ปภ.แจ้งเตือนประชาชนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองระหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์นี้

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2010 10:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออกรวม 47 จังหวัด แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ในระหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2553 พร้อมสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือให้อยู่ ในสภาพพร้อมใช้งานในทันทีที่เกิดภัย นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกจะมีสภาพอากาศแปรปรวนทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในระยะ 3-4 วันนี้ (วันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2553) ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต ทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่เสี่ยงภัย 47 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 47 จังหวัดดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง โดยตัดแต่งกิ่งไม้ บริเวณชุมชนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และดูแลผลผลิตทางเกษตรเป็นพิเศษ รวมถึงตรวจสอบป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง หากอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยหรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแก้ไขโดยด่วนต่อไป รวมทั้งสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยของจังหวัด เพื่อสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 47 จังหวัดระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือสื่อสารและโทรศัพท์มือ หรือสวมใส่อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทั้งเงิน ทองแดง นาก ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่า รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูงเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ