สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ เดือนมกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 16:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--ตลท. ในเดือนมกราคม 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังทางการจีนมีมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งข่าวการจำกัดธุรกรรมการลงทุนของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงด้านสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอีกด้วย มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนมกราคม 2553 ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันของปี 2552 โดยนักลงทุนรายย่อยมีฐานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศมีฐานะเป็นผู้ขายสุทธิ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดและบัญชีซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต สะท้อนความสนใจของนักลงทุนที่มากขึ้น สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ในเดือนมกราคม 2553 ปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยรายวันลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2552 จากการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ (Gold Futures) และมีจำนวนหลักทรัพย์อ้างอิงของ Single Stock Futures เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์งวดปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2551 โดยธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากปี 2551 อย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม่มีผลขาดทุนจากเงินลงทุนและมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 4/2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2551 จากการไม่มีผลขาดทุนจากเงินลงทุนเช่นกัน ทั้งนี้ ภาพรวมการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับทรงตัวแต่สามารถควบคุมระดับหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ได้ดีขึ้น 1. ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET index) ปรับลดลงร้อยละ 5.17 จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 สอดคล้องกับทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่ปรับลดลง ดัชนี SET ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค กอปรกับได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี SET ปรับขึ้นสู่จุดสูงสุดของเดือนที่ 746.89 จุดในวันที่ 18 มกราคม 2553 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังเดือนมกราคม 2553 ดัชนี SET ปรับลดลงต่อเนื่อง 8 วัน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการปรับลดลงของตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ จากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังทางการจีนควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงมีปัจจัยลบจากข้อเสนอมาตรการจำกัดธุรกรรมการลงทุนของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นอีกด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ดัชนี SET ปิดที่ 696.55 จุด ลดลงร้อยละ 5.17 จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 ขณะที่ดัชนี mai ปิดที่ 210.06 จุด ลดลงร้อยละ 2.43 จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) รวมของ SET และ mai ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 อยู่ที่ 5,609,872 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.11 จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 สำหรับค่าอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ ณ เวลาปัจจุบันและกำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E ratio) ของไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 อยู่ที่ 10.5 เท่า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 7.4 เท่า ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 เป็นผลจากการปรับขึ้นของดัชนีหลักทรัพย์ในช่วงปี 2552 เป็นสำคัญ ด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2552 เปรียบเทียบระหว่างไทยและตลาดภูมิภาค พบว่า มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากปี 2551 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค[1] ที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.5 สำหรับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของไทยในเดือนมกราคม 2553 อยู่ที่ 11 พันล้านเหรียญ สรอ. 2. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ในเดือนมกราคม 2553 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและสูงกว่ามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันของปี 2552 โดยมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของ SET และ mai ในเดือนมกราคม 2553 มีมูลค่ารวม 380,538 ล้านบาท และมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันในเดือนมกราคม 2553 อยู่ที่ 19,027 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.70 จากเดือนธันวาคม 2552 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 77.37 จากเดือนมกราคม 2552 อีกทั้งเป็นมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันของปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 18,226 ล้านบาท เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของ SET และ mai แยกตามประเภทนักลงทุน ในเดือนมกราคม 2553 นักลงทุนบุคคลทั่วไปมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ร้อยละ 56.4 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด โดยนักลงทุนบุคคลทั่วไปซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ดัชนี SET ปรับลดลงและมีมูลค่าซื้อสุทธิ 17,810 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายหุ้นอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าขายสุทธิ 8,239 ล้านบาท และเป็นการขายสุทธิเดือนแรกหลังจากเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 เดือน สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ มีมูลค่าขายสุทธิ 7,503 ล้านบาท ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของหลักทรัพย์พบว่าสัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มพลังงานปรับลดลงขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีสัดส่วนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 โดยสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่มพลังงานลดลงจากร้อยละ 37 ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 34 ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 24 หลังจากปรับลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในเดือนธันวาคม 2552 เป็นร้อยละ 5 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ในเดือนมกราคม 2553 พบว่ามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรกมีสัดส่วนลดลง ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอันดับ 11-30 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยในเดือนมกราคม 2553 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอันดับ 11-30 สูงถึงร้อยละ 33 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27 ในเดือนธันวาคม 2552 3. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละเดือนของปี 2552 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ เดือนธันวาคม 2552 มีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายภายในเดือน (Active Account) เท่ากับ 120,668 บัญชี เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 จากเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายเท่ากับ 93,671 บัญชี สะท้อนความสนใจของนักลงทุนที่มากขึ้นตามการฟื้นตัวของดัชนีหลักทรัพย์ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนสูงที่สุดในปี 2552 ถึง 145,727 บัญชี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกรรมการซื้อขายที่เบาบางลงในช่วงปลายปีซึ่งมีวันหยุดทำการค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายต่อเดือน (Active Rate) ของปี 2552 มีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 20.9 ทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปี 2551 ที่ร้อยละ 20.5 สำหรับจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตและมูลค่าซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตในปี 2552 พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจกรรมส่งเสริมการซื้อขายหลักทรัพย์ทางอินเทอร์เน็ตของบริษัทหลักทรัพย์ โดยจำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตที่มีการซื้อขายในเดือนธันวาคม 2552 เท่ากับ 45,143 บัญชี เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.2 จากเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีจำนวน 28,709 บัญชี ทั้งนี้สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 20.9 เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 15.9 ในปี 2551 4. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ ในเดือนมกราคม 2553 มีปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยรายวันของทุกตราสารลดลงจากเดือนธันวาคม 2552 ยกเว้น Single Stock Futures ที่ปรับสูงขึ้นร้อยละ 18.93 แต่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2553 ตลาดอนุพันธ์มีปริมาณการซื้อขายรวม 259,949 สัญญา คิดเป็นปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 12,997 สัญญา ลดลงร้อยละ 12.48 จากเดือนธันวาคม 2552 เป็นผลจากปริมาณการซื้อขายของทุกตราสารที่ปรับลดลง ยกเว้น Single Stock Futures ที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.93 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2552 ปริมาณการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในเดือนมกราคม 2553 ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.45 เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ใหม่ (Gold Futures) และจำนวนหลักทรัพย์อ้างอิงของ Single Stock Futures ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ 5. ภาพรวมด้านการระดมทุน [2] การระดมทุนในรูปตราสารทุนในเดือนมกราคม 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนทั้งหมด 893 ล้านบาท ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการระดมทุนในเดือนมกราคม 2552 จากภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่ดีขึ้น ในเดือนมกราคม 2553 มีเพียงการระดมทุนเฉพาะในตลาดรองเท่านั้น การระดมทุนส่วนใหญ่เกิดจากการระดมทุนของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)(CGS) มูลค่า 603.71 ล้านบาท และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)(IRPC) มูลค่า 204.80 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 91 ของมูลค่าการระดมทุนทั้งหมดในเดือนนี้ ทั้งนี้ มูลค่าการระดมทุนในเดือนมกราคม 2553 ปรับลดลงจากเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งมีมูลค่าการระดมทุน 2,145 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการระดมทุนในเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีมูลค่าการระดมทุน 215 ล้านบาท หัวข้อพิเศษ 1. รายงานผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์งวดไตรมาส 4/2552 ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ [3] (ธนาคารฯ) ในปี 2552 มีกำไรสุทธิสูงขึ้นจากปี 2551 และมีกำไรสุทธิไตรมาส 4/2552 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2551 ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิในปี 2552 รวม 91,151 ล้านบาท (งบการเงินรวม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.26 จากปี 2551 โดยธนาคารฯ ส่วนใหญ่มีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากปี 2551 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการไม่มีผลขาดทุนจากเงินลงทุนและมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2552 รวม 22,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 90.18 จากไตรมาส 4/2551 ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการไม่มีผลขาดทุนจากเงินลงทุน ทั้งนี้ ภาพรวมการขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ [4] ในปี 2552 หดตัวร้อยละ 1.8 จากปี 2551 ตามการหดตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การควบคุมคุณภาพสินทรัพย์มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นสะท้อนจากอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPLs) ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2551 ที่ร้อยละ 5.3 ขณะที่สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวสูงขึ้นโดย ณ สิ้นปี 2552 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋วแลกเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงเป็นร้อยละ 85.8 เทียบกับร้อยละ 88.3 ณ สิ้นปี 2551 2. ความคืบหน้าการดำเนินโครงการ ASEAN Linkage กลุ่มตลาดหลักทรัพย์อาเซียนแต่งตั้ง NYSE Technologies (เอ็นวายเอสอี เทคโนโลยี) เป็นผู้ออกแบบและพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์โครงการ ASEAN Linkage ในการประชุมผู้บริหารสูงสุดของตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มอาเซียนครั้งที่ 10 (ASEAN Exchange CEOs Meeting) ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนนี้ เป็นการเชื่อมต่อนักลงทุนและบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนที่เข้าร่วมโครงการได้โดยตรงจากประเทศของตนเอง อีกทั้ง ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะเชื่อมต่อตรงระหว่างนักลงทุนนอกภูมิภาคกับตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ซึ่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ให้เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนมากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่นำสมัยและเครือข่ายที่ครอบคลุมของ NYSE Technologies จะช่วยเพิ่มปริมาณธุรกรรมการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนไทย ซึ่งกิจกรรมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนจะดำเนินการต่อไป คือ การเดินหน้าจัดกิจกรรมทางการตลาด เพื่อประชาสัมพันธ์และเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัทสมาชิก บริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนไทย ให้เข้าใจและทราบถึงช่องทางการเชื่อมโยงในการซื้อขายหลักทรัพย์อาเซียน รวมทั้ง ประโยชน์จากโครงการ ASEAN Linkage นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 ติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229—2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229—2048 / ณัฐยา เมืองแมน โทร. 0-2229-2043

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ