ทอท.เปิดข้อมูลชี้แจงประมูลรถเข็นสัมภาระและกระเป๋าผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday July 4, 2006 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--ทอท.
ทอท.เปิดข้อมูลชี้แจงประมูลรถเข็นสัมภาระและกระเป๋าผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิทุกขั้นตอนยืนยันไม่มีการเปลี่ยนสเปคเอื้อประโยชน์บริษัทใด พร้อมเผย สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังบริษัทภูเก็ต อินเตอร์เคมีคอลร้องไม่ได้รับความเป็นธรรณกรณีคะแนนเทคนิคตก เพื่อความโปร่งใส
นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.ล่าวยืนยันว่า การเปิดประมูลรถเข็นสัมภาระและกระเป๋าผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 9,034 คัน เป็นเวลา 7 ปี ในราคาค่างานรวมทั้งสิ้น 532.86 ล้านบาทนั้นมีความโปร่งใสและสามารถชี้แจงได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มเปิดประมูลจนถึงขั้นตอนการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลทั้งทางด้านเทคนิคและราคาแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือทีโออาร์
นายโชติศักดิ์ชี้แจงถึงขั้นตอนการเปิดประมูลรถเข็นกระเป๋าที่สนามบินสุวรรณภูมิว่า เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2548 ที่ฝ่ายบริหาร ทอท.มีนโยบายให้จัดหาซื้อรถเข็นโดยตรงและให้ว่าจ้างเอกชนมาดำเนินการจัดเก็บรักษาให้ แต่มาวันที่ 14 ตุลาคม ปีเดียวกัน ผู้บริหาร ทอท.ในขณะนั้นได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือและพิจารณาเห็นว่า หากใช้วิธีการดังกล่าวจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษา โดยเฉพาะทอท.ไม่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ก็จะยิ่งเป็นปัญหา ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ที่ประชุมจึงมีความเห็นว่า ควรจะเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อมาเป็นว่าจ้างให้ผู้รับจ้างดำเนินการหารถเข็นกระเป๋าและบริหารจัดการในการเก็บรถเข็นกระเป๋า โดยหากมีการชำรุดผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้ไปจัดหารถใหม่มาเปลี่ยนให้ และนำรถเก่าไปซ่อม ซึ่งจะทำให้ ทอท.มีรถเข็นให้บริการผู้โดยสารในสภาพที่ดีตลอดเวลา ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2549 กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้อนุมัติให้ดำเนินการจ้างผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพร้อมให้ตั้งคณะกรรมการประกวดราคาว่าจ้างเอกชนมาเป็นผู้บริการรถเข็นรวมถึงต้องเป็นผู้จัดเก็บและซ่อมบำรุงด้วย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีนายสมชัย สวัสดีผล เป็นประธาน โดยมีการออกประกาศประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 และกำหนดยื่นซองเอกสารประมูลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549
ทั้งนี้ในการประมูลครั้งนั้นมีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคา 6 ราย คือ บริษัท อัพบีท จำกัด บริษัท ชับบ์ อะวิเอชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทเพอร์เฟ็คท์ ช้อยส์ จำกัด กิจการร่วมค้า พี เจ ที บริษัท ไทยแอร์พอร์ตร์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ แทคส์ และบริษัท พงศ์ ไพฑูรย์ เทรดดิ้ง จำกัด
“แต่มาวันที่ 31 มกราคม 2549 ทอท.ออกประกาศเลื่อนกำหนดวันยื่นเอกสารประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์งานจ้างผู้บริการรถเข็นกระเป๋าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิออกไปก่อน เนื่องจากรัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 อย่างไรก็ตามในระหว่างนั้นทาง ทอท.ได้มีการปรับแก้ไขข้อกำหนดรายละเอียดรถเข็นกระเป๋าอีกครั้ง โดยต้องการให้รถเข็นกระเป๋าขึ้นลงบันไดเลื่อนได้” นายโชติศักดิ์กล่าว
สำหรับเหตุผลที่มีการกำหนดเงื่อนไขให้รถเข็นกระเป๋าต้องขึ้นลงบันไดเลื่อนได้ นายโชติศักดิ์ ชี้แจงว่า เป็นเพราะสนามบินสุวรรณภูมิมีขนาดใหญ่มาก โดยมีทั้งหมด 7 ชั้นและใต้ดิน 2 ชั้น ซึ่งพื้นที่ที่ผู้โดยสารจะต้องใช้ขั้นลงและเข้าออกมีถึง 4 ชั้น จึงมีความจำเป็นที่ทาง ทอท.ต้องกำหนดให้รถเข็นขึ้นลงบันไดเลื่อนได้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่มีสัมภาระ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถกระจายใช้บริการจากลิฟท์มาเป็นบันไดเลื่อนที่มีถึง 91 ตัว โดยแม้สุวรรณภูมิจะมีลิฟท์ถึง 105 ตัว แต่เชื่อว่า หากรถเข็นไม่สามารถขึ้นลงบันไดเลื่อนได้ ผู้โดยสารก็ต้องมาใช้ลิฟท์ซึ่งจะทำให้เกิดการแออัดและสร้างความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารเป็นอย่างมาก ทอท.จึงได้ประกาศกำหนดการยื่นเอกสารประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 13 มีนาคม 2549 ด้วยเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว
แต่เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2549 กิจการร่วมค้า พี เจ ที ในฐานะผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถเข็นกระเป๋ายี่ห้อ Wanzl ในประเทศไทย มีหนังสือแจ้งว่า ไม่สามารถยื่นเอกสารและส่งตัวอย่างรถเข้าร่วมประมูลในวันที่ 13 มีนาคม 2549 ได้ทัน เพราะต้องนำรถเข็นกระเป๋าตัวอย่างเข้ามาจากประเทศเยอรมัน จึงขอเลื่อนการส่งเอกสารประมูลและรถตัวอย่างออกไปอีก 2 สัปดาห์เป็นวันที่ 27 มีนาคม 2549 ซึ่งทางทอท.ก็ได้ประกาศเลื่อนกำหนดวันยื่นเอกสารประมูลให้
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้อนุมัติแก้ไขกำหนดงานจ้างอีกครั้ง โดยตัดข้อกำหนดที่ระบุว่าต้องมีประสบการณ์การทำรถเข็นกระเป๋าที่ท่าอากาศยานอื่นออก ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตรถเข็นกระเป๋าในประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าแข่งขันการเสนอราคาได้
“การที่ ทอท.ตัดเงื่อนไขนี้ออกก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาร่วมแข่งขันกัน ที่สำคัญตอนนั้นรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนโครงการต่างๆของประเทศให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร บริษัทที่เข้ามาประมูลบริการรถเข็นก็ต้องมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่ ทอท.กำหนดไว้” นายโชติศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 คณะกรรมการ ทอท.มีมติให้เร่งรัดการจัดหาผู้ดำเนินการ Outsource โดยเร่งด่วนเพื่อให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ทันกำหนด จึงให้ ทอท.ใช้การจัดจ้างโดยวิธีพิเศษสำหรับงานจ้างเหมาบริการทั่วไปหรือ Outsource ที่สนามบินสุวรรณภูมิกรณีเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน เพราะหากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่งานของ ทอท. โดยให้ใช้แนวทางการจัดจ้างเทียบเคียงกับการประกวดราคา ดังนั้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2549 กรรมการผู้อำนวยการใหญ่จึงอนุมัติให้จ้างผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเวลา 7 ปีโดยวิธีพิเศษ โดยใช้แนวทางการจัดจ้างเทียบเคียงกับการประกวดราคาภายในวงเงิน 499.65 ล้านบาท(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) รวมทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ โดยมี นายเสน่ห์ เชาว์สุรินทร์ เป็นประธานกรรมการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549 ทอท.ได้ออกประกาศประมูลจ้างผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกำหนดยื่นซองข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอราคาในวันที่ 24 เมษายน 2549 ซึ่งมีผู้สนใจมาซื้อเอกสารประมูล 9 ราย คือ บริษัท เพอร์เฟค ชอยส์ จำกัด บริษัท ไทย แอร์พอร์ต กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ แทคส์ บริษัท อับ เบ็ท จำกัด บริษัท กลอรี่ — ไทยอินเตอร์คอนติเนนตัล จำกัด บริษัท ซี ซี คอนเทนท์ คอมเมอร์เชียล จำกัด บริษัท พี เจ ที เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ภูเก็ต อินเตอร์ เคมีคอล จำกัด บริษัท ชับบ์ อะวิเอชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด และ กิจการร่วมค้า พี เจ ที ก็ได้เข้ามาซื้อซองด้วยเช่นกัน
แต่เมื่อถึงการกำหนดยื่นซองในวันที่ 24 เมษายน 2549 นั้นปรากฏว่า มีผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอ 2 ราย คือ บริษัท แทคส์ และบริษัท ภูเก็ต อินเตอร์ เคมีคอล จำกัด ซึ่งทางคณะกรรมจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้ตรวจสอบแล้ว ผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในเสนอราคาครั้งนี้ จึงได้เปิดซองข้อเสนอทางเทคนิคและนำรถเข็นกระเป๋าตัวอย่างไปตรวจสอบเพื่อประเมินข้อเสนอ ซึ่งคณะกรรมการจัดจ้างฯได้ประเมินข้อเสนอทางเทคนิคแล้ว ปรากฏว่า บริษัท แทคส์ ได้คะแนน ร้อยละ 88 ส่วนบริษัท ภูเก็ต อินเตอร์ เคมีคอล จำกัด ได้คะแนนร้อยละ 63
“แต่ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของทอท.ผู้ที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 และผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ทอท.จะไม่พิจารณาข้อเสนอด้านราคา คณะทำงานประเมินด้านเทคนิคจึงเห็นว่า แทคส์เป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคและมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาเพียงรายเดียว ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2549 ประธานกรรมการการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ได้มีหนังสือแจ้งผลประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคให้ผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายและกำหนดเปิดซองราคาวันที่ 15 มิถุนายน 2549 เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการ ทอท.เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 มีมติให้คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษสามารถพิจารณาข้อเสนอด้านราคาในกรณีที่มีผู้ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิครายเดียวได้โดยไม่ต้องยกเลิกการเสนอราคา ทั้งนี้ก็เพื่อให้การว่าจ้างเป็นไปด้วยความรวดเร็วและงานเสร็จภายในกำหนดเวลา”
ดังนั้นในวันที่ 15 มิถุนายน 2549 คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษจึงได้เปิดซองข้อเสนอราคาของแทคส์ ซึ่งปรากฎว่าแทคส์เสนอราคาเป็นเงิน 500 ล้านบาทไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% คณะกรรมการจัดจ้างจึงได้ต่อรองราคา ซึ่งบริษัทลดราคาลงให้เหลือ 498 ล้านบาท คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษจึงรายงานเสนอให้จ้างบริษัทแทคส์ให้บริการรถเข็นกระเป๋าท่าอากาศยาน-สุวรรณภูมิเป็นเวลา 7 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 532.86 ล้านบาท โดยหากแทคส์ไม่สามารถจัดหารถเข็นให้ได้ตามสัญญาจะต้องถูกปรับวันละ 2 พันบาทต่อคัน ซึ่งเป็นอัตราการปรับที่สูงมาก
“การต่อรองราคากับผู้ประมูลที่ผ่านด้านเทคนิครายเดียวไม่ได้มีเฉพาะเรื่องรถเข็นเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ใช้วิธี Outsource และมีผู้ผ่านเทคนิครายเดียว”
สำหรับกรณีที่ กิจการร่วมค้า พี เจ ที ในฐานะผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถเข็นกระเป๋ายี่ห้อ Wanzl ในประเทศไทยที่ได้ทำจดหมายเสนอให้รถเข็นใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ 9 พันคัน โดยขอแลกสิทธิ์ในการเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บรายได้ค่าโฆษณาบนรถเข็นทั้งหมดตลอดอายุสัมปทาน 7 ปีนั้น นายโชติศักดิ์กล่าวว่า ทางกิจการร่วมค้า พี เจ ทีได้ส่งหนังสือดังกล่าวมาให้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2549 ซึ่งหากดูตามตารางการส่งมอบรถเข็นให้ครบตามข้อเสนอที่กำหนดไว้ 105 วันนับจากวันที่เซ็นสัญญาตกลงนั้นจะเห็นได้ว่า ในวันที่ พี เจ ทียื่นหนังสือให้ มีเวลาเหลืออยู่เพียงแค่ 106 วันเท่านั้นหากทอท.จะเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 28 กันยายน 2549
นอกจากนั้นข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงค่าอะไหล่ การซ่อมบำรุง และการจัดเก็บ รวมถึงการรับผิดกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถเข็นได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพเหมือนกับกรณีที่มีการเปิดประมูลที่มีการกำหนดชัดเจนว่า หากเอกชนที่ชนะประมูลไม่สามารถจัดหารถเข็นให้ได้ตามเงื่อนไขทุกขณะใดขณะหนึ่ง จะต้องถูกปรับ 2 พันบาทต่อวันต่อคัน ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเจรจารายละเอียดในประเด็นเหล่านี้อีกมาก
“คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างจึงต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ที่ได้ดำเนินการมาแล้วต่อไป ส่วนข้อเสนอของกิจการร่วมค้า พี เจ ที เราก็จะรับไว้พิจารณาในโอกาสต่อไปแต่มีประเด็นที่อยากให้ช่วยพิจารณากันก็คือ กิจการร่วมค้า พี เจ ที ก็เข้ามาซื้อเอกสารการประมูล แต่ไม่ยื่นเสนอราคาเข้ามา และกลับมาเสนอให้รถเข็นเพื่อแลกกับการดำเนินการจัดเก็บรายได้ค่าโฆษณาบนรถเข็น ทั้งๆที่รู้ว่า ทอท.ไม่ต้องการให้มีภาระในเรื่องการซ่อมบำรุงและจัดเก็บรักษารถเข็น ซึ่งถือว่าข้อเสนอของพี เจ ทีไม่ตรงกับทีโออาร์ ดังนั้น ทอท.จึงไม่สามารถนำข้อเสนอของพี เจที มาพิจารณาในขณะนี้ได้อย่างแน่นอน แต่หากพี เจ ที ยังสนใจและยืนยันให้ข้อเสนอเดิม ทางทอท.ก็จะเชิญมาเจรจาในประเด็นที่ ทอท.ต้องการนั้นว่า ทาง พี เจ ทีสามารถทำให้ได้หรือไม่ เพราะในอนาคตสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ความต้องการรถเข็นเพิ่มขึ้นมากกว่าในอัตราปกติ เนื่องจากสุวรรณภูมิมีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่มาก ดังนั้นในอนาคตทาง ทอท.อาจจะเชิญทั้ง พี เจทีตัวแทนจำหน่ายรถเข็นกระเป๋ายี่ห้อ Wanzl รวมถึงบริษัท Expresso หรือบริษัทอื่นที่เป็นระดับโลกมาคุย แต่จะต้องอยู่ภายใต้หลักการ 3 ข้อคือ 1. ทอท.จะต้องไม่มีภาระในเรื่องการซ่อมบำรุง 2. จะต้องเป็นผู้จัดเก็บรถให้ และ 3.จะต้องมีการการันตีว่าทุกขณะหนึ่งขณะใดจะต้องมีรถเข็นให้ใช้ในจำนวนที่ต้องการ ซึ่งหากทำไม่ได้ก็ต้องมีการระบุการรับผิดเช่นค่าปรับด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อทอท.” นายโชติศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตามนายโชติศักดิ์กล่าวยืนยันอีกว่า ทางทอท.ไม่ได้มีการล็อคสเปคเพื่อรายใดรายหนึ่งอย่างแน่นอน ซึ่งการที่บริษัท ภูเก็ต อินเตอร์ เคมีคอล ได้ยื่นซองการประมูลแข่งกับแทคส์ด้วยนั้นย่อมแสดงว่า บริษัทภูเก็ตก็สามารถมีรถเข็นที่ขึ้นลงบันไดเลื่อนได้ แต่เมื่อบริษัทภูเก็ตได้คะแนนประเมินคุณสมบัติต่ำกว่าร้อยละ 85 และบริษัทภูเก็ตทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2549 ว่าเพราะเหตุใดบริษัทภูเก็ตจึงได้คะแนนประเมินด้านเทคนิคต่ำทำให้ไม่ผ่านข้อกำหนดในเรื่องคุณสมบัติ ในเรื่องนี้เพื่อความโปร่งใสตนในฐานะที่เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ได้สั่งให้สำนักตรวจสอบของทอท.ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่บริษัทภูเก็ตร้องมาทุกประเด็น และให้รายงานผลภายใน 3 วันนับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2549 ซึ่งเมื่อได้ผลสรุปแล้วจะรายงานให้คณะกรรมการทอท.พิจารณาต่อไป
“ผมเพิ่งมารับตำแหน่งได้เพียง 52 วันเท่านั้น แต่ก็จะพยายามทำงานนี้ให้โปร่งใสที่สุด” นายโชติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ