กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กทม.
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตนและคณะ ประกอบด้วย ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอรรถพร สุวัธนเดชา ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ผู้บริหารสำนักการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการเรียนการสอนที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 2—3 ก.พ. 53 ที่ผ่านมา ซึ่งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจัดการเรียนการสอน โดยยึดหลักปรัชญา "การศึกษาพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์" และมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข เต็มศักยภาพ เป็นคนดีและคนเก่ง สอดคล้องกับวิถีชีวิตและกลมกลืนกับวิทยาการสมัยใหม่ สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยคุณธรรม ภูมิปัญญา และสำนึกในความเป็นพลเมืองดี สำหรับการจัดการเรียนการสอนจะไม่มีหนังสือเรียน แต่จะฝึกและส่งเสริมให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าหาความรู้และคำตอบจากคิด เรียนรู้จริงจากการปฏิบัติ อินเตอร์เน็ต และห้องสมุด ไม่มีการสอบวัดผล แต่จะใช้วิธีประเมินจากสภาพของเด็กและพัฒนาการชิ้นงานที่ทำแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ สำหรับกิจกรรมหน้าเสาธงตอนเช้ามีการเคารพธงชาติ สวดมนต์ ไหว้พระ ไม่มีการอบรมนักเรียนหน้าเสาธง นักเรียนจะแยกย้ายเข้าห้องเรียนทันที บริเวณพื้นที่หน้าอาคารจะวาดรูปภาพ เพิ่มทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนก่อนเข้าห้องเรียน นักเรียนทุกคนจะไหว้และโอบกอดคุณครูทุกๆ เช้าเป็นประจำทุกวัน เปิดเพลงบรรเลงเพื่อกระตุ้นเซลล์สมองของเด็กในตอนเช้า รวมถึงกิจกรรมจิตศึกษาให้เด็กนั่งล้อมกันเป็นวงกลมตามจุดของตัวเอง แล้วเริ่มทำกิจกรรมตามที่คุณครูคอยแนะนำ โดยเปิดสอนเพียง 3 วิชา ประกอบด้วย ภาษาไทย อังกฤษ และคณิตศาสตร์ และตั้งปณิธานครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา 5 ข้อว่า 1. ย้อนคิดถึงวัยเด็กว่า เราอยากได้ครูอย่างไรเราก็ปฏิบัติอย่างนั้น 2. รักเด็กทุกคน ให้เกียรติ หาข้อดีและเสริมพลังให้เป็นคนดีมากขึ้น 3. ไม่ยอมปล่อยให้เด็กในห้องล้มเหลวแม้แต่คนเดียว 4. ไม่ยอมปล่อยให้เวลาสูญเปล่า พัฒนาตนเองให้เป็นครูที่ดียิ่งขึ้น และ 5.เมื่อเป็นครูที่ดีไม่ได้เราจะไปทำอาชีพอื่น
ทั้งนี้โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเกิดจากแนวคิดของนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ที่ต้องการให้มีโรงเรียนที่เป็นแบบอย่างในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สร้างเยาวชนให้เป็นคนดีของประเทศ ให้เด็กชนบทมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเด็กในเมือง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของนายเจมส์ คลาร์ค ชาวอังกฤษ ที่มีโอกาสสัมผัสกับระบบการศึกษาไทยในชนบทอย่างใกล้ชิด ซึ่งนายเจมส์ คลาร์ค สนับสนุนโครงการทุนการศึกษานักเรียนของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา นอกจากนี้มูลนิธิเจมส์คลาร์คแห่งประเทศอังกฤษได้ผู้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนฯ โดยลงนามบันทึกความร่วมมือในวันที่ 8 สิงหาคม 2544 และทำพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มิถุนายน 2546 ซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกภาคเรียนที่ 1/2546 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 46 ด้วยวิธีจับฉลากคัดเลือกเด็กจากเด็กทั่วไปในอำเภอลำปลายมาศเข้าเรียนใน 3 ชั้นเรียน ได้แก่ ชั้นอนุบาล 1 ชั้นอนุบาล 2 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ระดับละ 1 ห้อง ห้องละประมาณ 30 คน เข้าเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่มีข้อพิจารณาสำคัญคือ ผู้ปกครองต้องสามารถรับส่งนักเรียนได้ทุกวัน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมกับโรงเรียน โดยกำหนดเปิดชั้นเรียนระดับสูงขึ้นทุกปีเพื่อรองรับนักเรียนจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งขณะนี้จัดการเรียนการสอนถึงชั้นมัธยมที่ 1 มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 240 คน
นอกจากนี้ได้ดูงานโครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้านและห้องสมุดของเล่น ในพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ เยี่ยมชมกิจกรรมเยาวชนบ้านลิ่มทอง โครงการคลองส่งน้ำชุมชน ดูงานพัฒนาชุมชนบ้านหนองตาเข้ม อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยจะนำสิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้มาปรับและประยุกต์ใช้กับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้มีความสอดคล้องกับสภาพ และสิ่งแวดล้อม ในการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีความสุข สนุกกับการเรียน พร้อมทั้งพัฒนาสมอง และศักยภาพของเด็กในด้านต่างๆ ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม