โครงการบำบัดเด็กออทิสติกด้วยออกซิเจนความดันสูงเฉลิมพระเกียรติ ๗๗ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 10, 2010 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--ปชส.คอนเสิร์ตการกุศล“มหัศจรรย์แห่งรัก พลัง O2” กองทัพเรือ สมาคมภริยาทหารเรือ และมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกันดำเนินงาน “โครงการบำบัดเด็กออทิสติกด้วยออกซิเจนความดันสูง” เพื่อเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ องค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีพระชนมายุครบ ๗๗ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับการรักษานักดำน้ำที่เจ็บป่วยจากฟองอากาศในร่างกาย การบำบัดวิธีนี้จะช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากกว่าปกติ ซึ่งจะออกฤทธิ์เสมือนยาที่จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ในวงการแพทย์ได้นำวิธีการนี้มาใช้รักษาโรคและภาวะต่าง ๆ อีกหลายชนิด รวมทั้งการนำมาใช้บำบัดเด็กออทิสติกร่วมกับการรักษาตามมาตรฐาน เพื่อช่วยเสริมให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น ปัจจุบันการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า เนื้อเยื่อสมองของเด็กออทิสติกบางบริเวณได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อย มีออกซิเจนไม่พอเพียงสำหรับการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูงจะช่วยให้เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของสมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น เซลล์สมองทำงานดีขึ้น ช่วยให้เด็ก ๆ ออทิสติกมีอาการดีขึ้นได้ ออทิสติก หมายถึง บุคคลที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการ ด้านการสื่อสาร ด้านสังคม การรับรู้และจินตนาการ แสดงให้เห็นโดยการมีพฤติกรรมที่ผิดไปจากบุคคลในวัยเดียวกัน มีลักษณะพฤติกรรมซ้ำซาก หรือพฤติกรรมแปลกและขาดจินตนาการ ความบกพร่องดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นได้ตั้งแต่ ในขวบปีแรก และจะพบอาการได้อย่างชัดเจนเมื่อเด็กอายุ ๑๘ เดือนขึ้นไป แต่เด็กกลุ่มนี้บางคนมีความสามารถพิเศษในบางอย่าง เช่น การวาดรูป ความจำ การเล่นดนตรี การอ่านหนังสือ หากได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ระยะแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่วัยทารกจะสามารถเติบโตเรียนรู้ จนจบการศึกษา และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เช่นคนปกติ ในทางกลับกัน ถ้าไม่ได้รับโอกาสในการดูแลรักษาพบว่า ประมาณร้อยละ ๗๕ — ๘๐ ของเด็กจะมีลักษณะปัญญาอ่อน โดยร้อยละ ๑๕ — ๒๐ จะปัญญาอ่อนค่อนข้างมาก มีระดับสติปัญญาต่ำกว่า ๓๕ เพียงประมาณร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่มีระดับสติปัญญาปกติ พบโรคลมชักร่วมด้วยประมาณร้อยละ ๓๐ ฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกจึงพยายามรวบรวมสาเหตุและพัฒนาวิธีการดูแลรักษามาโดยตลอดพบว่า ภาวะนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น อาจเกิดจากการที่เซลล์ประสาทผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติ ความผิดปกติของการหลั่งสารสื่อใยประสาท (neurotransmitters) การขาดเลือดเลี้ยงสมองบางส่วน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น การที่สมองได้รับพิษโลหะหนักที่ปนเปื้อนกับอาหาร การแพ้อาหาร โรคภูมิแพ้ ตลอดจนปัจจัยพันธุกรรม เช่น แฝดไข่ใบเดียวกัน หากมีคนหนึ่งเป็น อีกคนหนึ่งจะมีโอกาสเป็นสูง หากมีพี่เป็น น้องก็มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ หรือการถูกรบกวนด้วยภาวะต่าง ๆ ในระยะ ๓ เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งสมองเด็กจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น การติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน รวมถึงการขาดออกซิเจนขณะคลอด เหล่านี้จะส่งผลให้การทำงานของสมองผิดปกติได้ การที่จำนวนผู้ป่วยออทิสติกมีอุบัติการณ์สูงถึง ๑ ต่อ ๑๕๐ คน ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ ๑ ต่อ ๑๖๖ คน ในสหราชอาณาจักร ซึ่งดูเหมือนจะมีมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจากหลายแห่งในโลก มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า อาจจะเป็นเพราะเกณฑ์การวินิจฉัยที่เปลี่ยนไป หรือมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นจริงก็ได้ ส่วนในประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๔๗ กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลยุวประสาท ไวทโยปถัมภ์ ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาการบริการเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการและออทิสติก” พบว่า มีเด็กออทิสติกในทุกเศรษฐานะ ทุกระดับการศึกษา และในทุกพื้นที่ของประเทศ การสำรวจทางระบาดวิทยาพบว่า มีเด็กป่วยเป็นออทิสติกสูงขึ้นจาก ๔ - ๕ คน ในประชากร ๑๐,๐๐๐ คน ก่อนการศึกษาเป็น ๒๑ คน ในประชากร ๑๐,๐๐๐ คนในปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากจากที่เริ่มมีการวินิจฉัยโรคนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ ๔๐ ปีก่อน และประมาณการว่า ขณะนี้ในประเทศไทยมีเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ถึง ๒๐๐,๐๐๐ คน ฉะนั้น การช่วยเหลือเด็กออทิสติกให้รอดพ้นจากภาวะปัญญาอ่อนและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เฉกเช่นเด็กปกติ จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดภาระของครอบครัว สังคม และของประเทศชาติ อีกทั้งเด็กกลุ่มนี้บางคนที่มีศักยภาพสูงในบางด้าน ถ้าได้รับการส่งเสริมจะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ ในด้านการบำบัดรักษา ตั้งแต่แรกเริ่มมีการวินิจฉัยภาวะออทิสติกมา การดูแลรักษาส่วนใหญ่ จะเน้นใช้วิธีปรับพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อายุน้อย ๆ แม้จะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าวิธีการนี้ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ในบางรายจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อควบคุมพฤติกรรมและป้องกันรักษาอาการชักด้วย ต่อมา เมื่อได้มีการพัฒนาเครื่องมือตรวจสมองได้ดีขึ้น จึงได้มีการศึกษาการตรวจสมอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หลายส่วนของสมองเด็กออทิสติกมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงน้อยกว่าปกติ และเป็นมากขึ้น ๆ ตามอายุ สัมพันธ์กับอาการที่มากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเหตุให้มีการทดลองใช้ออกซิเจนความดันสูงในการรักษา เพราะเป็นวิธีการที่สามารถจะเพิ่มออกซิเจนให้เซลล์สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายสถาบันพบว่า การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง ช่วยให้พัฒนาการของเด็กดีขึ้น ผลการตรวจสแกนสมองดีขึ้น และผลทางห้องปฏิบัติการแสดงว่ามีการทำลายดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ ไขมัน และการอักเสบลดลง ปัจจุบัน การบำบัดเด็กออทิสติกด้วยออกซิเจนความดันสูง เป็นวิธีการที่ใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยใช้เป็นการรักษาเสริมร่วมกับการรักษาเด็กออทิสติกตามมาตรฐานเดิม เพื่อช่วยให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กออทิสติกและครอบครัวดีขึ้นเป็นอันมาก สำหรับในประเทศไทยได้เริ่มมีบริการบำบัดเด็กออทิสติกบ้างแล้วในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง แต่เด็ก ๆ ออทิสติก ส่วนใหญ่ ที่มีโอกาสได้รับการบำบัดรักษามักเป็นลูกหลานชาวต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะค่าบริการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูงแพงมาก จนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กไทยที่เป็นออทิสติกไม่สามารถเข้ารับบริการได้ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากวิธีการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูงเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อน และมีให้บริการอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลเพียงสองสามแห่ง ซึ่งจำเป็น ต้องใช้เครื่องมือแพทย์รักษาผู้ป่วยอื่นจำนวนมาก อีกทั้งผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ไม่สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายใด ๆ ได้ ทำให้เด็กออทิสติกไทยไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาแบบนี้ กองทัพเรือ มีห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูง ตลอดจนแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้าน เวชศาสตร์ใต้น้ำประจำอยู่ตามโรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และมีประสบการณ์ในการดำเนินการบำบัดผู้ป่วยต่าง ๆ จากทั่วประเทศ ด้วยออกซิเจนความดันสูง มานานกว่า ๒๕ ปี จนมีศักยภาพสูงในระดับประเทศและภูมิภาคนี้ จึงได้ร่วมกับสมาคมภริยาทหารเรือ และมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดโครงการเฉลิมพระเกียรตินี้ขึ้น เพื่อช่วยให้เด็กออทิสติกชาวไทย ได้มีโอกาสรับการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง ควบคู่ไปกับการรักษาตามปกติที่ได้รับอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ๒. วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาส เฉลิมพระเกียรติ ๗๗ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยการบำบัดเด็กออทิสติกด้วยออกซิเจนความดันสูง จำนวนรวม ๗๘ คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ๓. ระยะเวลาดำเนินโครงการ ระยะเวลา ๑ ปี วันเริ่มโครงการ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ วันสิ้นสุดโครงการ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ๔. องค์กรร่วมบริหารโครงการ กองทัพเรือ สมาคมภริยาทหารเรือ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ๕. หน่วยดำเนินงานโครงการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ ๖. กลุ่มเป้าหมาย เด็กออทิสติกทุกช่วงอายุ ที่พำนักในกรุงเทพมหานคร และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จำนวน ๗๘ คน หรือสามารถเดินทางไปรับการรักษาได้โดยสะดวก ๗. งบประมาณดำเนินการ งบประมาณสำหรับการบำบัดเด็กออทิสติกด้วยออกซิเจนความดันสูง คำนวณตามอัตราค่าบริการที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังกำหนด (ไม่คิดค่าเครื่องมือแพทย์และค่าบุคลากร) จำนวนคนละ ๔๐ ครั้ง ๆ ละ ๑,๒๕๐.- บาท เป็นเงิน คนละ ๕๐,๐๐๐ .-บาท งบประมาณสำหรับการบำบัดเด็กออทิสติกด้วยออกซิเจนความดันสูง ๗๘ คน รวมเป็นเงิน ๓,๙๐๐,๐๐๐.- บาท ๘. ผลที่คาดว่าจะได้รับ ๘.๑ กองทัพเรือ สมาคมภริยาทหารเรือ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และผู้สนับสนุน ได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๗ พรรษา และวันแม่แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๒ ร่วมกับประชาชนทั่วประเทศ ๘.๒ พสกนิกรในวัยเด็กซึ่งประสบเคราะห์กรรมจากภาวะออทิสติก จะพ้นจากความทุกข์ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สมดังพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าของพระองค์พ้นทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บและมีสุขภาพดี ๘.๓ มารดาเด็กออทิสติกไทย มีความสุขและมีความหวังที่บุตรจะมีโอกาสได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูง เทียบเท่าการรักษาเด็กออทิสติกในประเทศที่มีความเจริญแล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ๘.๔ กองทัพเรือสามารถนำทรัพยากรด้านการแพทย์ของกองทัพ มาช่วยพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ของประเทศ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมเต็มศักยภาพ ๘.๕ ประชาชนที่มีกำลังทรัพย์และมีจิตศรัทธาได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ