กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--สวทช.
สวทช. ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบเงา‘OPP-ลามิเนท’ ให้กับ บริษัท นทีทองโพลีเมอร์ จำกัด ป้อนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และแพคเกจจิ้งไทย ลดการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปราคาแพงจากต่างประเทศ และเตรียมต่อยอดการพัฒนาไปสู่ “ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม” รองรับกระแสการต่อต้านสินค้านำเข้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอียู และญี่ปุ่น พร้อม เตือนผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตงานทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ หรือ แพคเกจจิ้ง ที่ต่างชาติให้การยอมรับในฝีมือ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าที่ผ่านมาไทยต้องสูญเสียเงินตราไปเป็นจำนวนมาก เพื่อนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบเงาสิ่งพิมพ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ ขณะที่ความเป็นจริงแล้วประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตได้เอง
จากช่องว่างดังกล่าว จึงจุดประกายให้กับผู้บริหารของ บริษัท นทีทองโพลีเมอร์ จำกัด ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทขึ้น เมื่อปี 2544 ผลิตและจำหน่ายน้ำยาเคลือบเงาสิ่งพิมพ์ ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในประเทศ อาทิ โรงงานเคลือบเงา , โรงพิมพ์ และโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ หรือ แพคเกจจิ้ง เป็นต้น เพื่อลดการนำเข้าให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ
นางสาว อุบลณี อังคศิริมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท นทีทองโพลีเมอร์ จำกัด เปิดเผย ว่า “ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ที่ต่างประเทศให้การยอมรับในฝีมือ ทำให้มูลค่ารวมของตลาดค่อนข้างสูงมาก ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในประเทศยังต้องนำเข้าน้ำยาเคลือบเงาสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน จึงเห็นว่าเมื่อเรามีศักยภาพอยู่แล้วและไม่ต้องเสียเงินให้ต่างชาติ จึงได้หันมาผลิตน้ำยางเคลือบเงาสิ่งพิมพ์ขึ้นใช้เอง ที่สำคัญหากมีปัญหาอะไรเรายังสามารถแก้ไขปรับปรุงให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ถูกต้อง เพื่อการนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเริ่มต้นจากการนำเข้าก่อน ต่อมาจึงได้ค่อยๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นใช้เอง”
ผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบเงาสิ่งพิมพ์ที่บริษัทผลิตขึ้น มี 3 ชนิด ประกอบด้วย น้ำยาเคลือบเงากระดาษชนิด Calendering Varnish สำหรับงานสิ่งพิมพ์กะดาษทั่วไป , กาว Heat-seal (Blister pack) ใช้สำหรับเคลือบถ่านไฟฉาย อัลคาไรท์ หรือ ของเล่นเด็ก และน้ำยาเคลือบเงากระดาษชนิด OPP-ลามิเนท สำหรับงานบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง ,ใบปลิว และ นิตยสารที่มีราคาแพง เป็นต้น
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบเงากระดาษชนิดOPP-ลามิเนท ซึ่งถือเป็นบริษัทรายแรกและรายเดียวของไทยที่สามารถพัฒนาน้ำยาOPP-ลามิเนทขึ้นใช้เองในประเทศ โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จนเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มลูกค้าในประเทศที่หันมาสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นแทนการนำเข้า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัท มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 60 ของตลาด
สำหรับแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์OPP-ลามิเนทนั้น บริษัทฯได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาสูตรน้ำยาจนได้วัตถุดิบตัวใหม่ แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ได้ในเบื้องต้นยังติดปัญหาเรื่องของความใสและการยึดเกาะ ทางบริษัทฯ จึงได้เข้ารับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการITAP ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนี เข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำเทคนิคบางอย่าง นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค ของ สวทช. ในเรื่องของเครื่องมืออุปกรณ์ ห้องทดลอง และวัตถุดิบบางตัว เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์จนได้คุณสมบัติตามที่ลูกค้าต้องการ ส่งผลให้ยอดขายปรับสูงขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต จากร้อยละ 20 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ50— ร้อยละ 60
สำหรับโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือจาก ITAP อยู่ภายใต้ชื่อโครงการ “ การพัฒนาคุณภาพน้ำยาเคลือบเงากระดาษสิ่งพิมพ์” โดยผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกับบริษัทในการผสมและพัฒนาสูตรน้ำยาตัวใหม่จนได้สูตรน้ำยาที่มีสีใสขึ้นจากเดิมที่มีสีค่อนข้างขุ่น และลดปัญหาการหลุดลอกหรือการยึดเกาะของฟิล์มลามิเนทเมื่อทำการพับได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรของบริษัทในการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นด้วย
บริษัทฯ ยังมีแนวคิดที่จะวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบเงาสิ่งพิมพ์ให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นต่อไปจากเดิมที่ต้องใช้น้ำมันเป็นตัวทำละลาย ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สะอาดขึ้น โดยใช้น้ำเป็นตัวทำละลายแทน หรือที่เรียกว่า Water Base เนื่องจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกำลังเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในอนาคตที่ประเทศไทยต้องตามให้ทัน โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าอนาคตเตรียมส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบเงาคุณภาพโดยฝีมือคนไทย หลังจากพัฒนาผลิตภัณฑ์จนมั่นใจ และสามารถสร้างความน่าเชื่อถือจากกลุ่มผู้ใช้ในประเทศแล้ว
ด้าน นางหงษ์สุดา สอนกลิ่น ที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สวทช. กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบเงากระดาษสิ่งพิมพ์ ถือเป็นอุตสาหกรรมระดับกลางน้ำ แต่เนื่องจากส่วนใหญ่จะต้องนำเข้าน้ำยาเคลือบเงาสำเร็จรูปราคาแพงจากต่างประเทศ ดังนั้น หากสามารถผลิตขึ้นได้เองในประเทศก็ถือเป็นสิ่งดีและน่าสนับสนุน อีกทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของไทย ประกอบกับทางผู้บริหาร บริษัท นทีทองโพลีเมอร์ จำกัด มองเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น แต่ติดปัญหาทางด้านเทคนิคอยู่ ทางโครงการ ITAP จึงได้เข้าไปให้การสนับสนุน โดยการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำ
“ นอกจากนี้ ทางโครงการ ITAP ยังพร้อมที่จะให้การสนับสนุนบริษัทฯ ต่อไปอย่างเต็มที่ หากบริษัทยังต้องการจะต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องของการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ หรือ แม้กระทั่งการพัฒนาคุณภาพสินค้าที่มีอยู่ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในขณะนี้ภาวะการณ์แข่งขันของอุตสาหกรรมด้านนี้ในต่างประเทศมีค่อนข้างสูง ประกอบกับขณะนี้กฎหมายบางประเทศ เช่น แถบประเทศยุโรป และญี่ปุ่น ยังได้ออกกฎว่า สินค้าที่จะนำเข้าไปในกลุ่มประเทศดังกล่าวจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้บริษัทของคนไทยที่ต้องการส่งสินค้าออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวจะต้องเร่งปรับตัว มิฉะนั้นอาจเสียโอกาสได้ ” นางหงษ์สุดา กล่าวในที่สุด
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
(สื่อมวลชนที่สนใจข้อมูล-ภาพ เพิ่มเติม ติดต่อได้ที่คุณนก หรือคุณเกด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ ITAP โทร.0-2619-6187,8)