ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าปี 53 เป็นปีแห่งการเตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นธนาคารครบวงจรระดับภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 8, 2010 15:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าปี 53 เป็นปีแห่งการเตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นธนาคารครบวงจรระดับภูมิภาค วาง 3 กลยุทธ์หลักในการเพิ่มรายได้และเสริมสร้างศักยภาพให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เร่งวางรากฐานเพื่อดำเนินธุรกิจเชิงรุกอย่างเต็มที่ เตรียมออกผลิตภัณฑ์ ตลอดปี 2553 พร้อมทั้งเน้น3 กลยุทธ์หลัก เพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม และรายได้จากดอกเบี้ยสินเชื่อ ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) นำทีมผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแถลงถึงทิศทางและแผนธุรกิจของธนาคารในปี 2553 ว่าหลังจากที่เมื่อปี 2552 ธนาคารได้พัฒนากระบวนการและระบบงานภายใน ตลอดจนจัดการปัญหาหลักๆ อันได้แก่ การแก้ไขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( NPL) การปรับโครงสร้างเงินฝากให้มีสัดส่วนเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะในด้านบริหารเงินและด้านวาณิชธนกิจซึ่ง ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าสถาบันหลายรายในการทำธุรกรรม อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่ธนาคารสามารถพลิกมีกำไรสุทธิหลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี สำหรับแผนธุรกิจหลักในปี 2553 นี้ธนาคารจะยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้โดยผ่านการบริหารจัดการใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ การจัดการต้นทุนเงินฝาก โดยจะมุ่งเพิ่มสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันอย่างต่อเนื่อง จากต้นปี 52 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 15-16% และได้ปรับมาเป็น 25% ในปลายปี 52 ซึ่งในปี 53 นี้ ตั้งเป้าหมายที่จะปรับขึ้นมาเป็นประมาณ 30% โดยธนาคารจะเร่งขยายบริการด้าน Cash Management l การจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยผสมผสานเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันในการให้บริการด้าน Wealth Management การออกตั๋ว BE และขยายฐาน Structured Deposit ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ประการที่ 2 คือการเพิ่มรายได้จากดอกเบี้ยสินเชื่อ ซึ่งจะมุ่งขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ กล่าวคือด้านรายย่อย รุกขยายเน้นสร้างฐานสินเชื่อเคหะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและสามารถต่อยอดในการทำธุรกิจ เช่น Cross-Sale ได้ ควบคู่ไปกับการขยายสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) ต่างๆ ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารมีแผนจะออกบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจขนาดย่อมที่มีวงเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาทเพิ่มมากขึ้น และในส่วนของสายบรรษัทธุรกิจ (Corporate) ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากนั้น จะเน้นที่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับลูกค้าองค์กรระดับกลาง รวมถึงลูกค้ากลุ่มที่เน้นด้านอนุรักษ์พลังงาน และผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งเป็นจุดเด่นของกลุ่มซีไอเอ็มบีอีกด้วย ประการที่ 3 การเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม ประกอบด้วย ธุรกรรมด้าน Transaction Banking, บริการด้านรายย่อย เช่น Structured notes, กองทุน, ธุรกิจประกัน ( Bancassurance ) บัตรเครดิต และบริการแลกเปลี่ยนเงินตรา ขณะที่ด้านเอสเอ็มอี จะเน้นกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมการส่งออก และ Cash Management ตลอดจนการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบเกี่ยวเนื่องกัน ( Cross Product ) ส่วนลูกค้าองค์กร ( Corporate ) จะเน้นธุรกิจส่งออกและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ รวมถึงการหารายได้จากธุรกรรมบริหารเงิน (Treasury) พร้อมทั้งการปล่อยกู้ในโครงการที่เป็น Project Financing ที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาล การเพิ่มธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ และการออกพันธบัตรอิสลาม ( Sukuk Bond ) ซึ่งถือเป็นธุรกรรมใหม่สำหรับประเทศไทย “ ธนาคารได้วางเป้าการเติบโตของสินเชื่อรวมในปี 53 นี้ไว้ประมาณ 10-15% ขณะที่ตั้งเป้าอัตราการเติบโตด้านเงินฝากประมาณ 10-15% เช่นกัน ส่วนอัตราการขยายตัวของรายได้จากค่าธรรมเนียมใหม่อยู่ประมาณ 35-40% “ นายสุภัค กล่าว นายสุภัค ยังกล่าวว่า ในปี 2553 นี้ ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการวางรากฐานของธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย เพื่อสร้างความพร้อมในการรุกธุรกิจอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากแผนงานด้านธุรกิจต่างๆแล้ว ธนาคารยังต้องเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น กระบวนการบริหารความเสี่ยง การพัฒนาด้าน IT, การผนึกกำลังร่วมกับบริษัทในเครือ และการสร้างความเป็นปึกแผ่นในเชิงธุรกิจของกลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบีในประเทศไทย นอกจากนี้ธนาคารจะพยายามใช้ประโยชน์จากการเป็นเครือข่ายในกลุ่ม CIMB ให้เต็มที่มากขึ้น เช่น การแนะนำลูกค้าในกลุ่ม หรือการเข้าไปหาตลาดใหม่ๆ ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ เพื่อให้ชื่อของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ธนาคารยังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ที่ตอบรับมาเป็นประธานกรรมการของธนาคาร ซึ่งด้วยประสบการณ์และความรอบรู้ของท่าน โดยเฉพาะในแวดวงด้านเศรษฐกิจและการลงทุน อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อธนาคาร “ ผมเชื่อว่า หากธนาคารสามารถดำเนินการตามแผนงานๆ ที่ได้วางกลยุทธ์ไว้ แล้ว ก็จะทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งด้านสถานะทางการเงินและมีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารที่ให้บริการแบบครบวงจรในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ในที่สุด ซึ่งตามนโยบายของกลุ่มซีไอเอ็มบีที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ธนาคารมีเป้าหมายหลักที่ต้องบรรลุในปี 2556 อันได้แก่ การเป็น 1 ใน 3 ธนาคารที่มีผลตอบแทนที่ดีที่สุด รวมถึงเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจอย่างน้อย 3 ประเภท และเป็นธนาคารที่พนักงานเลือกที่จะทำงานด้วย ( High Performance Culture) “ นายสุภัค กล่าว ข้อมูลเกี่ยวกับ ซีไอเอ็มบี ไทย ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มี 147 สาขาทั่วประเทศ และให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายแก่ทั้งลูกค้าบรรษัทและลูกค้ารายย่อย ธนาคารยังให้บริการค้าหุ้น (stockbroking) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัท ให้บริการกองทุนรวม การจัดการสินทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประกันภัย และบริการต่างๆผ่านสาขาที่มีอยู่ ซีไอเอ็มบี ไทย เดิมรู้จักกันในชื่อ ไทยธนาคาร ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มซีไอเอ็มบี ในปี 2552 เมื่อกลุ่มซีไอเอ็มบี ได้เข้าถือหุ้น 93.15% สินทรัพย์และกองทุนผู้ถือหุ้นของ ซีไอเอ็มบี ไทย มีมูลค่าคิดเป็น 126,000,000,000 และ 7,700,000,000 บาทตามลำดับ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: สำนักสื่อสารองค์กร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) นางกานต์พิชชา ธนจินดาเลิศ นางสาวมรกต จิรนิธิรัตน์ โทรศัพท์ 0-2638-8249, 8259 โทรสาร 0-2633-9053

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ