สนพ. เร่งศึกษาพลังงานทางเลือก ทดแทนการนำเข้าพลังงาน

ข่าวทั่วไป Thursday December 28, 2006 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--สนพ.
สนพ. ส่งทีมศึกษาวิจัยพลังงานทางเลือก ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ระบุ ให้คำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน และมีส่วนช่วยในการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานของประเทศ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทั่วโลกยังคงต้องพึ่งพาน้ำมันโดยเฉพาะในภาคขนส่ง รองลงมาเป็นก๊าซธรรมชาติ และ ถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้า สำหรับพลังงานหมุนเวียน ถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นสูง แต่ก็ยังมีสัดส่วนการผลิตอยู่ที่ 8-10% ซึ่งใกล้เคียงกับปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนในการผลิตยังสูงอยู่ และมีข้อจำกัด ในด้านอื่นๆ
สนพ.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายด้านพลังงาน ได้มอบหมายให้ บริษัท ERM-Siam จำกัด ที่ปรึกษาด้านการวิจัยนโยบายพลังงาน ทำการศึกษายุทธศาสตร์พลังงานของประเทศไทย : ทางเลือกการจัดหาพลังงาน (Fuel options study) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะทางเลือกการจัดหาพลังงานที่มีความเหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยคำนึงถึงด้านความมั่นคงด้านพลังงาน และสมดุลด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางเลือกในการจัดหาพลังงานที่ได้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ซึ่งขอบเขตในการศึกษาครอบคลุมภาคการผลิต และการใช้พลังงานไฟฟ้า การผลิตและการนำเข้า การกลั่นและการบริโภคเชื้อเพลิงปิโตรเลียมโดยเฉพาะภาคขนส่ง นอกจากนี้ยังทำการศึกษาครอบคลุมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนด้วย และจากผลการศึกษาพบว่า ก๊าซธรรมชาติไม่ใช่ทางเลือกการจัดหาพลังงานที่มีราคาต่ำสุด และการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ จะทำให้ความหลากหลายในการใช้เชื้อเพลิงทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาพรวมของประเทศต่ำลง อีกทั้งเป็นที่คาดการณ์ว่าราคาก๊าซธรรมชาติในอนาคตจะมีความเชื่อมโยงกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาพลังงานของไทย ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องหาพลังงานทางเลือกมาใช้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
สำหรับการกำหนดแผนพัฒนาโรงกลั่น ผลการศึกษาระบุว่า ภาครัฐไม่ควรมีบทบาทโดยตรงในการกำหนดแนวทาง แต่รัฐควรปล่อยให้ตลาดเป็นคนตัดสินใจว่าควรสร้างโรงกลั่นเพิ่มเติมในประเทศ หรือควรนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ และภายใต้โครงสร้างธุรกิจปิโตรเลียมในปัจจุบัน ภาครัฐสามารถ
มีส่วนในการกำหนดนโยบาย ซึ่งควรกำหนดนโยบายสำหรับธุรกิจปิโตรเลียมในภาพรวมให้ชัดเจนเพื่อจูงใจให้เอกชนลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียม และในขณะที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน ประเทศไทยควรจัดทำนโยบายลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ส่วนในภาคขนส่ง เชื้อเพลิงทางเลือกต่างๆ ทั้ง เอทานอล ไบโอดีเซล และก๊าซธรรมชาติ ยังไม่มีความคุ้มทุนในปัจจุบัน อีกทั้ง เชื้อเพลิงเอทานอล และก๊าซธรรมชาติ มีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมัน และ มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่การเพาะปลูก สำหรับเอทานอล และไบโอดีเซล ส่วนการนำก๊าซธรรมชาติ มาใช้ในภาคขนส่งยังไม่ได้ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองได้มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาใช้ในอนาคต ได้แก่ Clean diesel ประกอบกับประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณอุปทานของพลังงานทางเลือก ดังนั้นการนำเชื้อเพลิงทางเลือกมาใช้ในภาคขนส่งส่วนใหญ่ ควรส่งเสริมในขอบเขตที่พอเพียงและเหมาะสม เช่น ในการนำก๊าซ NGV มาใช้ ควรจำกัดในขอบเขตเฉพาะรถประจำทาง หรือรถขนส่งมวลชน ที่มีเส้นทางการวิ่งที่ชัดเจน และเป็นรถใหม่ ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพต่อไป
“จากการนำเสนอผลการศึกษา สรุปได้ว่า การใช้พลังงานยังคงให้ความสำคัญในการใช้น้ำมัน เป็นหลัก โดยเฉพาะภาคขนส่ง ส่วนก๊าซธรรมชาติ หากใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น จะทำให้ความหลากหลายของเชื้อเพลิงในระบบการผลิตไฟฟ้าลดลง ทั่วโลกจะให้ความสนใจเชื้อเพลิงถ่านหินมากขึ้น เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูก มีเสถียรภาพ และสามารถควบคุมปัญหาด้านมลพิษ-สิ่งแวดล้อมได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับผลการศึกษาครั้งนี้ สนพ. จะนำมาประกอบการศึกษาพลังงานทางเลือกของประเทศไทย เสนอ กระทรวงพลังงานเพื่อนำมาใช้ ในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย ต่อไป” รอง ผอ.สนพ. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ