บ.แพนเอเชียฯ คลิก iTAP เน้นทำจริง ผุด“อะคริลิคกันกระสุน”นำความรู้เปลี่ยนเป็นเงิน

ข่าวทั่วไป Wednesday February 10, 2010 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย บ.แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จก. คลิก iTAP ทำงานจริง ผุดผลิตภัณฑ์ใหม่ “อะคริลิคกันกระสุน” เหนียว ทนแรงกระแทกสูง ใช้ทำกระจกรถตู้นำไปใช้จริงแล้วในชายแดนใต้ ตั้งเป้าเปิดตลาดทำ “ตู้กระจกร้านทอง” มั่นใจทำงานกับ iTAP สามารถนำความรู้เปลี่ยนเป็นเงิน ช่วยพัฒนาภาคธุรกิจอย่างแท้จริง แผ่นอะคริลิค เป็นแผ่นพลาสติกที่มีคุณสมบัติใส เงางาม สมารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายประเภท อาทิ ผลิตเป็นชิ้นส่วนต่างๆในรถยนต์ หมวกกันน็อก กระเบื้องมุงหลังคาใส แผ่นป้ายโฆษณา ฯลฯแต่ข้อจำกัดของพลาสติกชนิดนี้ คือ เป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย เปราะและแตกหัก ไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในงานที่ต้องรับแรงกระแทกหนัก บริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรมจำกัด กลับฉีกกฎเหล่านี้โดยสามารถพัฒนาแผ่นอะคริลิคทนแรงกระแทกสูง ทำให้เกิดหลากหลายผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง บจก. แพนเอเชีย อุตสาหกรรม เริ่มต้นดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตแผ่นอะคริลิคมาตั้งแต่เมื่อปี 2527 เน้นการทำงานที่การสร้างคน สร้างระบบ และยังเป็นบริษัทรายแรกและรายเดียวที่ได้รับ ISO ทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ISO 9000 บริหารคุณภาพ ISO 14000 ด้านสิ่งแวดล้อม และ ISO 18000 สำหรับความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงได้รับรางวัลจากการทำงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกมากมาย นายโสรัตน์ วณิชวรากิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้วเข้ามารับช่วงต่อจากคุณแม่จิราพร วณิชวรากิจ ทำให้กลายเป็นบริษัทคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ที่พยายามส่งเสริมด้านการทำงานวิจัยและพัฒนา “ เราผลิตแผ่นอะคริลิคซึ่งเป็นคนไทยรายเดียวที่ยังเหลืออยู่ในประเทศ เนื่องจากคู่แข่งเป็นต่างชาติหมด จึงพยายามส่งเสริมเรื่องการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อให้บุคลากรได้สัมผัสการวิจัยและลงมือปฏิบัติจริง แต่การทำ R&D นั้นมีความเสี่ยง อย่างในขั้นตอนการทำวิจัยอาจทำได้ดี แต่เมื่อต้องผลิตจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเป็นSMEs จึงยิ่งต้องพยายามลดความเสี่ยงและคิดว่าน่าจะมีหน่วยงานที่สามารถ สร้างสะพานเชื่อมการวิจัยกับการทำงานจริง และได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ต่างๆที่ทำงานวิจัยร่วมกันว่ามี iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) จึงเกิดความสนใจเข้าร่วมโครงการ” รศ.นฤมล เครือองอาจนุกูล คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญจาก iTAP จึงเข้ามาร่วมให้คำปรึกษาวิจัยและพัฒนากับบริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัดใน โครงการการผลิตแผ่นอะคริลิค ทนแรงกระแทกสูง ด้วยเทคนิค Interpenetrating Polymer Networks (INPs) ในระดับ Pilot scale รศ.นฤมล กล่าวว่า พอลิเมทิลเมทาคริเลต (Polymethyl methacrylate) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแผ่นอะคริลิคทนแรงกระแทกสูงนั้นมีสมบัติเด่น ได้แก่ ความใส ยอมให้แสงผ่านได้มากกว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก แต่ยังมีข้อด้อย เช่น การเปราะแตกได้ง่าย เมื่อได้เข้ามาพัฒนางานในโครงการพบปัญหาระหว่างกระบวนการผลิต เช่น รอยย่นในกระบวนการหล่อขึ้นรูป ระยะเวลาเทสารลงแม่พิมพ์ ฯลฯ จึงได้ปรับปรุงสูตรต่างๆร่วมกับบริษัทฯเพื่อให้เหมาะสมที่จะนำไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ ผลจากการเข้าร่วมกับโครงการ iTAP ยังทำให้บริษัทฯสามารถปรับสูตรและกระบวนการผลิตแผ่นอะคริลิคทนแรงกระแทกสูง ด้วยเทคนิค INPs ใน Pilot scale ได้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้ยังมีสมบัติเชิงกลและกายภาพผ่านมาตรฐาน จนสามารถนำไปผลิตขายได้จริง และพนักงานของบริษัทยังได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ทั้งด้านวิชาการและกระบวนการผลิต ทำให้บริษัทฯสามารถรับออเดอร์เพิ่มเติมจากลูกค้าต่างๆถึง 5 บริษัทและขยายตลาดใหม่ในสินค้าที่มีความต้องการแผ่นอะคริลิคทนแรงกระแทกสูง เช่น แผ่นอะคริลิคที่ทนกระสุน เป็นต้น รศ.นฤมล กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการดังกล่าว ยังทำให้ได้รับรางวัลต่างๆ อีกมากมาย อาทิ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในงานประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทยครั้งที่ 8 นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯเข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการในการประชุม Youth Climate Conference Asia ณ ประเทศคูเวต และได้ร่วมเสนอผลงานในนิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ปี มจพ.ของมหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในปีที่ผ่านมาอีกด้วย กรรมการผู้จัดการบริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการนำมาโจทย์จากลูกค้ามาตั้งว่าจะทำอย่างไรให้อะคริลิคแข็งแรงขึ้นโดยพัฒนาสูตรร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ได้อะคริลิคที่มีความสามารถในการทนแรงกระแทกได้สูงและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ลูกค้ามีความต้องการที่จะนำไปผลิตเป็นกระจกป้องกันกระสุนในรถตู้ และได้ทำการทดสอบยิงแผ่นอะคริลิคของเราด้วยกระสุน 0.38 มม.ในระยะยิง 7 เมตร ปรากฏว่าเป็นที่น่าพอใจ สามารถกันกระสุนได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการผลิตเป็นกระจกด้านข้างของรถตู้ โดยทำมาจากใช้อะคริลิคหนา 15 มิลลิเมตร ซึ่งจะมีความเหนียว ทนกระสุนและมีการนำไปใช้งานจริงแล้วในจังหวัดยะลา “บริษัทฯยังต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม เนื่องจากแม้แผ่นอะคริลิคจะมีความเหนียว ทนทาน เงางาม ใสเหมือนกระจกไม่แตก แต่ยังมีจุดด้อย คือ แผ่นอะคริลิคจากทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นของบริษัทใด ยังไม่สามารถป้องกันรอยที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งหากใครข้ามแดนตรงนี้ได้ก็จะเจอน้ำอีกมาก ดังนั้นจึงเป็นคำตอบที่บริษัทฯยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม” กรรมการผู้จัดการบริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า เนื่องจากแผ่นอะคริลิคเป็นสินค้าที่สามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทำให้สามารถสร้างตลาดใหม่ๆทดแทนได้ เช่น ป้ายโฆษณาหากมีคนใช้น้อยลง โดยบริษัทฯผลิตแผ่นอะคริลิคที่มีความหนา 50-60 มิลลิเมตรซึ่งหนามาก รูปแบบต่างๆ จึงทำให้มีการปรับเปลี่ยนตลาดหมุนเวียนกันไป “ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย 70% โดยบริษัทฯผลิตแผ่นอะคริลิคเพียงอย่างเดียวและส่งต่อให้กับบริษัทลูกค้านำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆตามความต้องการ ดังนั้นบางผลิตภัณฑ์อาจมีความหนา-บางแตกต่างกันไป ส่วนที่มีความหนาไม่มากนัก มักทำเป็น “กรอบพระ” ทั้งที่เป็นแบบตั้งและห้อยคอ ซึ่งอาจไม่ต้องใช้อะคริลิคที่หนามาก ช่วยให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนไปได้ด้วย” ด้านตลาดยังมองโอกาสการขยายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอยู่เสมอ การเล็งเห็นสถานการณ์ร้านทองที่ราคาทองสูงขึ้น อาจเป็นสิ่งจูงใจให้เกิดการก่ออาชญากรรม ทำให้มองว่าหากนำอะคริลิคที่มีความหนาและทนแรงกระแทกสูงสูตรนี้พัฒนาเป็น “ตู้กระจกร้านทอง” เพื่อป้องกันกระสุน จะช่วยป้องกันการก่อเหตุร้ายทางหนึ่งได้ ผู้บริหารแพนเอเชียฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านกำลังการผลิตในปีที่ผ่านมา(2552)บริษัทฯผลิตแผ่นอะคริลิคจำหน่ายประมาณ 10 ตัน โดยมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น 15 % ซึ่งเป็นผลมาจากการเน้นกลยุทธ์โดยรวมด้านการตลาดและการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการพัฒนางานวิจัยและการนำงานวิจัยมาใช้จริง นอกจากนี้ยังมองการเข้าร่วมกับโครงการ iTAP ว่า ค่อนข้างพอใจที่ iTAP ปรับสถานการณ์ทำงานร่วมกับเอกชนได้ดี เช่น การสนับสนุนด้านงบประมาณที่ช่วยให้ภาคเอกชนมีความกล้าที่นำไปใช้ในภาคการผลิตจริงไม่ใช่การทำงานวิจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการทำงานที่เน้น “การนำองค์ความรู้มาเปลี่ยนให้เป็นเงิน” ซึ่งจะทำให้ SMEs เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดได้อย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ