กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ปภ.
ปัญหาภัยแล้งในประเทศไทยทวีความรุนแรงและยาวนานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปี 2553 ประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในทุกภาคต่ำกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดความแห้งแล้งรุนแรงและยาวนานมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน แหล่งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนกิจกรรมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้
ประชาชน
จัดเตรียมภาชนะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า ปิดก๊อกน้ำให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน หมั่นตรวจสอบท่อส่งน้ำ ก๊อกน้ำและการเปลี่ยนแปลงของเลขมาตรวัดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากพบรอยรั่วซึม ควรซ่อมแซมในทันที รวมทั้งเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดน้ำ เช่น ฝักบัว ก๊อกประหยัดน้ำ หัวฉีดประหยัดน้ำ เป็นต้น หรือติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศที่หัวก๊อก เพื่อลดปริมาณการไหลของน้ำ ซึ่งจะช่วยให้สามารถประหยัดน้ำได้มากยิ่งขึ้น
ภาคอุตสาหกรรม
วางแผนการใช้น้ำในการประกอบอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำต้นทุน จัดหาแหล่งน้ำสำรองกรณีขาดแคลนน้ำ รวมทั้งตรวจสอบบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และพร้อมใช้งานตลอดเวลาติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดน้ำในระบบท่อส่งน้ำ จะช่วยลดการใช้น้ำให้น้อยลงและลดต้นทุนในการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย
เกษตรกร
วางแผนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำต้นทุนในพื้นที่และแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด ถั่วลิสง มันสำปะหลังแทนการทำนาปรัง
รวมทั้งซ่อมแซมร่องน้ำ คูคลอง เพื่อลดการรั่วซึมของน้ำ สำหรับการเตรียมพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ให้ใช้วิธีไถกลบแทนการเผา
เพื่อป้องกันดินสูญเสียความชุ่มชื้น ตลอดจนจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อจัดสรรการใช้น้ำในพื้นที่ให้ทั่วถึง และลดปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกร
เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งปี 2553 นี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง โดยกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 12.27 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ พืชไร่และผัก 2.78 ล้านไร่ เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร โดยดำเนินการ ดังนี้
ด้านการจัดสรรน้ำ ให้จัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุน โดยให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำและจัดส่งน้ำตามแผนการส่งน้ำและรอบเวร ส่วนเขตสูบน้ำด้วยไฟฟ้าให้สูบน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ด้านการผลิต กำหนดพื้นที่นาปรังให้ชัดเจน โดยขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่-ผักแทนการปลูกข้าวนาปรัง
ด้านการประชาสัมพันธ์ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชไร่และผักทดแทนการปลูกข้าว โดยเฉพาะพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่ควรปลูกข้าวนาปรังครั้งที่สอง
สุดท้ายนี้ หากทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด โดยวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณต้นทุนในพื้นที่และนโยบายการจัดสรรน้ำของจังหวัด จะช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในฤดูร้อนนี้ได้ในระดับหนึ่ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM