ชุมชนสวนหลวง1ซ้อมดับเพลิงอพยพหนีไฟ พร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์จริง

ข่าวทั่วไป Friday February 12, 2010 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. ผู้ว่าฯกทม. ตรวจเยี่ยมการซ้อมดับเพลิงอพยพหนีไฟของชาวชุมชนสวนหลวง 1 ย่านบางคอแหลม ซึ่งเป็นชุมชนแออัด มีความเสี่ยง รถดับเพลิงเข้าไม่ถึง ประปาหัวแดงไม่เพียงพอ เพื่อนำร่องชุมชนอื่นใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง วอนประชาชนช่วยกันดูแลไม่ให้มีแหล่งเชื้อเพลิง หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านให้อยู่ในสภาพดี ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดการสูญเสียจากเหตุอัคคีภัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในชุมชนสวนหลวง 1 ซ.เจริญกรุง 103 โดยมีนายยุทธศักดิ์ ร่มฉัตรทอง ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม คณะเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนชุมชนสวนหลวง 1 ให้การต้อนรับ ณ มัสยิด อัล อติ๊ก เขตบางคอแหลม การฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับเหตุเพลิงไหม้ ได้กำหนดชุมชนสวนหลวง 1 เป็นชุมชนตัวอย่างในการซ้อม เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความเสี่ยง รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าถึง และมีประปาหัวแดงไม่เพียงพอ สภาพชุมชนเป็นชุมชนแออัด ทางเดินแคบ บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ มีคลองสวนหลวงเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่บางครั้งเกิดการตื้นเขิน ชุมชนจึงได้จัดทำบ่อกักน้ำแบบภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ดับเพลิง จำนวน 4 บ่อ หากแหล่งน้ำดับเพลิงไม่เพียงพอ สำหรับการซ้อมในครั้งนี้ได้จำลองสถานการณ์ให้บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ใน ซ.เจริญกรุง 103 ระหว่างซอยแยกที่ 5 กับ 6 ชุมชนสวนหลวง 1 แขวงพระยาไกร เขตบางคอแหลม โดยมีผู้บาดเจ็บติดค้างอยู่ในที่เกิดเหตุ จำนวน 2 ราย ในเบื้องต้นประชาชนได้ใช้เครื่องดับเพลิงชนิดเคมีแห้ง ทำการดับเพลิง แต่ไม่สามารถดับได้ จึงแจ้งหน่วยอาสาสมัครดับเพลิงของชุมชน และศูนย์รวมข่าวสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ศูนย์วิทยุพระราม) โทร.199 ซึ่งได้แจ้งสถานีดับเพลิงยานนาวาเพื่อออกระงับเหตุ โดยได้จัดรถบรรทุกน้ำดับเพลิง จำนวน 1 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำรถ จำนวน 6 นาย รถหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (รถบรรทุกขนาดเล็ก) จำนวน 1 คัน เครื่องสูบน้ำแบบทุ่นลอย จำนวน 2 เครื่อง เจ้าหน้าที่ประจำรถ จำนวน 8 นาย รถบรรทุกเครื่องช่วยหายใจพร้อมอุปกรณ์กู้ภัย จำนวน 1 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัยและช่วยชีวิต จำนวน 7 นาย เดินทางเข้าระงับเหตุ โดยมีภารกิจแต่ละชุดดังนี้ ชุดที่ 1 ชุดดับเพลิงภายนอกพร้อมด้วยรถดับเพลิงบรรทุกน้ำดับเพลิง เข้าสกัดและล้อมเพลิง บริเวณซอยแยกที่ 2 และ 4 โดยนำรถดับเพลิงมาจอดบริเวณปาก ซ.เจริญกรุง 103 วิ่งนำสายสูบน้ำดับเพลิงขนาด 2.5 นิ้ว เข้าไปในซอยประมาณ 60 เมตร นำข้อต่อทางแยกสามทาง วางบริเวณปากซอยแยกที่ 2 วิ่งสายสูบน้ำขนาด 1.5 นิ้ว เข้าซอยแยกที่ 2 และ ชุดที่ 2 ชุดดับเพลิงภายนอกอาคาร พร้อมด้วยเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ชนิดทุ่นลอย จำนวน 2 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่ เดินทางโดยรถเคลื่อนที่เร็ว เข้าสกัดเพลิงบริเวณซอยแยกที่ 5 และ 6 โดยใช้เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดทุ่นลอยสูบน้ำจากแหล่งน้ำคลองสวนหลวง ส่วนชุดที่ 3 ชุดกู้ภัยและช่วยชีวิต ค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดค้างในสถานที่เกิดเหตุ และนำผู้บาดเจ็บส่งจุดรวมพล บริเวณมัสยิด อัล อติ๊ก ส่วนขั้นตอนการอพยพหนีไฟ เมื่อมีเสียงสัญญาณเตือนภัย ผู้นำกลุ่มซอยแยกในชุมชนจะแจ้งเตือนอันตรายและทำการอพยพประชาชน โดยมีธงประจำซอยวิ่งนำไปยังจุดรวมพลซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ว่างมัสยิด อัล อติ๊ก จากนั้นตรวจนับจำนวนประชาชนที่อพยพจากซอยที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ส่วนภารกิจชุดดับเพลิงของชุมชนจะเดินทางถึงที่เกิดเหตุ พร้อมเครื่องดับเพลิงชนิดหาบหาม จำนวน 2 เครื่อง โดยต่อเชื่อมรับน้ำจากประปาหัวแดงบริเวณปากซอยแยกที่ 7 เข้าทำการสกัดป้องกันเพลิงลุกลาม ภายในซอยแยกที่ 7 จำนวน 2 หัวฉีด และบริเวณซอยแยกที่ 6 จำนวน 1 หัวฉีด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงยานนาวา จากนั้นฝ่ายเทศกิจ จะปิดกั้นบริเวณสถานที่เกิดเหตุ หลังจากได้อพยพประชาชนไปยังจุดรวมพลแล้ว โดยทำการคัดกรองผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าสถานที่เกิดเหตุ ขณะเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงปฏิบัติงาน และเมื่อเพลิงสงบจะปิดกั้นที่เกิดเหตุด้วยแถบกั้นสีแดง การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานที่เกิดเหตุ จุดรวมพล การป้องกันการลักทรัพย์ และการจัดการจราจรบริเวณสถานที่เกิดเหตุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แผนการซักซ้อมการอพยพหนีไฟ และการระงับเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ได้ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในชุมชน ซึ่งกรุงเทพมหานครจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชนอื่นๆได้รับทราบต่อไป เพื่อใช้เป็นขั้นตอนในการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ในการช่วยกันดูแลไม่ให้มีแหล่งเชื้อเพลิง วัตถุไวไฟในบ้าน ต้องหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพดี ถ้าชำรุดต้องรีบเปลี่ยนหรือซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดการสูญเสียจากเหตุอัคคีภัยได้อีกทางหนึ่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ