กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สคส.
ในงาน “มหกรรม KM ราชการไทย ก้าวไกลสู่ LO” หรือ “มหกรรมการจัดการความรู้ราชการไทย ก้าวไกลสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้” ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ร่วมกันจัดขึ้น ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานราชการที่มีการปฏิบัติการจัดการความรู้ที่ดีได้นำเทคนิค วิธีการ ขั้นตอน กระบวนการหรือ “เส้นทางแห่งความสำเร็จ”ในการดำเนินการจัดการความรู้ในหน่วยงานของตนมาบอกต่อ เป็นตัวอย่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยราชการทั้ง 227 หน่วยงาน กว่า 700 คนที่ต้องดำเนินการจัดการความรู้ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ที่กำหนดไว้ว่า “ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการเพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยมี ก.พ.ร. เป็นแกนหลัก ได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับหน่วยงานของตนเอง และหวังให้เกิดเป็นเครือข่าย ร่วมเคลื่อนขบวนจัดการความรู้ภาคราชการไทยให้สอดประสานและเป็นแรงผลักดันการพัฒนาประเทศที่สำคัญต่อไป
“มหกรรม KM ราชการไทย ก้าวไกลสู่ LO” จึงทำการคัดเลือกหน่วยงานภาครัฐที่ได้ดำเนินการจัดการความรู้ (Knowledge Management)ในหน่วยงานได้ผลดี จำนวน 8 หน่วยงานทั้งระดับจังหวัด/สำนักงาน/กรมของกระทรวงต่าง ๆ นำประสบการณ์”เส้นทางสู่ความสำเร็จ”มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เจาะลึกในทุกขั้นตอน โดยแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก คือ 1)การจัดการความรู้กับการพัฒนาวิสัยทัศน์ร่วม (KM : Shared Vision) ของ กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดชุมพร ที่มีความสอดคล้องกันเรื่องเป้าหมายการพัฒนาเกษตร แต่ระดับปฏิบัติมีวิธีการและกระบวนการแตกต่างกัน แต่ผลของการปฏิบัติงานเสริมซึ่งกันและกัน 2)การจัดการความรู้กับกระบวนการเรียนรู้ (KM : Learning Process) ได้แก่ การดำเนินการจัดการความรู้ของ กรมชลประทาน กรมอนามัย และ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเน้นและผลผลิตของการจัดการความรู้ที่ต่างกัน และมีความโดดเด่นในด้านการจัดการกับกระบวนการและ “ความรู้”ที่เกิดขึ้นมาสู่การจัดเก็บเป็น “คลังความรู้มีชีวิต” และ การจัดการความรู้กับการพัฒนาบุคลากร (KM : Human Resources Development :HRD) ของ 3 หน่วยงานที่มีผลงานดี คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมศุลกากร และกรมราชทัณฑ์ ซึ่งดำเนินการต่างบริบท แต่มุ่งที่การสร้างคนและขยายผลจากชุมชนปฏิบัติกลุ่มเล็ก ๆ ก็เกิดเป็นเครือข่ายที่กว้างขวางร้อยโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตามทุกหน่วยงานดำเนินการจัดการความรู้ โดยใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เสริมให้เกิดการพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนากระบวนการสู่การเป็นองค์กรเรียนรู้ และหวังผลการบรรลุเป้าหมายหลักร่วมกันของหน่วยงานซึ่งทั้งหมดคือการทำงานเพื่อประชาชน ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งภายในงานนอกจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอความโดดเด่นการจัดการความรู้ของแต่ละหน่วยงานและหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการได้ดี อาทิ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า
การพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรจะแปลงทุนในตัวคนมาเป็นคุณค่าของการพัฒนาองค์กร สร้างมูลค่าให้กับตัวองค์กรได้ เป็นโจทย์ใหญ่ของการปรับตัวภาคราชการ ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการความรู้ที่ดี นั่นคือต้องมีการจัดระบบความรู้ที่อยู่ในตัวคนในองค์กรออกมาใช้เพื่อการบริหารองค์กรให้ดีขึ้น ซึ่งหลายหน่วยงานมีการวางยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด สิ่งสำคัญคือจะบริหารจัดการความรู้เพื่อไปสู่ยุทธศาสตร์ได้อย่างไร เช่น ถ้ามียุทธศาสตร์เกี่ยวกับการค้าชายแดน จะต้องรู้เขารู้เรา จะหาความรู้จากที่ไหน แต่ความรู้ที่สำคัญคือความรู้ที่อยู่ในตัวคน จะต้องพยายามสกัดออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้ ซึ่งจุดสำคัญในเรื่องจัดการความรู้ คือ ประการแรกต้องทราบว่าความรู้อะไรที่อยากได้ และสองจะเอาความรู้ที่มีไปสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มหรือนวัตกรรมได้อย่างไร
“ความรู้ที่ใหญ่ที่สุดคืออยู่ในตัวคนในสมองของเรา ความท้าทายของการจัดการความรู้คือจะเอาความรู้นั้นออกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร จะต้องหาวิธีถ่ายทอดความรู้นั้นออกมาให้ได้ เอามาใช้ประโยชน์ พัฒนาองค์กร ปรับปรุงบริการ สร้างคนในองค์กร” เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวและว่า ปกติในการทำงานต้องใช้เวลา 12-15 ปีจึงจะสร้างให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ แต่ถ้าจัดระบบการจัดการความรู้ที่ดี เอาความรู้ของคนที่มีประสบการณ์เหล่านั้นมาทำให้เด็กรุ่นใหม่พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ก็อาจใช้เวลาเพียง 2-3 ปี ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างมาก
ความรู้ที่สำคัญที่สุดคือ ความรู้เชิงยุทธศาสตร์ แสวงหาความรู้ สังเคราะห์ความรู้ออกมาอย่างเป็นระบบ และสู่การถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งวันนี้มีหลายตัวอย่างที่ปฏิบัติแล้วเห็นผล ที่สำคัญปัจจัยแห่งความสำเร็จของการจัดการความรู้คือ ผู้นำองค์การช่วยผลักดัน และจัดกระบวนการให้คนเปิดใจเอาความรู้มาแบ่งปันกัน ขณะนี้เราบริหารจัดการความรู้กันครบถ้วนหรือยังหลายคนเข้าใจว่าการบริหารความรู้ต้องมีคอมพิวเตอร์ ความจริงไม่ใช่ คอมพิวเตอร์ หรือ ICT เป็นเพียงอุปกรณ์ เสริมที่มาช่วยจัดระบบเท่านั้น ฉะนั้นในแต่ละองค์กรต้องมีวิธีการหลากหลาย การเปิดใจฟังคนอื่น บางครั้งเราคิดว่าของตัวเองดี แต่พอฟังคนอื่นก็อาจจะปิ๊งอะไรใหม่ ๆขึ้นมาก็ได้
ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผอ.สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเริ่มทำการจัดการความรู้ในองค์กรเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เรียนถูกเรียนผิดมาตลอด โดยให้ผู้บริหารระดับกลางและระดับล่างทำกันเอง เพราะบอกว่าองค์ความรู้ต้องมาจากงานประจำ พอทำมา 3-4 ปีก็พบว่ามันทำอย่างกระจัดกระจาย และได้องค์ความรู้เกิดขึ้นมากมายเช่น วิธีการประหยัดไฟฟ้า วิธีการประหยัดค่าโทรศัพท์ แต่ในภาพใหญ่ของการเป็นองค์กรเรียนรู้ยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร เมื่อทบทวนพบว่าการทำการจัดการความรู้เพื่อไปสู่องค์กรเรียนรู้ต้องทำสองทางพร้อมกันนั่นคอ ผู้บริหารต้องวางวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน จากนั้นผู้บริหารระดับกลาง และปฏิบัติระดับล่างก็จะมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างมีทิศทางว่าจะหาความรู้ สร้างองค์ความรู้อะไรมาใช้เพื่อพัฒนาองค์กร นั่นคือการบริหารการเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องทำทั้ง KM Process และ People Process ยิ่งในระบบราชการ “ความรู้คืออำนาจ” คนที่รู้มาก ยิ่งรู้มากก็ยิ่งได้เลื่อนขั้นเร็ว พอความรู้คืออำนาจทุกคนก็ไม่อยากแชร์ จุดนี้อยู่ในเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ทำอย่างไรเขาจะแชร์กันโดยไม่รู้สึกสูญเสียอำนาจ ดังนั้นการเริ่มทำการจัดการความรู้จึงต้องตัวเองก่อนว่ามีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนแล้ว เพราะตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการทำการจัดการความรู้ส่วนใหญ่ล้วนมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เมื่อเริ่มอย่างมีรูปแบบทิศทาง ก็จะกำหนดการทำ KM ได้อย่างชัดเจน ว่าจะเน้นไปที่จุดใด ก่อน หลัง
“ที่สำคัญเรารู้หรือยังว่ากระบวนการทำงานของเขาชัดเจนแค่ไหน นี่เป็นแนวทางที่สถาบันได้คุยกับ ก.พ.ร. แล้วเราจะผลักดัน KM ในระดับชาติได้อย่างไร สิ่งสำคัญคือต้องทำเป็นยุทธศาสตร์ ทำเป็น คลัสเตอร์ (จัดกลุ่ม) หน่วยงาน กรม กองต่าง ๆ ซึ่งมันเป็นการส่งทอดไปเรื่อย ๆ” ผอ.สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติกล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ.สคส. กล่าวว่า ความรู้ก้อนใหญ่ในสังคมอยู่ที่ตัวคนหากมองเปรียบเทียบความรู้ในตำราแล้ว ความรู้ในตัวคนมีมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือการทำการจัดการความรู้ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยดึงความรู้ในตัวคนออกมา เพื่อพัฒนางาน พัฒนาคุณค่าในองค์กรได้ ซึ่งสำหรับการจัดการความรู้ในส่วนราชการไทย ก็พุ่งเป้าไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ส่วนราชการจะต้อง เปลี่ยนตัวเองในหลายๆ เรื่อง คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมจากการทำตามระเบียบไปสู่การทำงานเพื่อคุณภาพและเพื่อลูกค้า เปลี่ยนจากการทำงานตามนายสั่ง เป็นคิดสร้างสรรค์ในหน้าที่โดยอย่าเพียงรอให้นายสั่ง ต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์จากการหวงความรู้ ปกปิดความรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปลี่ยนจากการยึดติดความรู้ภายนอก เป็นการเน้นความรู้ในตัวคน เปลี่ยนมุมการมองโลกแบบหยุดนิ่งเป็นการมองโลกเป็นผลวัต เปลี่ยนจากการคิดเหมือนกัน เป็นคิดต่าง และเปลี่ยนจากจุดร่วมเดียวกันคือนาย เป็นจุดร่วมเดียวกันคือวิสัยทัศน์ขององค์กรที่จะทำให้ข้าราชการทำงานได้อย่างต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลกี่รัฐบาลก็ตาม เปลี่ยนจากการมองแยกส่วน เป็นการมองทั้งระบบ เป็นการมองผลประโยชน์ส่วนตัวเห็นวัตถุเป็นสำคัญเป็นการเน้นคุณค่าและการเรียนรู้ เปลี่ยนจากการควบคุมสั่งการ เป็นการชื่นชมยินดีกับความสำเร็จเล็กๆ
ที่สำคัญจะต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร คือในการสร้างความสัมพันธ์กับภายนอกนั้นจะต้องเอาความรู้ของลูกค้า หรือประชาชนมาใช้ประโยชน์ด้วย คือการเปลี่ยนบทบาทจากผู้ฝึกอบรม (Training) ให้กับชาวบ้าน เป็นการดึงความรู้ในชาวบ้านนั้นออกมาแลกเปลี่ยนกัน โดยส่วนราชการนั้นทำหน้าที่เป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ แล้วข้าราชการก็ได้ความรู้ด้วย ในที่สุดข้าราชการก็จะกลายเป็นบุคคลเรียนรู้ไปในที่สุด และถ้าส่วนราชการทำได้ งานที่เป็นงานประจำก็จะกลายเป็นงานวิชาการ และงานวิจัย
ทั้งนี้ประโยชน์สูงสุดสำหรับการทำเรื่องการจัดการความรู้คือการได้เรียนรู้ ได้บรรลุความเป็นตัวตน ได้ใช้ศักยภาพในตัวคนมากขึ้นและไม่สิ้นสุด และศักยภาพในหลายๆ ส่วนนั้นไม่ใช่เพื่อให้ได้เงินเดือนมากขึ้น แต่มันคือการได้เพื่อน ได้ความสุข ซึ่งวิธีการอื่นจะทำได้ยากมาก
“ถ้าระบบราชการไทยจะไปสู่ LO ได้ ในที่สุดแล้วการทำ KM จะไม่ต้องพูดคำว่า การจัดการความรู้เลย เพราะเป็นการทำแบบ KM INSIDE ซึ่งในบริษัทเอกชนที่ทำดี ๆ เราไปดูเขาก็ไม่ได้พูดคำว่า KM เลย แต่สิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว เป็นการทำอย่างเป็นธรรมชาติ ทำอยู่ในการปฏิบัติเป็นเนื้อแท้กับงานกับองค์กร” ผอ.สคส.กล่าว
ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดงานครั้งนี้ นอกจากข้าราชการจะได้รับประสบการณ์ตรงในการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการความรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้แล้ว ยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในหมู่ข้าราชการให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมีส่วนผลักดันให้ส่วนราชการของตนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ อีกทั้งยังสามารถนำแนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ไปพัฒนาระบบการจัดการความรู้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net