ปภ.แนะประชาชนร่วมสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยจากเพลิงไหม้

ข่าวทั่วไป Friday February 12, 2010 08:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะประชาชนร่วมขับเคลื่อนการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในเคหสถานและสถานประกอบการ โดยร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย จัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ หมั่นกำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมติดตั้งสายดิน ระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ ถังดับเพลิงเคมี เครื่องตรวจจับควันไฟ และกริ่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ที่ส่งเสียงดังไว้ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้กำหนดให้เป็นปี 2553 เป็นปีแห่งการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในเคหสถานและสถานประกอบการ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนปีแห่งการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในเคหสถานและสถานประกอบการ จึงขอแนะให้ประชาชนร่วมสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย ดังนี้ จัดระเบียบบ้าน โดยจัดวางสิ่งของภายในบ้านเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่กีดขวางบริเวณประตู หน้าต่าง บันไดบ้าน หากเกิดเพลิงไหม้จะได้หนีไฟได้อย่างทันท่วงที จัดเก็บกุญแจประตูบ้านและประตูเหล็กดัดไว้ในจุดที่สามารถหยิบใช้งานได้อย่างสะดวกกรณีเกิดเพลิงไหม้ รวมถึงจัดให้มีทางเข้า-ออกจากบ้านหลายทาง เพื่อจะได้มีเส้นทางอพยพหนีไฟหลายเส้นทาง หากติดตั้งเหล็กดัดบริเวณประตู หน้าต่าง ให้เลือกใช้แบบที่สามารถถอดหรือเปิดได้ ไม่ติดตั้งแบบติดถาวร เพราะหากเกิดเพลิงไหม้ จะไม่สามารถหลบหนีออกจากบ้านได้ทัน หมั่นกำจัดวัสดุที่มีลักษณะเป็นเชื้อเพลิง เช่น กระดาษ หนังสือพิมพ์ ไม้ขีดไฟ เศษไม้ เป็นต้น เพราะหากเกิดเพลิงไหม้ วัสดุเหล่านี้จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว และยากต่อการควบคุม แยกเก็บสารเคมีที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาติดไฟง่ายในบริเวณที่แห้งและเย็น ห่างจากแหล่งความร้อนที่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการระเบิด หรือลุกไหม้ แยกห้องครัวออกจากบริเวณบ้าน หรือประกอบอาหารบริเวณหลังบ้านที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีแหล่งเชื้อเพลิง ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งบริเวณที่แสงแดดส่องถึง ฝนสาด และใกล้แหล่งความร้อน เนื่องจากฉนวนหุ้มสายไฟอาจฉีกขาดได้ง่าย ทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร จนเกิดเพลิงไหม้ พร้อมทั้งหมั่นสังเกตความผิดปกติของอุปกรณ์ไฟฟ้า หากพบสายไฟมีลักษณะฉีกขาด บุบ บวม สีเปลี่ยน มีกลิ่นเหม็นไหม้ ให้จัดการเปลี่ยนใหม่หรือซ่อมแซมในทันที ไม่เสียบปลั๊กไฟหลายอันไว้บนเต้าเสียบเดียวกัน หรือเสียบปลั๊กไฟค้างทิ้งไว้เป็นเวลานาน เนื่องจากหากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ติดตั้งระบบป้องกันเพลิงไหม้ โดยติดตั้งสายดินกับอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทที่มีเปลือกเป็นโลหะหุ้มและตั้งอยู่กับที่ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น เตาไมโครเวฟ เป็นต้น และติดตั้งระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ จะช่วยป้องกันไฟไหม้จากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ติดตั้งถังดับเพลิงเคมี เครื่องตรวจจับควันไฟ และกริ่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ที่ส่งเสียงดังไว้ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ เช่น ห้องครัว ห้องพระ ห้องนอน เป็นต้น ที่สำคัญ ควรเลือกใช้กระถางธูป เชิงเทียนและที่เขี่ยบุหรี่ประเภทที่เป็นภาชนะทนไฟ เพื่อป้องกันไฟลุกลาม เพิ่มความระมัดระวังการประกอบกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้เป็นพิเศษ รวมถึงเรียนรู้วิธีป้องกัน วิธีปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยหากเกิดเพลิงไหม้ จะช่วยลดความสูญเสียชีวิต และความเสียหายต่อทรัพย์สินจากเพลิงไหม้///

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ