กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กรมศุลกากร
นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานลงนาม บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ระบบคอมพิวเตอร์ ในการค้นหาข้อมูลคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับกระบวนการทางศุลกากร ระหว่างกรมศุลกากร กับ สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ร่วมกับ นายเกริกกล้า สนธิมาศ ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ณ ห้องประชุมอนุมานราชธน กรมศุลกากร
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า จากแผนปฏิรูปกรมศุลกากรโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์) ให้กรมศุลกากรแก้ไขกฎหมายศุลกากร ซึ่งขณะนี้ กรมศุลกากรได้เสนอขอแก้ไขกฎหมายฯไปยังคณะรัฐมนตรีในหลายประเด็น อาทิ การแก้ไขอัตราโทษปรับและโทษจำคุก การแก้ไขการเรียกเก็บเงินเพิ่มกรณีติดค้างค่าภาษี และการให้อำนาจอธิบดีงดเว้นการเก็บภาษีที่จ่ายไม่ครบ จากเดิม 20 บาท เพิ่มเป็น 1,000 บาท ฯลฯ รวมทั้งกรมศุลกากรยังได้พัฒนาระบบงานด้านต่างๆให้มีความทันสมัย โปร่งใส เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เช่น การแก้ไขปัญหา/อุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นในระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (e-customs) การเร่งแก้ไขปัญหาใบขนสินค้าวางประกันค้าง การเร่งแก้ไขปัญหาความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นต้น และล่าสุดกรมศุลกากรได้เปิดให้บริการวินิจฉัยถิ่นกำเนิดสินค้าล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นำเข้า ในการขอทราบถิ่นกำเนิดของสินค้าที่นำเข้า เพื่อขอใช้สิทธิลด/ยกเว้นอากรตามความตกลงเขตการค้าเสรี อีกด้วย
นอกจากการปรับปรุงระบบงานด้านต่างๆดังกล่าวแล้ว กรมศุลกากรได้จัดตั้งคลินิกศุลกากร (Customs Clinic) และเปิดเว็ปไซด์คลินิกศุลกากร www.customsclinic.org ขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของคลินิกศุลกากร และข้อมูลพิธีการศุลกากร ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว และทันสมัย ซึ่งมีผู้สนใจเข้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เป็นการพัฒนาก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของคลินิกศุลกากร โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชน คือ สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ในการเชื่อมโยงเว็ปไซด์ระหว่างกัน โดยสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ในระบบค้นหาข้อมูลคำถาม - คำตอบเกี่ยวกับกระบวนการทางศุลกากร ข้อมูลผลการแก้ไขปัญหา รวมทั้งข้อวินิจฉัยทางศุลกากร และคลินิกศุลกากรสามารถใช้งานระบบดังกล่าวบนเว็ปไซด์คลินิกศุลกากรได้ เพื่อให้การเผยแพร่ผลการแก้ไขปัญหา ข้อวินิจฉัยต่างๆต่อสาธารณชน เป็นไปอย่างแพร่หลาย และกว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของกรมศุลกากรในปัจจุบัน