กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สสวท.
นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า สสวท. ได้ดำเนินโครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในสถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา จำนวน 36 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก จ. เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ตอบสนองความต้องการของสาธารณชนและประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ในการที่จะทำให้โครงการฯ ดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดและมีความยั่งยืน จะต้องนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในโรงเรียน
ในการนี้ สสวท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำหนดหลักสูตรส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในรูปของการอบรมครูผู้สอน จัดทำเอกสารและสื่อ จึงเข้าไปมีบทบาทในโครงการนี้ ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการจัดทำสื่อเสริมการเรียนการสอนเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ และเผยแพร่องค์ความรู้และได้มีการลงนามในข้อตกลงไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 โดยในข้อตกลงเป็นความร่วมมือระยะ 2 ปี 7 เดือน (ถึง 30 กันยายน 2553) และ สสวท. จะต้องใช้งบประมาณสนับสนุนในภารกิจที่เกี่ยวข้อง
โครงการ ฯ นี้ จะมีส่วนทำให้การเรียนการสอน สาระการออกแบบและเทคโนโลยี ในหลักสูตรที่โครงการเทคโนโลยีรับผิดชอบอยู่ มีโอกาสเผยแพร่ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและยังมีส่วนช่วยเหลือผู้เรียนที่ด้อยโอกาสอีกทางหนึ่งด้วย
ล่าสุด โครงการเทคโนโลยี สสวท. จึงได้ ร่วมกับ สวทช. สพฐ.กศน. จัดอบรมครูในโครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าฯ ในวันที่ 16-19 ก.พ.53 จำนวน 2 จุด ไก้แก่ จุดที่ 1 สพท.แม่ฮ่องสอน เขต 2 จุดที่ 2 โรงเรียนชุมชนบ้านแม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อให้ครูผู้สอนในสถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา มีความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ และสามารถนำความรู้และสื่อการสอนที่ได้รับจากการอบรม ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์