กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--เวิรฟ
สสว. สนองนโยบายรัฐบาลจับมือ TCDC สร้าง SMEs ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ครอบคลุมผู้ประกอบการใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขา ทั้งงานการฟิก บรรจุภัณฑ์ แฟชั่น โฆษณา สถาปัตย์ฯ เน้นการบ่มเพาะองค์ความรู้และการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายและแสวงหาช่องทางธุรกิจให้SMEs เข้มแข็งอย่างยั่งยืน พร้อมวางเป้าหมายบูรณาการฐานข้อมูล 2 หน่วยงาน ใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจในระยะยาว
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี หรือสสว. กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สสว. และ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ว่า ภายใต้แนวคิดของ สสว. ในการที่จะ “สร้างปัญญา สู้ปัญหา และวางรากฐานการพัฒนา SMEs ไทย สู่ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวทางที่ สสว.ต้องการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนา ขับเคลื่อน และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs นั้น ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อันจะเป็นหนทางหนึ่งในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีความมั่งคั่งและมั่นคงต่อไป
ผอ.สสว. กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน SMEs นับว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เห็นได้จากจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีอยู่ถึงประมาณ 2.82 ล้านกิจการ คิดเป็นร้อยละ 99.7 ของจำนวนวิสาหกิจทั่วประเทศ มีการจ้างงานจำนวน 8.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 76 ของการจ้างงานของประเทศ ก่อให้เกิดมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 3.44 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.8 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ และมีมูลค่าส่งออก 1.69 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.9 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ ขณะเดียวกันยังเป็นกลไกการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชน สู่การเป็นสังคมผู้ประกอบการ
ดังนั้น การดำเนินงานเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ สสว. จึงได้กำหนดนโยบายหลักในการส่งเสริม SMEs ในปี 2553-2554 โดยให้ความสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ เอสเอ็มอีไปสู่ความยั่งยืน 2.การสร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก และ 3.การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาค
“การดำเนินงานตามกรอบนโยบายที่ได้วางไว้นั้น สสว. จะไม่เป็นผู้ปฏิบัติการเองทั้งหมด แต่มีแนวทางการทำงานในลักษณะที่จะทำงานร่วมกับหน่วยร่วมภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้กรอบนโยบายที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ดำเนินไปอย่างมีเป็นระบบและเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อผู้ประกอบการ SMEs และระบบเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด
ผอ.สสว. กล่าวอีกว่า ความร่วมมือระหว่าง สสว. และ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ในโครงการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ครั้งนี้ จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่ทั้งสองหน่วยงาน จะได้มีการผนึกกำลังเพื่อประสานและสนับสนุนการทำงานระหว่างกัน
“ความร่วมมือดังกล่าวคือ จะเน้นการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้วิธีการและกระบวนการคิดเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลวิสาหกิจสร้างสรรค์ที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์ของผู้กำหนดนโยบายและภาคธุรกิจ ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ซึ่งเราจะมีการตั้งคณะทำงานคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการประสานงานร่วมกันในการผลักดันโครงการให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม”
นายยุทธศักดิ์ เผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นโครงการที่พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs เติบโตได้อย่างยั่งยืน เข้มแข็ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ต่อไป
ทางด้านนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า การจัดตั้งโครงการดังกล่าว ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของ TCDC ในการขยายขอบเขตการให้บริการตั้งแต่การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนการแสวงหาช่องทางทางธุรกิจไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs ในทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการจากภูมิปัญญาไทยให้มีความเข้มแข็งและสามารถทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ทาง TCDC จะเข้าไปมีบทบาทในด้านการเชื่อมโยงและต่อยอดฐานข้อมูลของ สสว. ให้ครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขา และฐานข้อมูลผู้ประกอบการของ TCDC ในเว็บไซต์ www.tcdcconnect.com ซึ่งครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นหลัก อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการด้านการออกแบบกราฟฟิก บรรจุภัณฑ์ ธุรกิจแฟชั่น สถาปัตยกรรม การโฆษณา ฯลฯ จากนั้น TCDC จะร่วมกับ สสว. ในการนำฐานข้อมูลของทั้งสองหน่วยงานมาวิเคราะห์ถึงสภาพธุรกิจ ลักษณะการดำเนินกิจการ และดำเนินการจำแนกหมวดหมู่ข้อมูลให้มีความสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดแนวทางการพัฒนานโยบายและมาตรการส่งเสริมที่เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจต่อไป
พร้อมกันนี้ TCDC และ สสว. จะร่วมกันดำเนินการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และแนวคิดเพื่อการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการในด้านต่างๆ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของ TCDC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ การวิเคราะห์คุณสมบัติและการเลือกใช้วัสดุ การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ตลอดจนการสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่างผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value creation) ให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงการจัดบรรยายและการอบรมสัมมนาที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมความรู้พื้นฐานและการวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจ พร้อมกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกด้วย
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ทาง TCDC และ สสว. มุ่งหวังให้เกิดการสร้างเสริมโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เข้าถึงปัจจัยสำคัญผ่านกิจกรรมในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการวางรากฐานในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไปในอนาคต