กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีมีบริษัทร้องเรียนเกี่ยวกับการประมูลเช่าระบบและพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ ว่า ตามที่มีผู้ร้องเรียนโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 51 และมีกำหนดส่งเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 20,574 เครื่อง ภายในปีการศึกษานี้นั้น ข้อร้องเรียนประกอบด้วย การที่กำหนดมาตรฐาน มอก.1956-2548 เพียงอย่างเดียวไม่มีการกำหนด มอก.1561-2548 ซึ่งสำนักการศึกษาและคณะกรรมการกำหนดขอบเขตของงานได้พิจารณาร่วมกันแล้วและมีความเห็นว่าการกำหนด มาตรฐานมอก.1956-2548 เพียงอย่างเดียวถือว่าเพียงพอแล้ว เนื่องจากสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์จะเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ได้มาตรฐาน UL หรือเทียบเท่า มอก.1561-2548 จากต่างประเทศอยู่แล้ว หากมีการกำหนดมอก.1561-2548 ด้วยจะทำให้มีบริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมีจำนวนน้อยลง ไม่เป็นการเปิดกว้างในการประมูลให้แก่บริษัทอื่น ทั้งนี้มีหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่กำหนด มอก.1956-2548 เพียงมอก.เดียว เช่นกัน
สำหรับประเด็นข้อร้องเรียนเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ที่ใช้ต้องเป็นของบ.ไมโครซอฟต์ โดย TOR กำหนดว่าซอฟต์แวร์จะต้องไม่ต่ำกว่าไมโครซอฟต์ 2003 หรือ version ล่าสุด และกรุงเทพมหานครได้รับการชี้แจงจากบ.ไมโครซอฟต์ว่าโปรแกรมดังกล่าวมีตัวแทนจำหน่ายไม่น้อยกว่า 5 ราย ทั้งนี้หากบริษัทใดเห็นว่าซอฟต์แวร์ของตนมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าที่ TOR กำหนดก็สามารถยื่นการประมูลเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาได้ นอกจากนี้ในประเด็นข้อร้องเรียนที่เสนอให้แยกการประมูลระหว่างระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ คณะกรรมการกำหนด TOR เห็นว่าไม่ควรแยกการประมูล เพราะต้องการให้เกิดความสะดวกในการบำรุงรักษาเนื่องจากมีผู้รับผิดชอบเพียงรายเดียว และกทม.จะได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการด้วย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องที่มีความสำคัญต่อระบบการศึกษาของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ดังนั้นคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะเร่งรัดการดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยตั้งอยู่บนความโปร่งใส ยุติธรรม และผลประโยชน์ของกรุงเทพมหานครเป็นหลัก