กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ศปถ.
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำปี ๒๕๕๒ เกิดอุบัติเหตุ ๘๔,๘๐๖ ครั้ง ผู้เสียชีวิต ๑๐,๗๙๖ คน ผู้บาดเจ็บ ๖๑,๙๙๖ คน มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ ๓,๘๑๕.๕๒ ล้านบาท เพื่อนำไปวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวของประเทศ โดยเน้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนน เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ดำเนินการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบก ประจำปี ๒๕๕๒ เพื่อนำไปวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวของประเทศ ซึ่งจากสถิติดังกล่าว พบว่า เกิดคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก จำนวน ๘๔,๘๐๖ ครั้ง ผู้เสียชีวิต จำนวน ๑๐,๗๙๖ คน ผู้บาดเจ็บ จำนวน ๖๑,๙๙๖ คน รวมมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รวม ๓,๘๑๕.๕๒ ล้านบาท และเมื่อนำสถิติอุบัติเหตุทางถนนของปี ๒๕๕๑ มาเปรียบเทียบกับปี ๒๕๕๒ พบว่า คดีอุบัติเหตุทางถนนลดลง จำนวน ๓,๙๐๗ คดี หรือร้อยละ ๔.๔๐ ผู้เสียชีวิต ลดลงจากปี ๒๕๕๑ จำนวน ๔๗๑ คน หรือร้อยละ ๔.๑๘ โดยช่วงเดือนที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ได้แก่ เดือนมกราคม ๑,๑๒๙ ราย รองลงมา ได้แก่ เดือนมีนาคม จำนวน ๑,๐๙๕ ราย และเดือนเมษายน จำนวน ๑,๐๙๑ ราย สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด จำนวน ๑๓,๙๒๗ ราย รองลงมา ได้แก่ ขับรถโดยประมาท (ตัดหน้ากระชั้นชิด) จำนวน ๑๒,๙๔๔ ราย ขับรถชนท้าย จำนวน ๗,๕๒๒ ราย เมาแล้วขับ จำนวน ๔,๕๖๑ ราย ในขณะที่แซงรถผิดกฎหมาย และหลับใน ยังเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ จำนวน ๕๒,๖๐๘ คัน รองลงมา ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำนวน ๓๙,๒๗๕ คัน
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะนำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน ปี ๒๕๕๒ ไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ปัจจัยแวดล้อม และพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปกำหนดมาตรการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย และสอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับประเทศ ทั้งในช่วงเทศกาลสำคัญและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานให้จังหวัดนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละจังหวัด โดยมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย เพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ เร็ว เมา ง่วง โทร ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับวินัยจราจร การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เริ่มจากระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน และร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น