กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--สกว.
รวมองค์ความรู้ผลิต “ลำไยนอกฤดู” ลดความเสี่ยงปัจจัยสิ่งแวดล้อม การตลาดที่แปรผัน เพิ่มทางเลือกเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ชี้หากมีการจัดการอุปสงค์-อุปทานที่ดี ช่วยหนุนให้ระบบการผลิตลำไยไทยครบวงจรมากขึ้น และสามารถพัฒนาลำไยให้มีคุณภาพแข่งขันได้ในตลาดโลก
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกลำไยมีสูงถึง 1 ล้านไร่ ทำให้ผลผลิตลำไยล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไยในฤดู(เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) โดยลำไยผลใหญ่สุดได้แก่ ลำไยเกรด AA มีราคาเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท ลำไยเกรด A มีราคากิโลกรัมละ 5 บาท และลำไยเกรด B มีราคาเพียงกิโลกรัมละ 3 บาทเท่านั้น ทำให้เกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาการขาดทุน ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาทางแก้ไข ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการกระจายการผลิตลำไยให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี โดยครอบคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ผลิตลำไยทั้งหมด แต่ยังพบว่าการผลิตลำไยนอกฤดูมีต้นทุนการผลิตสูงและระบบการจัดการผลผลิตมีความยุ่งยากซับซ้อน ตลอดจนมีความเสี่ยงสูงกว่าการผลิตในฤดูหลายเท่าตัว เนื่องจากในทุกขั้นตอนการผลิตล้วนมีข้อจำกัดในเรื่องของปัจจัยสิ่งแวดล้อมและการตลาดที่แปรผันอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้มีการรวบรวมงานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูด้านต่างๆไว้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิ งานวิจัยเรื่อง “การตัดแต่งกิ่งเพื่อลดขนาดทรงพุ่ม” โดย ผศ.พาวิน มะโนชัย คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ผศ.พาวิน กล่าวว่า ต้นลำไยที่มีทรงพุ่มสูงใหญ่แม้จะให้ผลผลิตต่อต้นสูง แต่ก็ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย ทั้งยังไม่สะดวกต่อการดูแลรักษา เนื่องจากต้องใช้แรงงานที่มีความชำนาญในการเก็บเกี่ยว และการปรับปรุงผลผลิตให้ได้คุณภาพทำได้ยากกว่าลำไยทรงต้นเตี้ย จึงคิดว่าน่าจะทำการศึกษาเรื่องการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มของลำไย โดยในเบื้องต้นได้ทดลองหาความสูงที่เหมาะสมของการตัดแต่งกิ่งควบคุมทรงพุ่มเพื่อผลิตลำไยทรงเตี้ย ผลการทดลองพบว่า การตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มที่ระดับความสูง 2 เมตร ทำให้ลำไยมีเปอร์เซ็นต์การแตกใบและจำนวนกิ่งกระโดงต่อต้นมากที่สุด ทั้งนี้อาจเกิดจากการกิ่งลำไยที่ถูกตัดออกในปริมาณมากจึงแตกใบและกิ่งกระโดงชดเชยกิ่งที่ถูกตัดออก นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมดุลของฮอร์โมน ซึ่งมีผลต่อการแตกตา ออกดอก และจำนวนผลต่อช่อของกิ่งในทุกการทดลอง แต่ช่อดอกที่เกิดจากกิ่งของต้นมีการตัดแต่งที่ระดับความสูง 2 เมตรมีจำนวนผลต่อช่อมากที่สุด คือมีปริมาณผลผลิตลดลง แต่ผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพดีกว่า คือมีผลขนาดใหญ่และน้ำหนักผลมากกว่าต้นที่ไม่ควบคุมความสูง ทำให้จำหน่ายลำไยได้ในราคาสูงตามไปด้วย
ส่วนลำไยที่ตัดแต่งที่ระดับความสูง 3 เมตรให้ผลผลิตไม่แตกต่างจากต้นที่ไม่ควบคุมความสูง ทั้งนี้เนื่องจากต้นที่ตัดแต่งสูง 3 เมตร มีพื้นที่ออกดอกติดผลด้านข้างทรงพุ่มมากกว่าทรงสูง 2 เมตรและกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มถูกตัดออกน้อยทำให้กิ่งกระโดงที่เกิดขึ้นเพียงพอที่จะชดเชยกิ่งที่สูญเสียไป อย่างไรก็ตามจากการนำผลผลิตจำหน่ายในรูปผลสดบรรจุตะกร้า พบว่าลำไยต้นที่ตัดทรงสูง 2 เมตร มีรายได้ต่อต้นน้อยที่สุด แต่ผลตอบแทนที่ได้ไม่แตกต่างจากต้นที่ทรงสูง 3 เมตรและต้นไม่ควบคุมทรงพุ่ม แต่ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากการตัดแต่งกิ่งลำไยที่ขนาดความสูง 2 เมตรก็คือ ต้นทุนการผลิตที่ลดลงถึง 50% เนื่องจากสะดวกต่อการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งจะแก้ไขปัญหาด้านแรงงานเก็บเกี่ยวและยังง่ายต่อการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาด
ผศ.พาวิน กล่าวอีกว่า องค์ความรู้ของเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูนี้มีเป้าหมายเพื่อผลิตลำไยนอกฤดูให้มีมาตรฐาน ต้นทุนต่ำ ซึ่งขณะนี้ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวสู่เกษตรกรจำนวน 300 ราย จาก 10 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการจัดทำคู่มือ ศึกษาดูงาน การสร้างแปลงสาธิตตามอำเภอต่างๆ ตลอดจนให้คำแนะนำถึงแปลงลำไยเกษตรกร นอกจากนี้ยังได้เชื่อมโยงกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการให้ทุนกู้ยืมเพื่อการผลิตลำไยนอกฤดู หรือหน่วยงานอย่างสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 ยังให้คำแนะนำด้านมาตรฐานการผลิต(GAP) การส่งออกหรือรับซื้อผลผลิต ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมานี้ทำให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตลำไยได้ราคาสูงขึ้น 2-5 เท่ามากกว่าลำไยในฤดูกาล เช่นช่วงเดือนธันวาคมปีนี้เกษตรกรสามารถจำหน่ายลำไย เกรด AA ในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 35 บาทเลยทีเดียว
ด้าน รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า งานวิจัยด้านลำไยของสกว.นั้นเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทุกด้าน อย่างการตลาดพบว่าในอนาคตไทย จีน เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย จะมีปริมาณลำไยสดมากขึ้น เนื่องจากมีการขยายพื้นที่ปลูกและจะมีลำไยแปรรูปมากขึ้นด้วย ขณะที่ความต้องการลำไยสดจะคงที่และค่อยๆลดลงเนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย และการขยายตลาดในประเทศตะวันตกทำได้ยาก เนื่องจากความหวานและรสที่ไม่สอดคล้องกับรสนิยมการบริโภค ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารกระป๋องลดลง ในขณะที่ผลผลิตลำไยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาตลาดลำไยในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ของตลาดจีนและกลุ่มประเทศใกล้เคียง เพื่อใช้ประกอบการปรับตัวและวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ ทั้งนี้องค์ความรู้เหล่านี้จะทำให้การผลิตลำไยมีคุณภาพได้มาตรฐาน แข่งขันในตลาดโลกได้
“องค์ความรู้เรื่องการผลิตลำไยนอกฤดูที่ สกว.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจนประสบผลสำเร็จในครั้งนี้ น่าจะใช้เป็นโมเดลในการบริหารจัดการพืชผักผลไม้เศรษฐกิจของประเทศได้ ยิ่งมีการเปิดเสรีทางการค้า ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคสินค้าได้หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่อยู่ในระบบการผลิตจึงต้องมีการจัดการความรู้เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์”