กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ซีเกท เทคโนโลยี
ซีเกทร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเอไอที เปิดตัว ”การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย” โดยเป็นการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์อัจฉริยะไร้คนบังคับ ในสนามจริงครั้งแรกของโลก
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) เปิดตัว ”การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย” โดยเป็นการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์อัจฉริยะไร้คนบังคับ ในสนามจริงครั้งแรกของโลกด้วย
การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นการแข่งขันออกแบบและพัฒนาจักรยานที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลแบบสองล้อหน้าหลังได้ด้วยตัวเองโดยไม่ล้มไปด้านข้าง โดยใช้การควบคุมทางพลศาสตร์ นอกจากนี้ จักรยานจะต้องมีกลไกและสมองอันอัจฉริยะที่จะสั่งการในการวิ่งได้ด้วยตัวเอง จากจุดเริ่มต้นผ่านเส้นทางที่กำหนดให้ไปถึงจุดหมายโดยไร้คนบังคับ นิสิต นักศึกษาที่ผ่านการแข่งขันนี้จะได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 19 มีนาคม 2553 สำหรับคุณสมบัติของทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน สมาชิกในทีมจะต้องเป็นนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา หรือสูงกว่าในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย มีสมาชิกในทีม 3 คน และมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ผู้สนใจสามารถลงทะเบียน ดูกติกา และรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bicyrobo.ait.ac.th หรือ http://www.trs.or.th
“ธรรมชาติของเยาวชนซึ่งมีความสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับความสามารถในการทำงานเป็นทีม เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการพัฒนาโซลูชั่นอันสร้างสรรค์สำหรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าว “การจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2553 ครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกในโลกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญ ในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและวิศวกรรมควบคุม ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรแก่นิสิตนักศึกษาไทย และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
“การแข่งขันนี้ยังสนับสนุนโครงการยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ตามแผนแม่บทหุ่นยนต์แห่งชาติ โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทยและระบบอัตโนมัติ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ กล่าวเสริม
“เอไอที มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและซีเกทอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้เคยร่วมกันจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะจนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง เอไอทีพร้อมที่จะจัดการแข่งขันนี้ให้ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่ง” ศาสตราจาย์วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย รองอธิการบดีสถาบันเอไอทีร่วมกล่าวสนับสนุนการจัดแข่งขัน
นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่ายปฏิบัติการประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จุดประสงค์หลักที่ซีเกทให้การสนับสนุนนิสิต นักศึกษาไทยในการเข้าร่วม การแข่งขันสร้างรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนขับ คือ เราต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถทั้งในด้านวิชาการ และทางด้านปฏิบัติ ซีเกทหวังว่าพวกเขาจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชนคนอื่นๆ ในแง่การใช้สติปัญญา และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งความพยายามเพื่อสร้างผลงานที่ดีได้อย่างน่าทึ่ง และสามารถนำผลงานเหล่านี้ไปพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในชุมชน ระดับประเทศ และสามารถขยายผลไปถึงในระดับโลกอีกด้วย”
“ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีของการดำเนินงานในประเทศไทย ซีเกทมีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ในประเทศไทย ซีเกทมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนการแข่งขันสร้างรถจักรยานไร้คนขับซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก การแข่งขันนี้จะช่วยจุดประกายนิสิต นักศึกษาไทยให้มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และปรับใช้ความชำนาญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์ซึ่งจะส่งผลดีตลอดชีวิตของพวกเขาในการเป็นวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักประดิษฐ์ในอนาคต นอกจากนี้ ทางบริษัทฯยังมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างซีเกท สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเอไอทีจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย”
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2553 และอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย กล่าวถึงกฎและกติกาในการแข่งขันว่า “จักรยานหุ่นยนต์จะต้องสามารถวิ่งได้ด้วยตัวเอง จากจุดเริ่มต้นผ่านเส้นทางที่กำหนดให้ไปถึงจุดหมายโดยไร้คนบังคับ การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รอบคือรอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศ สำหรับการแข่งขันในรอบคัดเลือก ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ เร็วที่สุดและไกลที่สุด”
“ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ โดยที่เส้นทางจะถูกกำหนดให้ในลักษณะของตำแหน่งต่าง ๆ ที่จักรยานหุ่นยนต์จะต้องวิ่งผ่านตามลำดับ วิ่งวนไปเรื่อย ๆ จนหมดเวลาหรือจนได้ผู้ชนะจากการวัดระยะทางหรือการกำลังถูกแซง ในรอบชิงชนะเลิศคณะกรรมการสนามจะทำการปล่อยจักรยานหุ่นยนต์ครั้งละ 2 คันพร้อมกัน โดยจุดที่ปล่อยจะห่างกันครึ่งหนึ่งของระยะทางเส้นทางการแข่งขัน ทีมที่ถูกตามหลังด้วยระยะห่างสั้นกว่า 50 เมตรจะถือว่ากำลังถูกแซง จะแพ้ในการแข่งขันต่อทีมที่กำลังจะแซงทันที ในกรณีที่ไม่มีการแพ้ชนะแบบมีการแซงกันเกิดขึ้นการตัดสินทีมที่ชนะ จะพิจารณาจากทีมที่วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุด การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเป็นการแข่งขันแบบแพ้ตกรอบ การแบ่งสายการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศจะมีการวางทีมที่ทำคะแนนในรอบคัดเลือกได้ดีที่สุด 8 ทีมแรกเป็นทีมวางของสายทีมที่เหลือได้จากการจับสลาก หลังจากได้ทีมชนะครบทุกทีมในแต่ละรอบแล้วจะมีการจับสลากแบ่งสายไปเรื่อย ๆ จนได้ 2 ทีมสุดท้าย” รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ กล่าวเสริม
ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน บริษัทซีเกทจะมอบรางวัลสำหรับจักรยานหุ่นยนต์ ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ 150,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 50,000 บาท และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ 50,000 บาท ทีมที่ทำคะแนนสูงสุดจำนวน 16 ทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จะได้รับรางวัลทีมละ 20,000 บาท
ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือ เว็บไซต์ www.trs.or.th
ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูลจาก การนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และแบรนด์โซลูชั่น (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพไปยังลูกค้าทั่วโลก ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการจัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่ www.seagate.com
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ
โทรศัพท์ 0-2524-5229 Email: manukid@ait.ac.th
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com