นิทรรศการข้ามพรมแดน Border Crossing

ข่าวทั่วไป Thursday February 11, 2010 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ภัณฑารักษ์: Wendy Grace Allen (นามสกุลเดิม Dawson) ภัณฑารักษ์ร่วมในประเทศไทย: ดร.อภิชาติ พลประเสริฐ ศิลปิน: Wendy Grace Allen (นามสกุลเดิม Dawson), ดร. อภิชาติ พลประเสริฐ และ Helen Stacey ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 5 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2553 ข้อมูลโครงการโดยสังเขป โครงการศิลปะ Border Crossing เป็นการศึกษาทดลองทางศิลปะเพื่อค้นหาแนวทางการทำงานร่วมกันของศิลปิน โดยที่แต่ละคนได้ทดลองทำงานร่วมกันด้วยกระบวนการคิดและการสร้างสรรค์ที่มีการทับซ้อนกันหลายชั้นบนผลงานที่พิมพ์ซ้ำจากผลงานของศิลปินคนอื่นภายในกลุ่ม ซึ่งเป็นการก้าวข้ามเขตแดนทางด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ภายใต้แนวทางการทำงานเดียวกันนี้ ศิลปินสะท้อนประเด็นต่าง ๆ ในปัจจุบันที่เกี่ยวเนื่องกับการถือครองที่ดิน และ/หรือ การถวิลหาทัศนีภาพของชนบทที่สูญหายไป โดยแต่ละคนก็อ้างถึงบริบททางวัฒนธรรมที่ตนเองอาศัยอยู่ โครงการนี้มีผลสรุปรวบยอดเป็นนิทรรศการและการอบรมเชิงปฏิบัติการที่จะจัดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นิทรรศการปฐมฤกษ์จะจัดขึ้นที่หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปแนวคิดและวิธีการทำงาน - การทำงานศิลปะร่วมกันเชิงทดลองระหว่างศิลปินที่มาจากบริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกัน - การใช้วิธีการทำซ้ำทางศิลปะเป็นเครื่องมือของการทำงานร่วมกัน - ประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศร่วมสมัยในการสื่อสารที่ก้าวข้ามช่องว่างทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม - การประสานงานทางความคิดเกี่ยวกับหัวข้องานโดยมีภูมิทัศน์วัฒนธรรมของศิลปินแต่ละคนเป็นกรอบ - ความคิดเรื่องความเป็นต้นแบบ (Originality) การครอบครองกรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ และลักษณะของแท้ (Authenticity) ? การหาทางออกให้กับความขัดแย้งระหว่างอิสรภาพในการสร้างสรรค์ของศิลปินและการเคารพผลงานศิลปินคนอื่น เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ เป้าหมายของ The Border Crossing Art Project คือการทำงานทดลองระหว่างศิลปินซึ่งต่างคนต่างก็มาจากบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยใช้เทคโนโลยีด้านดิจิตอลและการสื่อสารในปัจจุบันเพื่อขยายขอบเขตความเป็นไปได้ในเรื่องการทำงานเชิงสร้างสรรค์ จนนำมาซึ่งนิทรรศการและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่จะจัดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ส่วนสำคัญของขั้นตอนการทำงานคือวิธีการที่ศิลปินสื่อสารข้ามความแตกต่างทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม Border Crossing ตั้งคำถามว่า ประเด็นเรื่องการเผยแพร่ข้อมูล การทำภาพซ้ำ การครอบครองกรรมสิทธิ์ และกฎหมายลิขสิทธิ์ ถูกกำหนดขึ้นและนำไปปฏิบัติอย่างไร การนำงานศิลปะที่ทำถูกซ้ำขึ้นมาใช้ เป็นการท้าทายความคิดเรื่องความเป็นของแท้และความเป็นต้นแบบของงานศิลปะ โดยตั้งคำถามว่าใครที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงและจะได้รับค่าตอบแทนจากผลงานที่สร้างขึ้นโดยศิลปินหลายคนที่ทำงานร่วมกัน ใช่ศิลปินคนแรกที่ลงมือผลิตงานหรือไม่ หรือจะเป็นศิลปินที่จ่ายค่าทำงานซ้ำ หรือคนที่ทำงานเป็นคนสุดท้าย ต่างกับความสัมพันธ์ฉันอาจารย์และลูกศิษย์ ศิลปินทั้งสามคนได้รับความสำคัญเท่าเทียมกันในการสร้างงาน แม้ว่าศิลปินที่ทำงานเป็นคนสุดท้ายจะมีความรับผิดชอบและอิสรภาพในการทำให้งานสำเร็จออกมาทางใดทางหนึ่งมากที่สุด สิ่งสำคัญในขั้นตอนคือความเคารพและตระหนักถึงสไตล์การเขียนภาพที่แตกต่างของศิลปินคนอื่นและความจำเป็นในการปรับตัวให้เข้ากับงาน ศิลปินแต่ละคนมีอภิสิทธิ์ที่จะเลือกว่าองค์ประกอบใดของงานที่ตนจะเก็บไว้ และส่วนใดที่จะลบทิ้งหรือปรับเปลี่ยน หรือแม้แต่จะวาดภาพทับงานทั้งชิ้นเลยก็เป็นได้ ขั้นตอนนี้ท้าทายแนวคิดของ Modernism ที่อ้างว่าศิลปินเป็น “ฮีโร่ หรือ อัจฉริยะ” โดยที่ศิลปินไม่ได้เป็นผู้สร้างหรือเจ้าของผลงานแต่เพียงผู้เดียว ยิ่งกว่านั้น ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีร่วมสมัยในการทำงานศิลปะซ้ำ ผลงานได้ถูกผลิตเพิ่มและสร้างสรรค์ต่อเติมโดยศิลปินคนต่อไป โดยยังสามารถตรวจสอบวิวัฒนาการของงานได้ คล้าย ๆ กับเป็นแผนภูมิลำดับญาติ นอกเหนือจากแนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับขั้นตอนการสร้างงาน ศิลปินยังสะท้อนประเด็นต่าง ๆ ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน และ/หรือการหวนคำถึงถึงทัศนียภาพชนบทที่หายไป โดยอ้างถึงบริบททางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นของศิลปิน ผลลัพท์ที่ตั้งใจไว้ของนิทรรศการและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการคือการนำเสนอผลงานที่ให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในบทสนทนาที่กินพื้นที่หลายประเทศ กระตุ้นการถกเถียงเรื่องความคิดและประเด็นต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอในผลงาน ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศิลปินที่มาจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน โดยผู้ชมสามารถแสดงความเห็นผ่าน http://thebordercrossingartproject.blogspot.com และใน Facebook เพื่อให้มีการโต้ตอบได้โดยตรงและร่วมพูดคุยอย่างต่อเนื่อง แนวคิดและประวัติของศิลปินโดยย่อ Wendy Grace Allen (นามสกุลเกิด Dawson) เกิดที่ Palmerston North ประเทศนิวซีแลนด์ ปัจจุบันใช้ชีวิตและทำงานที่นิวซีแลนด์และที่จังหวัดปีนัง ประเทศมาเลย์เซีย ใน The Border Crossing Art Project นี้ Wendy พูดถึงเรื่องการล่าอาณานิคม และการเป็นเจ้าของที่ดินในบริบทของประเทศนิวซีแลนด์ โดยพูดถึงความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นของเธอที่มีต่อบ้านเกิด การโต้ตอบของ Wendy ต่อเรื่อง “ดินแดนและสถานที่” เกิดจากประสบการณ์การใช้ชีวิตในภูมิประเทศที่สวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจ และคงความเป็นธรรมชาติของนิวซีแลนด์ และทัศนคติของชาวคริสต์ที่มีต่อพระเจ้าในฐานะผู้สร้างและความรับผิดชอบของมนุษย์ในฐานะผู้รักษาสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา Wendy ได้พบกับนักเรียนปริญญาโทด้านทัศนศิลป์ร่วมชั้นในตอนนั้น Helen Stacey และ อภิชาติ พลประเสริฐ ที่ University of South Australia หลังจากเรียนจบ Wendy ได้อาศัยอยู่ในหลาย ๆ แห่งในประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย สิงคโปร์ และประเทศไทย เธอเพิ่งเสร็จจากการเข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนักที่ศูนย์ศิลป์ชนบทบ้านเป้า ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่ อภิชาติ พลประเสริฐ เป็นผู้จัดตั้งขึ้น และตอนนี้อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์และที่ปีนัง ประเทศมาเลย์เซีย อภิชาติ พลประเสริฐ เกิดที่จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันเป็นศิลปินและอาจารย์ ที่สาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน Border Crossing ผลงานของอภิชาติเป็นการผสมผสานความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมชนบทและวัฒนธรรมเมือง ประสบการณ์ที่ขัดแย้งกันจากการที่เกิดในครอบครัวเกษตรกรรมที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การย้ายมาอยู่กรุงเทพ และจากนั้นก็ย้ายไปที่ Adelaide ประเทศออสเตรเลีย และที่ Newcastle ประเทศอังกฤษ เพื่อที่จะเรียนต่อนั้น ทำให้เขาพัฒนาปรัชญาการทำงานศิลปะ ปรัชญาที่ว่านี้มีขึ้นและตอบสนองต่อความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างสองสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน (Binary) เช่น ความเป็นชนบทกับความเป็นเมือง เทคโนโลยีขั้นต่ำกับเทคโนโลยีขั้นสูง และความเป็นพื้นถิ่นกับความเป็นสากล Helen Stacey เกิดที่ Strathalbyn ทางใต้ของออสเตรเลีย เป็นอาจารย์สอนศิลปะระดับมัธยมศึกษาและผู้ประสานงานระหว่างปี 2527-2530 Master of Visual Arts 2540, Master of Visual Arts (Research) 2547 และเป็นศิลปินมา 22 ปี ในความร่วมมือกันทำงานนิทรรศการครั้งนี้ Helen Stacey ทำงานเกี่ยวกับหัวข้อที่เธอใช้ในงานศิลปะมาตลอด ซึ่งก็คือ “ดินแดน” ในฐานะที่เป็นพื้นที่ที่ถูกเข้ายึดครอง แต่ก็ยังเป็นสถานที่ที่สวยงาม เต็มไปด้วยการเปรียบเปรยทางด้านจิตวิญญาณ และเป็นฉากสำหรับการมีส่วนร่วมต่างวัฒนธรรม ในการทำงานเธอพยายามที่จะพัฒนาความร่วมมือทางด้านทัศนศิลป์ในระดับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างศิลปินและคนทั่วไปที่เป็นคนอะบอริจินและที่ไม่ใช่คนอะบอริจิน และในบริบทที่ใหญ่กว่านั้น เธอก็ตระหนักว่าศิลปะเป็นหนทางในการสร้างสัมพันธภาพที่ไม่เป็นไปในลักษณะคุกคาม หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330 โทรศัพท์: 0-2218-2965 โทรสาร: 0-2218-2907 อีเมล์: info.artcenterchula@gmail.com www.car.chula.ac.th/art เปิดทำการ จันทร์-ศุกร์: 9.00-19.00 น. เสาร์: 9.00-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ