กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
วันนี้ (๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ พลเรือตรี รังสิทธิ์ ปาณินท์ ผู้บัญชาการกองเรือตรวจอ่าว เป็นประธานในพิธีบวงสรวงและยิงปืนถวาย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ เขาแหลมปู่เจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากนั้นให้โอวาทแก่ข้าราชการในสังกัด นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ อีก ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีสงฆ์ การปล่อยปลา และการแข่งขันกีฬาฟุตบอล
กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ ถือกำเนิดมาตั้งแต่วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ เมื่อครั้งที่ กองทัพเรือพิจารณาเปลี่ยนชื่อ "กองเรือรบ" เป็น "กองเรือยุทธการ" และได้รวมกิจการของหมวดเรือปืน และหมวดเรือใช้ตอร์ปิโด เป็นหน่วยเดียวกัน ใช้ชื่อใหม่ว่า "กองเรือตรวจอ่าว" เป็นหน่วยขึ้นตรงกองเรือยุทธการ มีภารกิจในการจัดเตรียมกำลัง สำหรับการปฏิบัติการรบผิวน้ำ มีกำลังทางเรือ ตามโครงสร้างใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ ประกอบด้วยเรือประเภทต่าง ๆ ๔ ประเภท ได้แก่ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือยนต์เร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถี เรือยนต์เร็วโจมตีปืน และเรือตรวจการณ์ปืน รวมทั้งสิ้น ๒๐ ลำ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองเรือตรวจอ่าวได้จัดเรือออกปฏิบัติราชการในหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จนกล่าวได้ว่า "มีเรือของกองเรือตรวจอ่าวปฏิบัติราชการอยู่ในทะเลตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง"
กองเรือตรวจอ่าวมีพัฒนาการมาเป็นลำดับจากเรือปืนและเรือใช้ตอร์ปิโดในอดีต จนถึง พุทธศักราช ๒๕๑๖ กองทัพเรือได้ขึ้นระวางประจำการ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถี ลำแรกของกองทัพเรือ จากนั้นเรือเร็วยนต์โจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถีชุด เรือหลวงปราบปรปักษ์ ชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ และเรือยนต์เร็วโจมตีปืนชุด เรือหลวงชลบุรี ก็ขึ้นระวางประจำการสังกัดกองเรือตรวจอ่าวในเวลาต่อมา ซึ่งกล่าวได้ว่ากองเรือตรวจอ่าวได้ก้าวเข้ามาสู่ยุคของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จนถึงปัจจุบันกองเรือตรวจอ่าว ได้รับ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จำนวน ๒ ลำ ได้แก่ เรือหลวงปัตตานี และ เรือหลวงนราธิวาส ไว้ใช้ราชการ ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่สามารถนำเฮลิคอปเตอร์ไปปฏิบัติงานร่วมกับเรือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จึงนับเป็นครั้งแรกอีกครั้งของกองเรือตรวจอ่าวที่มีเรือที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าประจำการ นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมให้กำลังพลมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และจัดตั้งศูนย์องค์ความรู้ปฏิบัติการรบผิวน้ำและสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ พัฒนา ปรับปรุงยุทธวิธีและหลักนิยมด้านปฏิบัติการรบผิวน้ำและสงครามอิเล็กทรอนิกส์ให้ทันสมัยเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน (ที่มา : กตอ.กร.)
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐-๒๔๗๕-๕๗๓๓,๐-๒๔๖๕-๓๐๑๘, ๐ ๒๔๗๕ ๕๑๘๔ แฟกซ์ ๐-๒๔๗๕-๕๗๓๒ ,๐-๒๔๖๖-๑๘๑๑