กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
รองผู้ว่าฯ มาลินี ตรวจเยี่ยมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก สุจิตราฟาร์มและสุขาภิบาลฟาร์ม ย่านมีนบุรี พร้อมประเมินสภาพ ให้คำแนะนำแก่เจ้าของฟาร์ม ตลอดจนมอบสื่อความรู้เรื่องการป้องกันไข้หวัดนก เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการซื้อสัตว์ปีกช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2553
แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก พร้อมให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการในมาตรการดูแลป้องกันโรคไข้หวัดนก เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 ณ สุจิตราฟาร์ม และสุขาภิบาลฟาร์ม เขตมีนบุรี โดยมีว่าที่ร้อยตรีเศวตชัย ทรัพย์บุญมี ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์เลี้ยงสัตว์ปีกในพื้นที่เขตมีนบุรี
กรุงเทพมหานครโดยสำนักอนามัยซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลและวางแผน เพื่อรับมือต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสถานที่เลี้ยงสัตว์ปีก การตรวจสอบสัตว์ปีกที่เคลื่อนย้ายเข้ากรุงเทพมหานครจากจังหวัดต่างๆ การตรวจสอบสถานประกอบการฆ่าสัตว์ปีก รวมทั้งผู้ประกอบการแผงค้าไก่สด โดยมีรายละเอียดดังนี้ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการและศูนย์ข้อมูลไข้หวัดนก เพื่อควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกจากคนและสัตว์ปีก รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อและการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก การควบคุมและเฝ้าระวังจากสถานที่เลี้ยงสัตว์ปีก และสถานประกอบการฆ่าสัตว์ การตรวจสถานที่เลี้ยงสัตว์ปีก โดยกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมร่วมกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขต ได้ตรวจเยี่ยมและให้คำแนะนำด้านสุขาภิบาลสถานที่เลี้ยงสัตว์ปีก ความรู้เรื่องไข้หวัดนกแก่เจ้าของฟาร์มและผู้ปฏิบัติงานในฟาร์ม โดยประสานงานสำนักงานเขตและปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร ได้สำรวจฟาร์มทั้งหมด 6 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร ทำการสำรวจตามหลักสุขาภิบาล ได้แก่ สถานที่ตั้ง สุขลักษณะ โรงเรือนและส่วนประกอบการ การจัดการอาหารสัตว์ เครื่องมือ น้ำดื่ม น้ำใช้ การจัดการน้ำเสีย มูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การจัดการแหล่งแพร่เชื้อหรือสัตว์แมลงนำโรค ซึ่งผลการตรวจส่วนใหญ่พบว่าสถานที่เลี้ยงสัตว์ปีกในลักษณะฟาร์มจะมีระบบจัดการสุขลักษณะของฟาร์มที่ดี การกวดขันด้านสุขลักษณะของสถานประกอบการฆ่าสัตว์ปีก มีสถานประกอบการฆ่าสัตว์ปีกที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขจากกรุงเทพมหานครมีจำนวน 42 แห่ง ซึ่งกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมร่วมกับสำนักงานเขตได้ดำเนินการกวดขันด้านสุขลักษณะของสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง และเข้มงวดกวดขันไม่ให้มีการฆ่าและชำแหละสัตว์ทุกประเภทในบริเวณทางสาธารณะ หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย
การรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ตามโครงการเนื้อสัตว์ปีกปลอดภัยฉลองตรุษจีนปี 53
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ตั้งด่านตรวจสัตว์ตามถนนที่เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายสัตว์เข้ามาในกรุงเทพมหานครจากจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานีฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ซึ่งการเคลื่อนย้ายสัตว์จะต้องมีใบอนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น ต้นทางของการเคลื่อนย้าย คือที่อยู่ของฟาร์ม ปลายทางของการเคลื่อนย้าย คือที่อยู่ของสถานประกอบการ และจำนวนของสัตว์ที่เคลื่อนย้าย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ใบรายงานผลการวิเคราะห์ ทดสอบและชันสูตรโรคสัตว์จะต้องไม่พบเชื้อโรคไข้หวัดนกและโรคนิวคาสเซิล ส่วนการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สัญลักษณ์รับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จากกรมปศุสัตว์ สำหรับปี 2553 จะเป็นสายรัดขาสัตว์ปีก (Soal) โดยจะติดที่สัตว์ปีกเป็นรายตัวทุกตัว โดยสายรัดจะต้องระบุหมายเลขกำกับด้วย ซึ่งเป็นไปตามโครงการ “เนื้อสัตว์ปีกปลอดภัยฉลองตรุษจีน ปี 2553” การควบคุมและเฝ้าระวังการจำหน่ายสัตว์ปีก ในแผงจำหน่ายตลาดสด โดยให้คำแนะนำในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐาน การมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีในการจำหน่าย เช่นสวมผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดจมูก ถุงมือ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ การวางจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกต้องวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ต้องล้างบริเวณแผง เขียงและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องหลังการขาย รวมถึงผู้ประกอบการตลาดต้องจัดให้มีการล้างตลาดอย่างสม่ำเสมอ
ให้คำแนะนำด้านสุขลักษณะในการประกอบกิจการประเภทการฆ่าสัตว์ปีก
สำหรับคำแนะนำด้านสุขลักษณะในการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการฆ่าสัตว์ปีก ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์การควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทโรงฆ่าสัตว์ ดังนี้ การปรับปรุงพื้น เพดาน ไม่ให้มีรอยแตก ชำรุด อาจปูกระเบื้องแทนพื้นปูน เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด โดยให้ทำความสะอาดพื้นที่ประกอบการด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำทุกวันหลังปฏิบัติงาน การจัดแบ่งพื้นที่การประกอบการในแต่ละขั้นตอนให้เป็นสัดส่วนไม่ให้ปนเปื้อนกัน ส่วนที่พักสัตว์ก่อนเชือดต้องจัดการให้ถูกสุขลักษณะ แยกออกจากพื้นที่เชือดและพื้นที่ชำแหละ การจัดให้มีระบบป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นจากสัตว์ ขนสัตว์ หรือละอองเลือด โดยใช้พลาสติกใสหรือผ้าใบ เพื่อไม่ให้ประชาชนสัมผัสกับสัตว์ปีกโดยตรง การฆ่าและชำแหละต้องดำเนินการในสถานที่ปกปิดมิดชิด ไม่กระทำการโดยเป็นที่อุจาดตาแก่ประชาชน บริเวณที่ทำการฆ่าและชำแหละต้องถูกสุขลักษณะ สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน โดยในส่วนที่วางชิ้นส่วนของสัตว์ต้องอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตรหรือมากกว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่าและชำแหละสัตว์ทุกชนิดต้องมีความสะอาด โดยต้องทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังการฆ่าและชำแหละทุกครั้ง จัดให้มีภาชนะสำหรับเก็บเศษชิ้นเนื้อ ซาก เลือด และขนของสัตว์ที่ฆ่าและชำแหละ ที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน และมีระบบการเก็บขนไปทำลายด้วยวิธีที่ถูกต้องไม่ให้เกิดการปนเปื้อนสู่ประชาชน ห้ามทำการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ที่พร้อมบริโภคในบริเวณสถานประกอบการฆ่าสัตว์ ผู้ที่ทำการฆ่าและชำแหละสัตว์ต้องแต่งกายมิดชิดและมีความสะอาดทุกครั้ง โดยชุดที่ใส่ต้องประกอบด้วย ที่คลุมศีรษะ ผ้าปิดปาก ถุงมือยาง ผ้ากันเปื้อน รองเท้ายาง และต้องไม่ใส่เครื่องประดับทุกชนิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคสู่เนื้อสัตว์และป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน ทั้งนี้ให้มีการตรวจสุขภาพของผู้ทำการฆ่าและชำแหละสัตว์อย่างสม่ำเสมอ