ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารนครหลวงไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 12, 2010 14:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB ดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term foreign currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-term foreign currency IDR) ที่ ‘B’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารที่ ‘D’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘4’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘B+’ อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB+(tha)’ อันดับเครดิตของธนาคารสะท้อนถึงเครือข่ายการดำเนินงานของธนาคารและคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้ปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้น ในปี 2552 SCIB มีกำไรสุทธิ 4.2 พันล้านบาทและอัตรากำไรต่อสินทรัพย์ที่ 1% แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2552 จะอยู่ในระดับที่อ่อนแอ และการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารอยู่ในระดับต่ำ ในปี 2551 SCIB มีกำไรสุทธิ 4.1 พันล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุน 2 พันล้านบาทในปี 2550 ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง อัตราส่วนต่างกำไรดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยเป็น 3.3% ในปี 2552 จาก 3.4% ในปี 2551 เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในธนาคารที่กำลังจะเกิดขึ้น และการปรับโครงสร้างการดำเนินงานจากการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้น อาจส่งผลต่อการขยายสินเชื่อและผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2553 นอกจากนั้นธนาคารยังคงมีความเสี่ยงของการตั้งสำรองหนี้สูญที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงตามหลังสภาวะเศรษฐกิจ คุณภาพสินทรัพย์ของ SCIB ได้อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 — 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารได้มีการขยายสินเชื่อในระดับที่สูงมาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้ปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2552 โดยธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากนักเป็น 24.8 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6% ในงบการการเงินเฉพาะของธนาคาร) ณ สิ้นปี 2552 สำหรับปี 2553 SCIB คาดว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะลดลง เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ เนื่องจากธนาคารยังคงมีสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษอยู่ในระดับสูง (8.9% ของสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552) เงินกองทุนของ SCIB อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 10.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนรวมของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 14.6% เนื่องจากการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิจำนวน 10 พันล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนรวมของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันธนาคารพาณิชย์อื่น แนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอยู่ในระดับ ‘มีเสถียรภาพ’ เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคารนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความแข็งแกร่งของผู้ที่จะเข้ามาถือหุ้นใหม่ หรือความสำคัญของ SCIB ต่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่อาจสูงขึ้น หากมีการควบรวมกิจการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ระดับการได้รับการสนับสนุนของ SCIB สูงขึ้น และอาจเป็นผลดีต่ออันดับเครดิตระยะยาวและระยะสั้นของธนาคาร อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่ยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะจำกัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร การขายหุ้น SCIB จำนวน 47.6% ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2553 ซึ่งอาจส่งผลให้มีการทบทวนอันดับเครดิตของธนาคาร กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยได้เข้าถือหุ้นใหญ่ใน SCIB หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 และในปี 2545 SCIB ได้ควบรวมกับธนาคารศรีนคร SCIB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินเชื่อ 4% และด้านเงินฝาก 5% ธนาคารยังมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจประกัน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อ หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ ‘AAA’ และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น ‘AAA(tha)’ ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ ติดต่อ พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761 Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ