กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--พีอาร์พีเดีย
นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมว.พม. นำขบวนภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน ศิลปิน และประชาชน ร่วมเดินรณรงค์ในงาน “มหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” ตั้งเป้ารวมพลังลดปัญหาความรุนแรงตลอดปี ๒๕๕๓
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดงาน “มหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” หรือไวท์ ริบบอนเยียร์ จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว นำโดยนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บริหารกระทรวง และภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ศิลปิน ดารา ประชาชนทุกฝ่าย ระดมสมองเสวนาหาหนทางแก้ไขปัญหาความรุนแรง จัดแสดงนิทรรศการความรู้ และการแสดง สาระบันเทิงตลอดวัน ณ ศูนย์การค้า เจ เจ มอลล์ หวังกระตุ้นทุกฝ่ายตระหนักถึงบทบาทการเป็นส่วนหนึ่งของการยุติปัญหาความรุนแรง รณรงค์ประชาชนติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว เตือนใจ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำ ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดงานมหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวว่า “รัฐบาลตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการจัดการกับปัญหาความรุนแรง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งในแต่ละปี ประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และผู้ถูกกระทำต้องสูญเสียรายได้ไปจากการกระทำความรุนแรงกว่า ๓๖,๐๐๐ ล้านบาท”
“เรามุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นภารกิจที่ท้าทาย ด้วยการพัฒนามาตรการ กลไก ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิบุคคลในครอบครัวจากความรุนแรง ไม่ถูกกระทำซ้ำ ในขณะเดียวกันก็มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรง กฎหมายฉบับนี้ ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ผู้พบเห็นหรือทราบการกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่ ที่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงก่อนที่จะเกินเยียวยา เราต้องสร้างกระแสสังคมให้เห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของสังคมที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล”
“ผมเชื่อว่า กลยุทธ์ที่จะทำให้การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวประสบความสำเร็จ คือการหาแนวร่วมจากเครือข่ายสื่อมวลชนซึ่งเป็นกลไกหลักที่สำคัญประการหนึ่งที่จะเอื้อต่อการจัดการกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลต่อทัศนคติ ความเชื่อและพฤติกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังต้องสร้างแนวร่วมให้ผู้ชายยุคใหม่เข้ามาเป็นเครือข่ายในการรวมพลังเพื่อรณรงค์ลด ละ เลิกการกระทำความรุนแรง รวมทั้งการทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนเจตคติของทั้งหญิงและชาย โดยเริ่มตั้งแต่การปรับทัศนคติของครอบครัวระหว่างคู่สามีภรรยา เช่น การแบ่งงานในครอบครัว”
“การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสสังคมที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมด้วยช่วยกันในการยุติปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป ดังนั้น ผมขอฝากอีกครั้งว่าทุกคนที่พบเห็นความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และความรุนแรงในครอบครัว ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าไปให้ความคุ้มครองช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยอาจแจ้งผ่านศูนย์ประชาบดี โทร ๑๓๐๐ โทรฟรี ทั่วประเทศ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือผ่านทางช่องทางอื่น ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน”
ด้านนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในด้านนโยบาย ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว มีภารกิจหลักที่สำคัญประการหนึ่งคือการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ไปสู่การบังคับใช้อย่างจริงจัง การที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นปัญหาและมีทางออกอย่างเหมาะสม ตลอดจนสร้างกระแสสังคมให้มีความตื่นตัวและร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้จัดกิจกรรมมหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวการรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ซึ่งจะดำเนินการไปตลอดปี ๒๕๕๓ สร้างกระแสการรณรงค์เชิญชวนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและประชาชนร่วมเป็นพลังยุติความรุนแรงฯ ด้วยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรง” ต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว อย่างต่อเนื่องตลอดปี ๒๕๕๓ และเชิญชวนให้ประชาชนร่วมติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว เพื่อแสดงสัญลักษณ์เตือนใจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความรุนแรง”
การจัดงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” นอกจากนี้ยังมีการแสดงของเหล่าศิลปิน ดารา นักแสดงที่มีชื่อเสียง เช่น เคน ธีรเดช แอน ทองประสม เบนซ์ พรชิตา โฬม พัชตะ คุณต๊ะ วริษฐ์ ซึ่งได้มาร่วมเสวนาพูดคุย เชิญชวนให้รวมพลังร่วมยุติความรุนแรงฯ มีการแสดงต่าง ๆ บนเวที เช่น การแสดงของเหล่าศิลปินจากโรงเรียนซุปเปอร์สตาร์ อะคาเดมี การร้องเพลง และตอบคำถามชิงรางวัลภายในงาน รวมทั้งการจัดซุ้มนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้ร่วมงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว และนายกรัฐมนตรี รมว. พม. ร่วมกับศิลปิน ดารา แขกผู้มีเกียรติ ผู้เข้าร่วมงานและประชาชนทั่วไปยังได้ร่วมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายในบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักรอีกด้วย
หลังจากเปิดตัวงานมหกรรมปีแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีแผนที่จะดำเนินการรณรงค์ตลอดปี ๒๕๕๓ อันดับแรกที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดงานคาราวานสตรีและครอบครัว ระหว่างวันที่ ๑๒ — ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในงานจะประกอบด้วยการเดินรณรงค์ “พลังแม่ พลังครอบครัว เป็นรั้วป้องกันยาเสพติด” การแสดงคอนเสิร์ต “คาราวานสตรีและครอบครัว” การปล่อย “คาราวานค่ายครอบครัวสู่จังหวัดจันทบุรี” การแสดงทอล์คโชว์ นิทรรศการที่เกี่ยวข้องและการนำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จของเครือข่ายสตรีและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดจัดกิจกรรมวันสตรีสากล และในการจัดงานดังกล่าวจะมีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นข้อตกลงความร่วมมือของกระทรวงและหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว การจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ พนักงานอัยการ ผู้ประนีประนอม ตลอดปีงบประมาณ ๒๕๕๓ การจัดงานสมัชชาสตรีและครอบครัว การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น (แม่วัยใส) การจัดกิจกรรมตามโครงการพาลูกจูงหลานเข้าวัด โบสถ์ มัสยิด เพื่อให้ครอบครัวมีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว การจัดกิจกรรมตามโครงการพลังแม่ พลังครอบครัว เป็นรั้วป้องกันยาเสพติด เป็นต้น