ซีเอเผยวิสัยทัศน์ในงาน “ซีเอ เทคโนโลยี เดย์” ชี้หน่วยงานด้านไอทีต้องพัฒนาตัวเองสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านไอที (IT Services Factory) เพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน

ข่าวเทคโนโลยี Monday November 20, 2006 11:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
ซีเอ (CA) ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีบริหารจัดการสารสนเทศขององค์กร (Enterprise Information Technology Management - EITM) จัดงาน ซีเอ เทคโนโลยี เดย์ พร้อมการสัมมนาในหัวข้อ ทำระบบไอทีที่ซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่าย: ด้วยการบริหารจัดการที่ดีและมั่นใจได้ว่าปลอดภัยพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น” ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้องค์กรต่างๆ ตระหนักถึงการเปลี่ยนรูปแบบของโฟกัสด้านไอที และเสนอแนะกลยุทธ์การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยการเลือกใช้โซลูชันที่เหมาะสม
คาร์ล เวอร์เฮ้าสท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียใต้ของซีเอ ให้ความเห็นระหว่างงานสัมมนาว่า “ในยุคนี้แวดวงไอทีมีการพัฒนาก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน ในขณะที่สภาพแวดล้อมในการใช้งานเทคโนโลยีก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานด้านไอทีจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทางและเป้าหมายจากระบบที่มีลักษณะยึดผู้ให้บริการเป็นศูนย์กลาง (supply driven) มาเป็นระบบที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก (demand driven) นอกจากนี้ยังต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาสู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนบริการด้านไอทีภายในองค์กรนั้นๆ เนื่องจากองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของการลงทุนพัฒนาระบบไอที
นายคาร์ลกล่าวอีกว่า “หน่วยงานด้านไอทีจะต้องพยายามเพิ่มศักยภาพให้เสมือนเป็นผู้ให้บริการ (service factory) ที่สามารถตอบสนองและรองรับกระบวนการทำงานตามความต้องการของธุรกิจ ที่สำคัญ ผู้ใช้ต้องการบริการด้านไอทีที่พร้อมใช้งานตลอดเวลา และควรเป็นระบบที่น่าเชื่อถือได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าระบบเน็ตเวิร์กจะใช้งานได้หรือล่มเมื่อใด”
“ความขัดแย้งในแง่ของผลผลิตในโลกไอทีในปัจจุบัน ก็คือ แม้ว่าบางองค์กรจะลงทุนกับระบบไอทีมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงผลผลิตกลับไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย หากจะพัฒนาบริการด้าน ไอทีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนธุรกิจ หน่วยงานด้านไอทีขององค์กรนั้นๆ จะต้องมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้และความจำเป็นของธุรกิจเป็นหลัก โดยต้องพัฒนาตัวเองจนเป็นผู้ให้บริการภายใน (internal service provider) ขององค์กรให้ได้ สิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องทำเป็นลำดับต่อไป ก็คือ บริหารและใช้ประโยชน์จากบริการด้านไอทีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด”
จากรายงานล่าสุดของแมคคินซีย์ (McKinsey) ระบุว่า ร้อยละ 75-85 ของการใช้จ่ายด้าน ไอทีเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ซึ่งส่งผลให้โครงการส่วนที่จำเป็นจริงๆ กลายเป็นเพียงส่วนปลีกย่อย ดังนั้น การบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (operation expenditure — OPEX) ให้ได้ประโยชน์สูงสุดจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถนำงบประมาณไปใช้กำหนดกลยุทธ์และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
วิสัยทัศน์สำหรับโลกยุคใหม่
นายคาร์ล กล่าวว่า “สิ่งที่ถือเป็นหัวใจของธุรกิจ ก็คือ โซลูชันที่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงโซลูชันที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากวิธีการใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มผลผลิต และการใช้ทรัพยากรด้านไอทีอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันก็สามารถบริหารความเสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายได้”
เขาเสริมว่า “กลยุทธ์บริหารจัดการสารสนเทศขององค์กร หรือ EITM เป็นวิสัยทัศน์ของซีเอ ซึ่งมุ่งสร้างเอกภาพและความสะดวกสบายในการบริหารจัดการระบบสารสนเทศ เพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพและตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้อย่างทันท่วงที นับเป็นการพัฒนาอีกก้าวหนึ่งในแวดวงการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ
“สำหรับการทำให้ระบบไอทีสอดคล้องกับธุรกิจนั้น องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องสามารถบริหารจัดการการลงทุนด้านไอที คุณค่า และกระบวนการทางธุรกิจ (business process) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องทำการจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนด้านไอทีตามต้นทุน ประโยชน์ใช้สอย และคุณค่าของการลงทุนนั้นๆ ที่มีต่อระบบไอทีโดยรวม ซึ่งจะช่วยให้เล็งเห็นคุณค่าของการลงทุนในปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงวางแผนสำหรับการลงทุนในอนาคตและผสานไอทีเข้ากับความต้องการขององค์กรได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
การเงินก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการจัดการคุณค่าของการลงทุนด้านไอที ทั้งนี้ ต้องมีการวิเคราะห์การใช้งานในเชิงธุรกิจและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระบบไอที เพื่อแสดงให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงจากบริการด้านไอที นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ยังสามารถควบคุมการเชื่อมโยงระหว่างระบบไอที บริการ และทรัพยากร ให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจได้โดยการวิเคราะห์กระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้รู้ได้ว่าไอทีให้ประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง” นายคาร์ล กล่าวเพิ่มเติม
ในการก้าวไปสู่ทิศทางดังกล่าว นายคาร์ลแนะว่า ผู้นำองค์กรธุรกิจจะต้องตระหนักบทบาทอันสำคัญและขาดไม่ได้ของผู้บริหารหน่วยงานด้านไอที เช่น ซีไอโอ ผู้ซึ่งรู้ว่าศักยภาพของไอทีจะช่วยให้กลไกการดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคล่องตัวขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น ซีไอโอ จะต้องมีบทบาทที่ชัดเจนและได้รับมอบอำนาจการตัดสินใจและสั่งการจากซีอีโอหรือซีเอฟโอในการบริหารจัดการการใช้งานระบบไอที ยิ่งไปกว่านั้น ซีไอโอต้องสามารถสื่อสารให้ผู้นำองค์กรเล็งเห็นประโยชน์ที่จับต้องได้จากการลงทุนด้านไอทีอีกด้วย
นายคาร์ลย้ำอีกว่า ซีไอโอทั้งหลายต้องจัดลำดับความสำคัญและมอบหมายหน้าที่ในการจัดการข้อมูลเสมือนเป็นสินทรัพย์ที่ตีเป็นมูลค่าได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปผสานเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการดำเนินงาน “ข้อมูลถือเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก ขณะที่ระบบไอทีและกระบวนการต่างๆ ควรได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับทรัพยากรด้านข้อมูล (information asset) ในแง่ของการจัดหาช่องทางเข้าถึงบริการ ความพร้อมในการให้บริการ และมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม เมื่อซีไอโอได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าของข้อมูลแล้ว ก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นที่จะกำหนดโครงสร้างสถาปัตยกรรมระบบไอทีขึ้นมารองรับการจัดการข้อมูลดังกล่าว”
เกี่ยวกับซีเอ
ซีเอ เป็นหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยเน้นพัฒนาระบบบริหารจัดการไอทีสำหรับองค์กรที่รวมคุณสมบัติครบครันไว้ในหนึ่งเดียวและใช้งานง่าย
ซีเอ ก่อตั้งขึ้นในปี 1976 ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองไอส์แลนเดีย รัฐนิวยอร์ค และมีลูกค้าอยู่ในประเทศต่างๆ กว่า 140 ประเทศ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.ca.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ