กทม. ห่วงใยผู้บริโภคช่วงตรุษจีน ลงพื้นที่ตรวจเข้มโรงฆ่าสัตว์ปีกย่านวัฒนา

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2010 07:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กทม. รองผู้ว่าฯ มาลินี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงฆ่าสัตว์ปีกย่านวัฒนา พร้อมประเมินสภาพและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการชำแหละสัตว์ วางมาตรการเข้มตั้งด่านตรวจการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก แนะประชาชนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสายรัดขา ตามโครงการเนื้อสัตว์ปีกปลอดภัยฉลองตรุษจีน ปี 53 แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโรงฆ่าสัตว์ปีกบริเวณ ซ.ปรีดีพนมยงค์ 44 ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา พร้อมตรวจสุขลักษณะและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ในมาตรการดูแลป้องกันโรคไข้หวัดนก เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2553 โดยมีนายจรูญ มีธนาถาวร ผู้อำนวยการเขตวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักอนามัย ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์โรงฆ่าสัตว์ปีกในพื้นที่ และมาตรการการดูแลป้องกันปัญหาไข้หวัดนก ในเทศกาลตรุษจีน ณ ห้องประชุม บริษัท คลองตันค้าสัตว์ (1987) จำกัด เขตวัฒนา แนะประชาชนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสายรัดขา ตามโครงการเนื้อสัตว์ปีกปลอดภัยฉลองตรุษจีนปี 53 กรุงเทพมหานครได้เตรียมมาตรการเข้มงวดเฝ้าระวังในช่วงเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้ามาในกรุงเทพมหานครจำนวนมาก โดยร่วมกับกรมปศุสัตว์ตั้งด่านตรวจสัตว์ตามถนนที่เป็นเส้นทางการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ทั้งจากจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ โดยตั้งจุดตรวจประจำ จำนวน 7 จุด ซึ่งการเคลื่อนย้ายสัตว์จะต้องมีใบอนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ภายในราชอาณาจักร ถ้าหากไม่มีใบอนุญาตในการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก เจ้าหน้าที่จะกักกันสัตว์ทั้งหมดไว้ และจะผลักดันออกนอกเขตเพื่อความปลอดภัยต่อไป สำหรับประชาชนที่จะซื้อสัตว์ปีกในช่วงเทศกาลตรุษจีน ควรจะเลือกซื้อสัตว์ปีกที่มีสัญลักษณ์รับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จากกรมปศุสัตว์ สำหรับปี 2553 จะเป็นสายรัดขาสัตว์ปีก (Soal) ซึ่งจะติดที่สัตว์ปีกเป็นรายตัวทุกตัว โดยสายรัดจะต้องระบุหมายเลขกำกับไว้ ซึ่งเป็นไปตามโครงการ “เนื้อสัตว์ปีกปลอดภัยฉลองตรุษจีน ปี 2553” รวมถึงการมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีในการจำหน่าย เช่นสวมผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดจมูก ถุงมือ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ การวางจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกต้องวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร การทำความสะอาดบริเวณแผง เขียงและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องหลังการขาย รวมถึงผู้ประกอบการตลาดต้องจัดให้มีการล้างทำความสะอาดตลาดอย่างสม่ำเสมอ วางมาตรการเข้มตรวจสุขลักษณะและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ปีก กรุงเทพมหานครมีสถานประกอบกิจการฆ่าสัตว์ปีกจำนวน 42 ราย โดยมีการฆ่าสัตว์ปีกประมาณวันละ 188,000 ตัว ซึ่งสถานประกอบกิจการฆ่าสัตว์ปีกต้องปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขลักษณะในการประกอบกิจการประเภทโรงฆ่าสัตว์ปีก 10 ข้อ ที่จัดทำโดยสำนักอนามัย ซึ่งประกอบด้วย การปรับปรุงพื้น ไม่ให้มีรอยแตกหรือชำรุด อาจปูกระเบื้องแทนพื้นปูน เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด โดยให้ทำความสะอาดพื้นที่ประกอบการด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำทุกวันหลังปฏิบัติงาน การจัดแบ่งพื้นที่ การประกอบการในแต่ละขั้นตอนให้เป็นสัดส่วนไม่ให้ปนเปื้อนกัน ส่วนที่พักสัตว์ก่อนเชือดต้องจัดการให้ถูกสุขลักษณะ แยกออกจากพื้นที่เชือดและพื้นที่ชำแหละ การจัดให้มีระบบป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นจากสัตว์ ขนสัตว์ หรือละอองเลือด การฆ่าและชำแหละต้องดำเนินการในสถานที่ปกปิดมิดชิด ไม่กระทำการโดยเป็นที่อุจาดตาแก่ประชาชน ส่วนบริเวณที่ทำการฆ่าและชำแหละต้องถูกสุขลักษณะ ปราศจากการปนเปื้อน โดยในส่วนที่วางชิ้นส่วนของสัตว์ต้องอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร อุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่าและชำแหละสัตว์ทุกชนิดต้องมีความสะอาด โดยต้องทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังการฆ่าและชำแหละทุกครั้ง จัดให้มีภาชนะสำหรับเก็บเศษชิ้นเนื้อ ซาก เลือด และขนของสัตว์ที่ฆ่าและชำแหละ ที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน และมีระบบการเก็บขนไปทำลายด้วยวิธีที่ถูกต้อง ตลอดจนห้ามจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ที่พร้อมบริโภคในบริเวณสถานประกอบการฆ่าสัตว์ สำหรับผู้ที่ทำการฆ่าและชำแหละสัตว์ต้องแต่งกายมิดชิด โดยชุดที่ใส่ต้องประกอบด้วย ที่คลุมศีรษะ ผ้าปิดปาก ถุงมือยาง ผ้ากันเปื้อน รองเท้ายาง และต้องไม่ใส่เครื่องประดับทุกชนิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคสู่เนื้อสัตว์และป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน ทั้งนี้ให้มีการตรวจสุขภาพของผู้ที่ทำการฆ่าและชำแหละสัตว์อย่างสม่ำเสมอ นำร่องระบบตรวจสอบย้อนกลับ สร้างความมั่นใจและคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ด้านสำนักอนามัยได้จัดทำโครงการนำร่องการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ของผู้ประกอบการชำแหละสัตว์ปีกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านการผลิตเนื้อสัตว์ปีกในโรงชำแหละสัตว์ปีก การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์โดยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่นการเลือกซื้อสัตว์ปีกที่มาจากฟาร์มมาตรฐาน การจัดทำบรรจุภัณฑ์ที่ระบุรหัสสถานที่ผลิตที่ชัดเจน และหมายเลขชุดผลิต (Lot No.) โดยผู้ประกอบกิจการทำการบันทึกข้อมูลการผลิตลงสู่ฐานข้อมูลของสำนักอนามัย เพื่อให้ผู้บริโภคนำรหัสนี้ไปใช้สำหรับการตรวจสอบข้อมูลแหล่งผลิตเนื้อสัตว์ได้ โดยการตรวจสอบจากฐานข้อมูลระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ของสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ผ่านทางเว็บไซต์ www.vphbma.com และผ่านระบบ SMS หมายเลข 4545111 ซึ่งในเทศกาลตรุษจีนนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 15 ราย จากสถานประกอบการจำนวน 42 ราย โดยกรุงเทพมหานครได้จัดทำถุงสำหรับบรรจุเนื้อสัตว์ปีก จำนวน 30,000 ใบ เพื่อแจกให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เป็นการสร้างความมั่นใจและคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคสัตว์ปีก สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนทราบถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์สามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ