเด็นกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non -Tariff Measurements : NTMs) ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะเพิ่มทวีความเข้มงวดจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น 5. ด้านการสร้างความตระหนักและยกระดับภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารไทย โดยยืนยันภาพลักษณ์ว่าไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และสร้างความมั่นใจแก่โลกด้านความมั่นคงทางอาหาร(Food Security) และ 6. ด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถของสถาบัน (องค์กร) เพื่อรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งพัฒนาการบริหารงานให้เป็นองค์กรทันสมัย (Modern Organization) ทั้งในด้านความรู้ในสาขาอาหาร และการบริหารจัดการ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ พร้อมกันนี้ยังมุ่งที่จะพัฒนาสถาบันอาหารให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านความปลอดภัยอาหารเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล นายอมร กล่าวว่า “กรอบแนวคิดทั้ง 6 ด้านนี้ จะทำให้ขนาดอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี นับจากปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 751,000 ล้านบาท และในปี 2553 คาดว่าตัวเลขส่งออกจะมีมูลค่าราว 826,000 ล้านบาท โดยโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมอาหารจะเข้าสู่การผลิตอาหารที่มีพื้นฐานจากนวัตกรรม (Innovation industry) ที่สมบูรณ์ขึ้น และจะปรับตัวสู่การผลิตสมัยใหม่ เป็นอุตสาหกรรมทันสมัย (Modern Organization) โดยมีการผลิตและการจัดการบนฐานจากองค์ความรู้ (Knowledge Based) เช่น เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรม”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ