กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--วว.
ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีและปุ๋ยชีวภาพ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยการดำเนินงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายให้ วว. ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยมาเป็นลำดับ จนกระทั่งประสบความสำเร็จสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่นและก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 53 โรง กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ครอบคลุม 33 จังหวัด และในปี 2548 วว. ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอีกจำนวน 16 โรง ซึ่งโรงงานปุ๋ยที่อำเภอประทายเป็น 1 ใน 16 แห่งของการก่อสร้างดังกล่าว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีความเชื่อมั่นว่าโรงงานแห่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอประทาย และพื้นที่ใกล้เคียงของจังหวัดนครราชสีมา ในการเข้ามาเรียนรู้หลักวิชาการที่ถูกต้องในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อที่จะนำไปผลิตและใช้ปุ๋ยกันอย่างแพร่หลาย จนสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อันจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยรัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาล ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงตำบลชีวานมีกำลังผลิตปุ่ยอินทรีย์ชนิดผงได้ปีละ 3,000 ตันและปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดปีละ 200 ตัน สามารถครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 8,000 ไร่ โดยโรงงานดังกล่าวประกอบด้วยอาคารขนาด 6 ด 12 เมตร จำนวน 2 หลัง และมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระการผลิตได้แก่ เครื่องอัดเม็ดปุ๋ย เครื่องตีป่น เครื่องผสมแบบแนวนอน เครื่องกลับปุ๋ย เครื่องเย็บกระสอบปุ๋ยและเครื่องชั่งปุ๋ย
“ประเทศไทยมีวัตถุดิบจำนวนมากที่สามารถนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพที่สามารถทดแทนการนำเข้าปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง ภายใต้โครงการนี้จะมีการก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยฯครอบคลุมพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรในประเทศที่มีมากกว่า 133 ล้านไร่หรือประมาณร้อยละ 41 ของ
พื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนแลสิ่งแวดล้อมโดยรวมดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.สุริยา สาสนรักกิจ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีปุ๋ย วว. กล่าวว่า ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. นั้นจะใช้วัสดุเหลือใช้/เหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ มูลสัตว์ แกลบ กาก ตะกอนน้ำตาล กากมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะให้กับท้องถิ่นและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างยั่งยืน
กลุ่มเกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไป ขอรับคำแนะนำปรึกษาด้านการใช้ปุ๋ยเพื่อการเกษตรกรรม การจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยแบบครบวงจร การตรวจสอบและวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน พืช และปุ๋ย รวมทั้งการฝึกอบรมเทคนิคการผลิตปุ๋ยอย่างถูกวิธี ได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีปุ๋ย วว. เลขที่ 35 หมู่ 3 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทรศัพท์ 0 2577 9280-1
โทรสาร 0 2577 9009 ในวันเวลาราชการ WWW : tistr.or.th--จบ--