แผนแม่บทตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 มุ่ง 7 แนวทางหลักพัฒนาตลาดทุน

ข่าวทั่วไป Thursday February 2, 2006 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย พร้อมหน่วยงานภาครัฐร่วมเสนอแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 2 สำหรับ
ปี 2549 — 2553 ต่อกระทรวงการคลัง มุ่งเน้น 7 แนวทางหลักสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดทุนไทย พร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในตลาดทุนโลก มุ่งสร้างเสถียรภาพของตลาดทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจใน
ระยะยาว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ทนง พิทยะ เป็นประธานในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งนำเสนอโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง
“รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นพัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ซึ่งแผนแม่พัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 นี้ มีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ.2553 ได้มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถของตลาดทุนไทย เพื่อให้สามารถสนับสนุนการระดมทุนและการทำหน้าที่ทางเลือกของการออมในมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยไม่เน้นเพียงการเพิ่มมูลค่ารวมเท่านั้น แต่ยังมุ่งเพิ่มเสถียรภาพของราคา รวมทั้งการส่งเสริมให้มีระดับราคาและหรือมูลค่าที่สมบูรณ์” ดร. ทนงกล่าว
สำหรับแนวทางหลักสำคัญ 7 ด้านของแผนแม่บทฉบับนี้ ครอบคลุมทุกตราสารทั้งในตลาดตราสารทุน ตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารอนุพันธ์ และการดำเนินงานกับผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนทั้งบริษัทจดทะเบียน สถาบัน
ตัวกลาง นักลงทุน ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแล ได้แก่ การมุ่งเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศในตลาดตราสารทุนจากร้อยละ 10 ในปัจจุบันให้เป็นร้อยละ 20 ร่วมทำงานกับบริษัทจดทะเบียนใน SET 100 ที่มี P/E ต่ำกว่ามูลค่าจริง เพื่อเพิ่มมูลค่า P/E และการเพิ่มสัดส่วนการกระจายหุ้นขั้นต่ำ (free float ) ทั้งกับบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET 100 และบริษัทจดทะเบียนที่ภาครัฐถือหุ้นใหญ่ และการมีมาตฐานที่สูงด้านบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนโดยให้สิทธิประโยชน์และสิ่งจูงใจ เป็นต้น
ด้านตลาดตราสารหนี้จะเร่งขยายขนาดของตลาดตราสารหนี้ให้ทัดเทียมกับตลาดเงิน และส่งเสริมการลงทุนของผู้ลงทุนบุคคล การเริ่มนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการและผู้ลงทุน เช่น ตราสารอนุพันธ์ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์หรือ Securitization เป็นต้น
นอกจากนี้ จะเน้นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและเพิ่มความแข็งแกร่งของสถาบันตัวกลาง โดยให้สามารถประกอบธุรกรรมได้หลากหลายครบวงจร และมีขนาดของทุนที่เหมาะสม ก่อนการเปิดรับการแข่งขันจากผู้ประกอบการจากต่างประเทศ รวมทั้งการเตรียมเปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเป็นขั้นตอนโดยคำนึงถึงประเภท หรือขนาดของรายการเพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวได้ก่อนการเปิดเสรี
ในขณะเดียวกันจะมีการสนับสนุนบรรษัทภิบาลที่ดีในมาตรฐานที่สูงแก่บริษัทจดทะเบียน และสร้างแรงจูงใจโดยให้สิทธิพิเศษ การขยายความรู้ด้านตลาดทุนและด้านการเงินให้ครอบคลุมทุกสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
ภายในปี 2553 พร้อมทั้ง การมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีภารกิจในการพัฒนาตลาดทุนควบคู่ไปกับการกำกับดูแลและการดำเนินงาน โดยจะมีการทบทวนกฎระเบียบและการปฏิบัติงานของสำนักงานก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุน และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงการจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้ว่า ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการลงทุน ซึ่งเป็นสถาบันตัวกลาง นับเป็น
กลไกสำคัญที่จะผลักดันให้การพัฒนาตลาดทุนตามแผนแม่บทฉบับนี้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนไทยกำลังเผชิญกับการเปิดเสรีภาคบริการทางการเงิน การปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันจากต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะเลขานุการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ผู้นำเสนอแผนแม่บทในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ กล่าวว่า แผนแม่บทฉบับที่ 2 นี้ จะกำหนดทิศทางด้านเป้าหมาย และมาตรการสำคัญ ที่ระบุผู้รับผิดชอบ และกรอบเวลาในการดำเนินการอย่างสมบูรณ์ โดยแต่ละ
แนวทางหลักจะมีหน่วยงานในตลาดทุนร่วมในการดำนินงานและผลักดันให้บรรลุเป้าหมายของแผนแม่บท
ตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2553
“ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะประสานกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้แผนงาน
ต่าง ๆ บรรลุเป้าหมาย และมั่นใจว่าการกำหนดเป้าหมายทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ สำหรับแผนแม่บทฉบับนี้
จะก่อให้เกิดผลดีต่อตลาดทุนและเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว ” นายกิตติรัตน์กล่าว
เอกสารแนบข่าวฉบับประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549
แนวทางหลักของแผนแม่บทตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 ( 2549 —2553)
ด้านตลาดตราสารทุน จะเร่งขยายขนาดของตลาด โดยเพิ่มอุปทาน (Supply ) ของกิจการขนาดใหญ่ กลาง และย่อม ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับกับผู้ลงทุนสถาบันในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนระหว่างผู้ลงทุนสถาบันต่อผู้ลงทุนรายบุคคล เป็น อัตรา 40 : 60 ซึ่งถือเป็นระดับที่มีความสมดุลของสภาพคล่องและเสถียรภาพของราคา โดยจะส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด เมื่อเทียบกับผลกำไรโดยรวม หรือ Market P/E มีระดับสูงขึ้น โดยมีมาตรการสำคัญ 5 มาตรการ คือ
มาตรการ 1 เพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันโดยการสนับสนุนระบบการออมทั้งโดยสมัครใจที่ให้ผู้มีเงินออมลงทุนผ่านกองทุนรวม รวมถึงการออมภาคบังคับที่ให้ผู้ออมมีสิทธิในการกำหนดทางเลือกต่าง ๆ ในการลงทุน ทั้งการเลือกผู้บริหารการลงทุน และ ประเภทตราสาร ด้วยกิจกรรมทางการและประชาสัมพันธ์การให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องการลงทุนและทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสม และส่งเสริมการลงทุนผ่านกองทนหุ้นระยะยาว (Long Term Fund: LTF) รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจด้านหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งกองทุนให้กับบริษัทจดทะเบียน และกลุ่มนายจ้าง เพื่อเพิ่มจำนวนนักลงทุนสถาบันทั้งในส่วนกลางและ ภูมิภาค
มาตรการ 2 : เพิ่มสัดส่วนการกระจายหุ้นขั้นต่ำ (free float ) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดหุ้นและเพิ่มน้ำหนักในดัชนีหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งกับบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET 100 และบริษัทจดทะเบียนที่ภาครัฐถือหุ้นใหญ่ และบริษัทที่จะเข้าใหม่รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน
มาตรการ 3 : สร้างกลไกของธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และ Private equity ให้อยู่ในโครงสร้างและระบบของธุรกิจ SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ โดยแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ และส่งเสริมความคล่องตัวในการดำเนินงาน โดยให้ Venture Capital สามารถจัดตั้งในรูปแบบกองทุนร่วมลงทุน และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่าเดิมถึงแม้ขนาดของกิจการที่ Venture Capital เข้าไปลงทุนจะมีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการจัดตั้งทีมให้คำปรึกษาแก่บริษัทหรือโครงการที่มีศักยภาพเพื่อผลักดันให้เติบโตและมีโอกาสเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป นอกจากนี้จะมุ่งยกระดับมาตรฐานทางการบัญชีของบริษัทจำกัดทั่วไป ให้มีความใกล้เคียงกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีมาตรฐานการรายงานทางบัญชีตามมาตรฐานสากล International Financial Reporting Standards : IFRS
มาตรการ 4 : ร่วมทำงานกับบริษัทจดทะเบียนใน SET 100 ที่มี P/E ต่ำกว่ามูลค่าจริง เพื่อเพิ่มมูลค่า P/E โดยร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียน และชมรมนักลงทุนสัมพันธ์ (Thai Investors Relations Club :TIRC) เพื่อแนะนำและทำความเข้าใจเรื่องการแตกพาร์เพื่อกระจายหุ้นสู่นักลงทุนให้มากขึ้น และจัดเวทีให้พบนักวิเคราะห์ เป็นรายไตรมาส รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อขยายช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลให้กว้างขวาง รวมทั้งนำบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็กที่มีศักยภาพไปโรดโชว์ต่างประเทศ
มาตรการ 5 : เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจโดยจะผลักดันให้เกิดระบบ scripless ในทุกระบบงาน และลดระยะเวลาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์จาก T+3 เป็น T+2 และลดต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ร่วมตลาดให้สามารถทำ Cross — Margin และ Cross — Collateral ระหว่างตลาดทุกตลาด
ด้านตลาดตราสารหนี้ เร่งขยายตลาดให้มีขนาดเท่ากับระบบสถาบันการเงิน โดยเพิ่มอุปทาน (supply) จากตราสารหนี้ภาครัฐ และเอกชน และส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนบุคคล โดยกำหนดเป็น 5 มาตรการสำคัญ คือ
มาตรการ 1 นำตราสารหนี้ขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนแบ่งเป็นหน่วยซื้อขายย่อย เพื่อให้นักลงทุนบุคคลสามารถเข้าลงทุนได้ง่ายขึ้น
มาตรการ 2 สนับสนุนให้เกิดการจดทะเบียนข้ามชาติ (Cross Listing ) ของพันธบัตร และตราสารหนี้ในตลาดภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมบทบาทสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่มีมาตรฐานดีให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
มาตรการ 3 กำหนดแนวทางและผลประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้มีสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือระดับที่ดี เข้าร่วมสนับสนุนสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือด้อยกว่าออกตราสารหนี้ (Credit Enhancement)
มาตรการ 4 จัดให้มี market maker ที่พอเพียงครอบคลุมทุกตราสารหนี้
มาตรการ 5 ผลักดันและกระตุ้นให้ผู้ต้องการเงินทุนมีการออกหลักทรัพย์ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ( Securitization ) และสร้างความต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าว
มาตรการ 6 กำหนดแนวทางด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้บุคคลธรรมดาซื้อขายตราสารหนี้ได้คล่องตัวขึ้น
ด้านตลาดตราสารอนุพันธ์ นับเป็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ในตลาดทุนไทย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือช่วยลดความเสี่ยงของทั้งผู้ประกอบการและผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย จึงเน้นมาตรการดังนี้
มาตรการ 1 ด้านการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจถึงประโยชน์และการนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้เกิดทัศนคติเชิงบวก
มาตรการ 2 สร้างความรู้เชิงลึกเพื่อให้เข้าใจประโยชน์และโทษของความเสี่ยงจากอนุพันธ์ โดยเน้นการจัดให้มีเจ้าหน้าที่การตลาดที่มีความรู้อย่างเพียงพอ พร้อมทั้งการให้ความรู้อย่างทั่วถึง
มาตรการ 3 การสร้างระบบเชื่อมโยงการซื้อขาย (Exchange linkage ) ตราสารอนุพันธ์ กับตลาดตราสารอนุพันธ์ในต่างประเทศเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ อีกทั้งนักลงทุนก็สามารถลงทุนในตลาดตราสารอนุพันธ์ต่างประเทศได้ ซึ่งการที่จะสามารถลดข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับธุรกรรมนี้ได้จะต้องทำงานร่วมกันระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อแก้ไขเกณฑ์และการกำกับดูแลธุรกรรมอนุพันธ์ให้เทียบเคียงกับตลาดของต่างประเทศ รวมทั้งจัดทำรูปแบบการเชื่อมโยงระบบการซื้อขาย และข้อตกลงเกี่ยวกับกำกับดูแล การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับตลาดต่างประเทศและองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2550
มาตรการ 4 ส่งเสริมธุรกิจ SBL (Securities Borrowing and Lending) โดยเร่งทำความเข้าใจถึงประโยชน์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต รวมทั้งการจัดระบบงานกลางสำหรับการยืมหลักทรัพย์เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ
มาตรการ 5 พัฒนาและขจัดอุปสรรคในตลาดสินค้าอ้างอิง โดยการพัฒนาให้มีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นของประเทศไทยที่ยอมรับของอุตสาหกรรม การออก Benchmark Bond ในตลาดแรกอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนสูงอย่างน้อย 5 หมื่นล้านต่อปี รวมถึงการเผยแพร่ราคาซื้อขายในตลาดรองของพันธบัตร และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างทั่วถึงและทันการณ์
มาตรการ 6 ออกนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ
ด้านสถาบันตัวกลางในตลาดทุน เน้นการเพิ่มศักยภาพด้านการบริการและความแข็งแกร่งมั่นคง โดยผลักดันให้มีขนาดทุนที่สูงขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมทุกประเภท มีการจัดลำดับเวลาเพื่อการกำหนดให้เริ่มมีการแข่งขันเสรีด้านราคา ก่อนนำไปสู่การเปิดรับการแข่งขันจากผู้ประกอบการต่างประเทศ
มาตรการ 1 กำหนดประเภทในการทำธุรกิจสถาบันตัวกลางโดยแยกเป็น restricted license และ Universal License และกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วมากเพียงพอภายในปี 2552
มาตรการ 2 แก้ไขกฎเกณฑ์ให้ยืดหยุ่น โดยให้มีการควบรวมได้โดยไม่เสียสิทธิประโยชน์ และปรับรูปแบบการให้ใบอนุญาต ให้รองรับการจัดโครงสร้างและโอนย้ายใบอนุญาตภายในกลุ่ม
มาตรการ 3 เปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการก่อนเปิดให้มีการแข่งขันกับต่างประเทศ
มาตรการ 4 ให้สถาบันตัวกลางดำเนินธุรกิจให้บริการเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
ด้านบริษัทจดทะเบียน เน้นการส่งเสริมบรรษัทภิบาลที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยให้บริษัทจดทะเบียนได้รับสิทธิพิเศษ ดังนี้
มาตรการ 1 พิจารณาสิทธิพิเศษทางภาษีให้กับบริษัทจดทะเบียนที่มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่สูง อาทิ บริษัทที่มีการลงทุนด้านการวิจัย และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สิทธิพิเศษอื่นแบบ Fast Track
มาตรการ 2 สนับสนุนการควบรวมกิจการ โดยแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคเพื่อรองรับในเรื่องใบอนุญาต ภาษี และสถานภาพของบริษัทจดทะเบียน
มาตรการ 3 ส่งเสริมให้ประธานกรรมการและกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียน ได้รับการ อบรมขั้นพื้นฐานภายในปี 2549 และได้รับการอบรมครบทุกท่านในปี 2550 และให้ประธานกรรมการและกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนได้รับการอบรมขั้นสูงภายในปี 2552
มาตรการ 4 ผลักดันบทบาทของผู้ลงทุนสถาบันและสถาบันตัวกลางในการยกระดับบรรษัทภิบาลที่ดีในตลาดทุน
มาตรการ 5 ศึกษาและกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจรวมของประเทศ
ด้านการขยายความรู้ด้านตลาดทุน เน้นการขยายความรู้ด้านตลาดทุนและด้านการเงินให้ทั่วถึงทุกจังหวัดและทุกสถาบันการศึกษา ทุกองค์กรธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยให้สภาธุรกิจตลาดทุนไทยและสมาคมทั้ง 5 และตลาดหลักทรัพย์ฯ แบ่งเขตการทำงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ โดยให้ความรู้แก่กลุ่มนักเรียนด้าน Financial Literacy และด้าน Investment Knowledge แก่กลุ่มนักเรียนสายสามัญ และสายอาชีวะ นิสิต นักศึกษา ประชาชน และผู้ประกอบอาชีพในตลาดทุน โดยในปี 2549 —2551 จะครอบคลุมจังหวัดที่มีการออมสูงก่อน และจะครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2553
ด้านหน่วยงานกำกับดูแล เนื่องด้วยการกำกับดูแลที่เข้มงวดในบางประการถึงแม้จะส่งผลให้เกิดความน่าเชื่อถือ แต่อาก่อให้เกิดความล่าช้าและเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจ ดังนั้น เมื่อแนวโน้มที่ตลาดทุนไทยต้องเผชิญการแข่งขัน ต้องอาศัยความคล่องตัวสูง หน่วยงานในภาคนี้ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องปรับบทบาทภายใต้หลักการที่ต้องเกิดการพัฒนา และสร้างความชัดเจนโดยมีมาตรการสำคัญ คือ
มาตรการ 1 การพิจารณาทบทวนกระบวนการเสนอขายตราสารในหลักการของ merit หรือ disclosure basis พร้อมทั้งมุ่งยกระดับความรู้ของผู้ลงทุนไปพร้อมกัน ซึ่งมีแนวทางการทำงานคือ ลดระยะเวลาพิจารณาอนุญาตขายหุ้นไอพีโอ การออกตราสารหรือการอนุญาตให้ทำธุรกรรมใหม่ ลดระยะเวลาการเสนอขายหุ้นพีโอต่อประชาชนทั่วไป โดยสามารถยืมหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมมาส่งมอบ และ ร่วมกับชมรมวาณิช จัดทำบทวิเคราะห์หุ้นไอพีโอ ที่มีคุณภาพเผยแพร่ก่อนเปิดจองหุ้นและก่อนวันซื้อขาย โดยจะขยายช่องทางการเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลมากที่สุด ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกันระหว่าง สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานก.ล.ต. ซึ่งจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้ภายในปี 2549
มาตรการ 2 จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อทบทวนข้อกำหนดและการปฏิบัติงานของ สำนักงานก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีประธานคณะกรรมการก.ล .ต.เป็นประธานและมีผู้แทนของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยร่วมด้วย
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049
วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ