กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--คอร์แอนด์พีค
ย้ำการวิเคราะห์ธุรกิจสามารถสร้างมูลค่าได้อย่างมาก ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ
บริษัท แซส ผู้นำในตลาดการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ ประกาศผลประกอบการทั่วโลกในปี 2552 ทั่วโลก อยู่ที่ 2.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้น 2.2% จากรายได้ที่ได้รับเมื่อปี 2551 พิสูจน์ได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย บริษัท แซส ก็ยังสามารถเติบโตและสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 34 ปี นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งขึ้นมา
“การเติบโตอย่างต่อเนื่องของเราในปี 2552 ถือเป็นบทพิสูจน์อย่างชัดเจนของบริษัทในการลงทุนระยะยาวกับลูกค้าและพนักงาน ตลอดจนการยึดมั่นในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา” นายจิม กูดไนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) บริษัท แซส กล่าว และว่า “เราไม่เพียงรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจขาลงได้เท่านั้น แต่เรายังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วย”
ในขณะที่รายได้จากผู้ค้าซอฟต์แวร์รายอื่นๆ ในตลาดลดลง แต่เฉพาะรายได้จากยอดขายซอฟต์แวร์ของบริษัทแซส เพิ่มขึ้นถึง 3.3% และยังได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาซอฟท์แวร์อย่างต่อเนื่อง โดยลงทุนถึง 23% ของรายได้ในปี 2552 ซึ่งตอกย้ำจากคำสัญญาที่นายกูดไนท์ได้ให้ไว้เมื่อปีที่แล้ว ว่าจะไม่มีการปลดพนักงานอันเนื่องมาจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจเป็นอันขาด โดยให้ความสำคัญในด้านพันธกิจของบริษัทที่มีต่อนวัตกรรมและพนักงาน
“เมื่อเดือนมกราคม ผมได้แจ้งแก่พนักงานว่าจะไม่มีการปลดพนักงาน” นายกูดไนท์ กล่าว และว่า “ผมต้องการให้พวกเขาให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และไม่ต้องเป็นกังวลต่อปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดขององค์กร ผลก็คือเรายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจขาลง และเราพร้อมที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งในปี 2553 นับว่าเป็นการขับเคลื่อนครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทของเรา”
ช่วงเวลายากลำบากผลักดันยอดขายโซลูชั่นสำหรับต่อสู้กับความถดถอยทางเศรษฐกิจ
ผลประกอบการในปี 2552 เมื่อเทียบกับปี 2551 แสดงให้เห็นว่าลูกค้าได้นำโซลูชั่น SAS ไปใช้เพื่อเพิ่มรายได้ผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและจัดการด้านการดำเนินงานและต้นทุนให้ดีขึ้นผ่านการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะเห็นได้ว่าโซลูชั่นการวิเคราะห์ ลูกค้าอัจฉริยะ การรวมข้อมูล (Data Integration) และการบริหารความเสี่ยงมีการขยายตัวสูงสุด
ในกลุ่มโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรม อัตราการขยายตัวยังคงสูงสุดในภาคธนาคาร ภาครัฐ การให้บริการด้านสุขภาพ การประกันภัย และธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะยอดขายด้านบริการทางการเงินซึ่งเพิ่มจำนวนอย่างมาก ถึง 42% ของรายได้ทั้งหมด บริษัทเหล่านี้ได้นำโซลูชั่นของบริษัท แซส ไปช่วยเป็นแนวทาง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการของลูกค้า โมเดลธุรกิจ และการตรวจสอบของภาครัฐและธนาคารกลาง “การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ถือเป็นความสำเร็จที่แท้จริง” นายกูดไนท์ กล่าว และสิ่งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของบริษัท ผู้ให้บริการทางการเงินที่มีต่อขีดสามารถของบริษัทในการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจที่ซับซ้อนร่วมกันได้
ในภาครัฐ ซึ่งมีรายได้คิดเป็น 15% จากทั้งหมด พบว่าปัญหาหลักของลูกค้าภาครัฐ ได้แก่ การลดลงของภาษีเงินได้ การจัดการระดับบริการและความโปร่งใส “เราพบว่ามีความสนใจเพิ่มขึ้นในการใช้ข้อมูลเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ เพื่อต่อสู้กับความฉ้อโกง ตลอดจนช่วยให้เกิดมั่นใจได้ว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้แน่ใจได้ว่าพลเมืองจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากเงินภาษีที่พวกเขาเสียไป” กูดไนท์ กล่าว
สำหรับยอดขายธุรกิจด้านค้าปลีกนั้นอยู่ที่ 12% ของรายได้ทั้งหมด แม้ว่าสภาพแวดล้อมของธุรกิจด้านนี้จะมีปัญหามากก็ตาม แต่แซส ก็ยังสร้างกำไรได้ “การเติบโตในระดับเลขสองหลักของธุรกิจค้าปลีก เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง” นายกูดไนท์ กล่าว และว่า “เรากำลังช่วยให้ธุรกิจค้าค้าปลีก สามารถกำหนดราคาผลิตภัณฑ์และสินค้าคงคลัง ตลอดจนพิจารณาความต้องการซื้อในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และแม้แต่ในระดับร้านค้าของลูกค้าของตนได้ โดยธุรกิจค้าปลีกมีส่วนแบ่งตลาดที่เหนียวแน่นมาก และเราจะยังคงช่วยลูกค้าหาทางปรับปรุงให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก”
ผลประกอบการทั่วโลก
รายได้ทั่วโลกของแซส ประกอบด้วย ภูมิภาคอเมริกามีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 44% จากรายได้ทั้งหมด ขณะที่ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา (อีเมีย) คิดเป็น 45% และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ระดับ 11%
ทั้งนี้ 83% ของประเทศทั้งหมด 120 ประเทศ ของบริษัท แซส ที่ดำเนินธุรกิจอยู่นั้น มียอดขายซอฟต์แวร์ที่เติบโตขึ้น โดยในกลุ่มตลาดที่เติบโตมั่นคงแล้ว (Mature Market) อัตราการเติบโตของยอดขายซอฟต์แวร์ในสหรัฐ อังกฤษ แคนาดา เยอรมันนี และเนเธอร์แลนด์ มีสัดส่วนสูงตั้งแต่ 6-17% ในระดับสกุลเงินคงที่ สำหรับตลาดที่กำลังพัฒนา เปอร์เซ็นต์การเติบโตที่ระดับเลข สองหลักเกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่ ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และส่วนต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียและ ละตินอเมริกา
ฐานลูกค้าทั่วโลกของแซสขยายตัว
ในปี 2552 บริษัท แซส มีลูกค้าใหม่ 1,389 รายจากทั่วโลก โดยลูกค้าใหม่ของบริษัท แซส ประกอบด้วย แองโกลฟาร์มา, ตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์, บริษัทคลอร็อกซ์แห่งแคนาดา จำกัด, เอฟฟิเชียนซี ยูนิต, เฟียต ออโตโมวีส์, เลโก ซิสเต็มส์ อิงค์., โลยัลตี้ นิวซีแลนด์, ไนอาการา เฮลธ์ ซิสเต็มส์, อาร์เอช ดอนเนลลี อิงค์., เทเลโฟนิกา, ทีวี2เอเอส (นอร์เวย์), เวสต์เจ็ต, เว็ต ซีล อิงค์., วิสตรอน คอร์ป. และวัตเตนฟอลล์ เป็นต้น
การปรับใช้โซลูชั่นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ ที่มีประสิทธิภาพยังคงเกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่โดยทั่วไป ซึ่งจากบริษัทที่ติดกลุ่ม 100 อันดับแรกของ 500 บริษัทชั้นนำระดับโลกจากนิตยสารฟอร์จูน (2009 FORTUNE Global 500) พบว่า 93 รายเป็นลูกค้าปัจจุบันของบริษัท แซส โดยในสหรัฐอเมริกานั้น พบว่า 80% ของลูกค้าใหม่ คือ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มียอดขายต่อปีไม่ถึง 500 ล้านดอลลาร์ ให้การยอมรับคุณค่าและลงทุนด้านการวิเคราะห์ธุรกิจจากบริษัท แซส
ความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่รายได้
เครือข่ายพันธมิตรและช่องทางจำหน่ายที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นของบริษัท แซส มีบทบาทสำคัญต่อยอดขายที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 25% รวมถึงความสำเร็จของข้อตกลงชั้นนำระดับโลกที่มีจำนวนมากถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด โดยเฉพาะแนวคิดเชิงกลยุทธ์ที่บริษัท แซส ได้ร่วมมือกับธุรกิจที่ปรึกษาและผู้ติดตั้ง ทั้งยังผู้วางระบบทางธุรกิจชั้นนำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการต่างๆ ภายในฐานข้อมูลที่ครอบคลุมแพลตฟอร์มของคู่ค้าจำนวนมาก และการให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในการสร้างช่องทางจำหน่ายกับบริษัทอื่นๆ
ความร่วมมือกับผู้ติดตั้งและวางระบบทั่วโลก เช่น แอคเซนเจอร์, แคปเจอมิไน, ดีลอยท์ และวิโปร เทคโนโลยีส์ ได้ให้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญเฉพาะกับลูกค้าที่ปรับใช้ SAS? Business Analytics ภายในองค์กรอย่างครอบคลุม เนื่องจากมุมมองทางธุรกิจที่มีต่อซอฟต์แวร์องค์กรยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บริษัท แซส จะร่วมมือกับบริษัทดังกล่าว เพื่อสร้างโซลูชั่นที่แตกต่าง และผลักดันให้เกิดการวิเคราะห์เชิงนวัตกรรมและแนวทางใหม่ๆ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บริษัท แซส ยังคงร่วมกับคู่ค้าเทคโนโลยี เช่น บริษัท เทราดาต้า และบริษัท เน็ตเทสซา ในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลภายในฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท แซส เข้าใจถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นอย่างดีและจะยังคงเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมในภาคส่วนนี้ต่อไป
แซสคว้าอันดับหนึ่งของ ‘100 บริษัทที่น่าทำงานที่สุด’ ในสหรัฐอเมริกา
บริษัท แซส ผู้นำในตลาดการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytics) ได้รับรางวัลอันดับ 1 ด้าน “100 บริษัทที่น่าทำงานที่สุด” แห่งปี ที่จัดโดย นิตยสารฟอร์จูน โดยบริษัท แซส ได้รับการจัดอันดับดีเยี่ยมในด้านการให้บริการสุขภาพ การดูแลบุตรของพนักงาน และการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ทั้งนี้ บริษัท แซส ยังติดอันดับกลุ่มรายชื่อบริษัทที่น่าทำงานที่สุดเป็นเวลาทั้งสิ้น 13 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่บริษัทได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2541 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 7 ที่บริษัท แซส มีรายชื่อติดอันดับอยู่ใน 10 อันดับแรกและนับเป็นครั้งที่ 5 ที่ติดอันดับสูงสุดห้าอันดับแรกด้วย
“สำหรับประเทศไทย เรามุ่งเน้นด้านความสุขในการทำงานของพนักงานเช่นเดียวกัน เพราะถ้าพนักงานมีความสุขในการทำงานและมีสวัสดิการที่ดีแล้ว คุณภาพและความใส่ใจต่อการบริการลูกค้าและสังคมก็จะเพิ่มทวีคูณมากขึ้น ซึ่งเรามีความมุ่งมั่นที่จะติดอันดับ บริษัทที่น่าทำงานที่สุดในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ” นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าว
มุมมองอนาคต
จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มต้นขึ้นอย่างช้าๆ หลายส่วนของโลกนั้น ในปี 2553 องค์กรต่างๆ จะยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงองค์กรโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพิ่มการเติบโตของรายได้ในสายผลิตภัณฑ์หลัก และปรับธุรกิจของตนให้เหมาะสม โดยบริษัท แซส จะช่วยองค์กรต่างๆ ด้วยการจัดเตรียมเฟรมเวิร์กการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ ที่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้ลูกค้าได้ อีกทั้งยังทำให้การตัดสินใจของลูกค้าเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถช่วยในด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการปรับใช้โซลูชั่นให้เหมาะสม เพื่อประหยัดงบประมาณ การปรับใช้ระบบลูกค้าอัจฉริยะ และระบบการตลาดอัตโนมัติ เพื่อผลักดันการเติบโตของรายได้ รวมทั้งการปรับใช้การวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม เพื่อป้องกันการฉ้อโกงและภัยคุกคามจากการก่อการร้ายทางธุรกิจ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“เราอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน” นายจิม เดวิส รองประธานอาวุโส บริษัท แซส กล่าว และว่า “แต่ไม่ใช่ว่าทุกคน จะสามารถพลิกผันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เหมือนๆ กัน โดยในปี 2553 เราต้องการให้ทุกคนรับรู้ถึงโอกาสที่มีอยู่และวิธีที่จะเข้าถึงโอกาสเหล่านั้น ในทิศทางเดียวกัน ทุกภูมิภาค ”
นายทวีศักดิ์ ยังเสริมอีกว่า “สำหรับปี 2553 นี้ ในประเทศไทย การนำข้อมูลด้าน Social Network มาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จะเป็นตัวชี้วัดความเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจที่ดีอีกวิธีหนึ่ง (Social Network Analysis) ทั้งการนำโซลูชั่นด้านการตลาด (Customer Intelligence) การบริหารจัดการด้านความเสี่ยง (Risk Intelligence) และระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytic Framework) มาใช้สร้างความแตกต่างในธุรกิจ เป็นโซลูชั่นที่จำเป็น โดยแซส ประเทศไทย จะมุ่งเน้นและลงทุนด้านบุคคลากรในการนำเสนอแก่ลูกค้าด้านดังกล่าวมากยิ่งขึ้นในปีนี้ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 50% ในปีนี้”
เกี่ยวกับบริษัท แซส
บริษัท แซส เป็นผู้นำในตลาดซอฟแวร์และบริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุกิจ (Business Analytics) ด้วยโซลูชั่นเชิงนวัตกรรมที่ส่งมอบให้ลูกค้าในรูปของ Integrated Framework ทำให้บริษัท แซส สามารถช่วยลูกค้าที่นำโซลูชั่นของแซสไปใช้แล้ว ได้มากกว่า 45,000 แห่งทั่วโลก ในการปรับปรุงประสิทธิภาพและส่งมอบมูลค่าผ่านการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีและรวดเร็วขึ้น นับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็น พลังแห่งการรอบรู้ (The Power to Know) ให้กับลูกค้าทั่วโลก
ชื่อผลิตภัณฑ์หรือบริการของ SAS และ SAS Institute Inc. เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน หรือเครื่องหมายการค้าของ SAS Institute Inc. ในสหรัฐและประเทศอื่นๆ โดย จะระบุว่าเป็นการจดทะเบียนในสหรัฐ ส่วนชื่อยี่ห้อและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทนั้นๆ ลิขสิทธิ์ 2010 SAS Institute Inc. สงวนลิขสิทธิ์