กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--กทม.
คณะกรรมกาวิสามัญฯ ชี้ทางแก้ปัญหาสุนัขจรจัด แนะผู้บริหารต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหา พร้อมกำหนดแผนยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนและตรงจุดเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและต้องเป็นระบบในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า และจัดสรรงบประมาณว่าจ้างเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
นายอมรเทพ เศตะพราหมณ์ ฐานะประธานคณะกรรมกาวิสามัญศึกษาปัญหาและวิธีการควบคุมปริมาณสุนัขจรจัดในกรุงเทพมหานคร และคณะ ร่วมประชุมเพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนจากสำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
แนะกทม.ว่าจ้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ในการให้ความรู้และข้อแนะนำกับประชาชน
ประธานคณะกรรมการ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังประสบปัญหาขาดบุคลากรด้านนักวิชาการที่มีความรู้หรือผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุนัข รวมถึงแมวอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาเมื่อผู้เลี้ยงสัตว์ต้องการความช่วยเหลือ และบางครั้งต้องการประสานข้อมูลผ่านไปยังสมาคมหรือผู้เชี่ยวชาญถึงจะแจ้งไปที่สำนักงานเขตเพื่อดำเนินการแจ้งไปยังเจ้าของ พบว่ายังมีความล่าช้าและเกิดความยุ่งยากในการบริการ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้อีก ทั้งนี้ผู้บริหารควรพิจารณาในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง โดยการเพิ่มบุคลากรให้มากขึ้นและประชาสัมพันธ์กิจกรรมอันจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงเพื่อไม่เกิดปัญหาสุนัขจรจัด ซึ่งจะเป็นภาระให้กรุงเทพมหานครเพิ่มอีกด้วย
กระตุ้นผู้บริหารกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน พร้อมต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ในที่ประชุมคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขปัญหาของกรุงเทพมหานครควรแบ่งออกเป็นปัญหาและอุปสรรคเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ของการควบคุมในแต่ละมิติ แล้วจึงกำหนดเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดและโครงการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ และต้องวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาและประเมินผลควบคู่กันไป อีกทั้งการรณรงค์ต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้าที่ควรจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการป้องกัน อีกทั้งบุคลากรไม่เพียงพอเพราะขาดงบประมาณในการว่าจ้างผู้บริหารควรกำหนดนโยบายและให้ความสำคัญในการสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งควรมีเป้าหมายในการนำสุนัขทุกตัวทำการขึ้นทะเบียน และควบคุมสุนัขจรจัดให้อยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น สถานสงเคราะห์ ศูนย์พักพิงสุนัขของเอกชนและภาครัฐเป็นต้น และควรส่งเสริมสนับสนุนเอกชนที่มีความประสงค์จะจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อดูแลปัญหาสุนัขจรจัด แต่ขอให้เพียงให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้เท่านั้น ทั้งนี้ผู้บริหารจำเป็นจะต้องพิจารณาในแผนการดำเนินการที่มุ่งเน้นในการเข้าถึงปัญหาและจะต้องจริงจังในการผลักดันโครงการอันจะเกิดประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมปัญสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกด้วย