เผย ๑๐ ศิษย์เก่าดีเด่น รางวัล "มหิดลทยากร" ประจำปี ๒๕๕๒

ข่าวทั่วไป Tuesday February 9, 2010 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศเชิดชูเกียรติผู้มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม คุณธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม และประสบผลสำเร็จทางด้านวิชาการและการดำรงชีวิต เป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และสาธารณชนทั่วไป โดยในปี ๒๕๕๒ ได้มีมติมอบรางวัล “มหิดลทยากร”ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน ๑๐ ท่าน ซึ่งจะเข้ารับรางวัลในงาน ๔๑ ปี วันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์กวี ทังสุบุตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงท่านผู้หญิงเพ็ญศรี ภู่ตระกูล นางมาริษา สมบัติบูรณ์ แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์สมมาตร แก้วโรจน์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อภิชาติ วิชญาณรัตน์ นายแพทย์อมร นนทสุต รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงอรพรรณ มาตังคสมบัติ และ ศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์กวี ทังสุบุตร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแพทย์นักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่อพัฒนางานด้านวิชาการและงานวิจัยด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปี ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ในการที่จะพัฒนานิวเคลียร์เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และยังเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้เขียนหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางรังสีวิทยาทั่วไป รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ของแพทยสภา นอกจากนี้ ทางด้านการบริหารท่านยังเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งที่ปรึกษาทางด้านรังสีวิทยาของ WHO ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงท่านผู้หญิงเพ็ญศรี ภู่ตระกูล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อดีตที่ปรึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เคยได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล - บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย มีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในเรื่องการวิจัยโรคธาลัสซีเมีย เป็นประโยชน์สูงในวงการแพทย์ เพื่อพัฒนาการวินิจฉัยโรค และวิธีการรักษาโรคเลือด ภาวะธาตุเหล็กเกิน การดูดซึมธาตุเหล็ก ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการวิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล) มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการแพทย์ที่ถวายการดูแลแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นางมาริษา สมบัติบูรณ์ สำเร็จการศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ช่วยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ทั้ง ๖๘ ศูนย์ผ่านการรับรองคุณภาพ Health Center Accreditation เคยได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) รางวัลเกียรติยศบุคคลดีเด่นของคณะกรรมการมาตรฐานการศึกษา รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาบริการดีเด่น รางวัลสภาการพยาบาล สาขาผู้บริหารการพยาบาลดีเด่น รางวัลสตรีไทยดีเด่นจากสภาสตรีแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการก่อตั้งโรงพยาบาลภูมิราชนครินทร์ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้ในด้านบริหารการพยาบาล คุณภาพการบริการจากสถาบันการศึกษาและองค์กรวิชาชีพจำนวนมาก แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้จัดระบบพัฒนาและรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล (The Institute of Hospital Quality Improvement and Accreditation : HA - Thailand ) จนก่อตั้งเป็น สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ได้สำเร็จ นอกจากนี้ เป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งครั้งแรกที่จังหวัดนครสวรรค์ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการองค์การสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชีย ด้านประชากรและการพัฒนา (Secretary General of Asian Forum of Parliament Asians on population and Development : AFPPD) คณะกรรมการบริหารประจำเครือข่ายรัฐสภา ธนาคารโลก Board Member of the Parliamentary Network of the World Bank ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สมมาตร แก้วโรจน์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ วุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญ สาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (ศัลยกรรมกระดูกและข้อ) แพทยสภา ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ และปัจจุบันก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดี ศัลยแพทย์อาสาในหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แพทย์ที่ปรึกษาสำหรับผู้ป่วยในพระราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ แพทย์ที่ปรึกษามูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อดีตนายกและกรรมการที่ปรึกษาสมาคมแม่ดีเด่นและพ่อตัวอย่างแห่งชาติ (EMFAT) ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สมหวัง ด่านชัยวิจิตร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ รับราชการเป็นอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จนครบเกษียณอายุราชการ เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาวิชาการ วิชาชีพ และวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กรรมการแพทยสภา ประธานศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช เลขาธิการชมรมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกสาขาวิชาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย มีผลงานการแต่งตำราด้านโรคติดเชื้อ ๓๕ เล่ม นอกจากนี้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ถึง ๗๕ เรื่อง อุทิศตนในการดูแลผู้ป่วย ด้านวิชาการ และการเรียนการสอนให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มความสามารถ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อภิชาติ วิชญาณรัตน์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ ๒๕๐๙ Diplomate, American Board of Endocrinology & Metabolism และ Fellow of American College of Endocrinology (FACE) รับราชการเป็นอาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ จนครบเกษียณอายุราชการ เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ประธานชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทย นายกสมาคมหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นนักบริหารดีเด่น สาขาการแพทย์อายุรศาสตร์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ จาก มูลนิธิเพื่อสังคมไทย นายแพทย์อมร นนทสุต สำเร็จการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ ปริญญาโททางสาธารณสุข จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ.๒๕๐๕ และสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๒๘ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมอนามัย ได้รับสมญานามว่าเป็นผู้สร้างยุคทองของวงการสาธารณสุขไทย โดยท่านเป็นผู้สร้างผลงานเด่นให้กับวงการสาธารณสุขไทยมีนานัปการ เช่น ริเริ่มงานสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทย สร้างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม) ที่มีจำนวนใกล้ล้านคนและเป็นพลังสำคัญของวงการสาธารณสุข สร้างกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการใช้ดัชนีความจำเป็นพื้นฐาน(จปฐ)ที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังใช้กันในไม่น้อยกว่า ๑๗ ประเทศแถบภูมิภาคเมดิเตอเรเนียนตะวันออกขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้สร้างโครงการบัตรสุขภาพซึ่งได้พัฒนามาเป็นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงอรพรรณ มาตังคสมบัติ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต (เหรียญทอง) จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ ๒๕๐๖ และปรัชญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จากนั้นรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนเกษียณอายุราชการ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทย กรรมการสภาเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการสมาคมเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลนักเภสัชวิทยาดีเด่น จากสมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทย รางวัลนักบริหารดีเด่นสาขาบริหารและพัฒนาสังคม โล่เกียรติยศ “คนดีสังคมไทย” และรางวัลสตรีตัวอย่างแห่งปีสาขาบริการวิชาการต่อสังคมด้านเภสัชศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) เกียรตินิยม(เหรียญทอง), วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (พยาธิวิทยาคลินิก) และวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พยาธิชีววิทยา) จาก มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ริเริ่มการใช้เทคโนโลยีการตรวจเม็ดเลือดเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งขณะนี้ได้ใช้แพร่หลายในทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้ได้ริเริ่ม และดำเนินการโครงการสร้างเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ม.มหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จนปัจจุบันทำให้ประเทศไทยมีวิชาการแนวใหม่นี้ และมีนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่สำเร็จและเป็นกำลังสำคัญในการสร้างวิทยาการนี้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในการรักษาโรคที่รักษายาก เป็นศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ และดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจนเกษียณอายุราชการ สร้างผลงานระบบการวิจัยให้กับประเทศไทย จนมีการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ