กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ตามที่องค์กรจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ คือ องค์กร Institute for Management Development (IMD) ที่เมืองโลซานประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้แถลงข่าวจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน “2006 World Competitiveness Yearbook” เป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน และ ได้จัดอันดับประเทศไทยลดลงจากเมื่อปีก่อนถึง 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับ 32 จากทั้งหมด 61 อันดับ ซึ่งต่ำที่สุดที่ไทยเคยได้รับการจัดอันดับในรอบ 5 ปี โดยมีเหตุผลหลักที่ลดอันดับของประเทศไทย ในเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ประสิทธิภาพการบริหารของรัฐบาล เศรษฐกิจและความโปร่งใสนั้น
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สพว.) เห็นว่าการจัดอันดับดังกล่าวเฉพาะในส่วนของประสิทธิภาพและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ มีปัจจัยลบที่มาจากสภาวะแวดล้อมภายนอกที่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วโลกต้องประสบอยู่หลายปัจจัย อาทิ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยหลักในต่างประเทศสูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไทยต้องตั้งรับให้ดี แม้ผู้ประกอบการในประเทศคู่แข่งก็จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน แต่วิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกก็มีวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันออกไป ตามสถานะภาพและศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศนั้น ๆ แม้ในระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเอง วิธีการบริหารจัดการแก้ไขผลกระทบจากภายนอกและสร้างโอกาสในการแข่งขันในอนาคตก็แตกต่างกันตามระดับ “ความเก่ง” ของตัวผู้ประกอบการนั้น ๆ
นายเมธี ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับที่ตัวเองได้ทันทีโดยไม่ต้องรอรัฐบาล คือต้องเตรียมพร้อมและรู้จุดแข็งจุดอ่อนตลอดจนสถานะภาพของกิจการของตนอยู่ตลอดเวลา เหมือนดังที่ ปรมาจารย์ทางยุทธศาสตร์การทหาร คือ ซุนวูได้กล่าวไว้เมื่อ 2,500 ปีว่า “บุคคลใดหากไม่รู้จุดแข็งจุดอ่อนและสถานะภาพของตนก็ไม่ต้องคำนึงว่าเขาจะรู้จุดแข็งจุดอ่อนและสถานะภาพของศัตรูหรือไม่ แล้วเขาผู้นั้นก็จะรบแพ้ในทุกๆสมรภูมิ”
เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีเครื่องมือที่เป็นวิทยาศาสตร์ มาใช้วินิจฉัยธุรกิจ SMEs ให้ทราบจุดแข็งจุดอ่อนและสถานะภาพของความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจตนเทียบกับคู่แข่ง สถาบันฯจึงได้พัฒนาเครื่องมือใหม่เรียกว่า “ระบบวินิจฉัยธุรกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน” ซึ่งค้นพบว่ามี 9 ประเด็นการปฏิบัติทางธุรกิจของกิจการในไทยว่ามีผลสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของกิจการ เครื่องมือนี้ทำให้เจ้าของกิจการทราบจุดแข่งและจุดอ่อนของตนในแต่ละด้านเทียบกับคู่แข่ง ว่าควรปรับปรุงแก้ไขด้านใดก่อนหลังจึงจะแข่งขันได้และมีผลประกอบการที่ดีขึ้น
นายเมธี เปิดเผยต่อไปว่า “ระบบวินิจฉัยธุรกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน” หรือ “Business Competitiveness Diagnosis TM — BCDTM “ นี้ สถาบันฯพัฒนาขึ้นจากประสบการณ์การวิเคราะห์ธุรกิจ SMEs ไทยกว่า 500 ราย ว่าประเด็นใดที่เป็นจุดอ่อนของ SMEs ไทย ทำให้ต้องรีบปรับตัว มิฉะนั้นอาจไม่รอดในภาวะที่มีการแข่งขันสูง มีปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย และการเมืองภายในไม่แน่นอน แต่ SMEs ไทย จำเป็นต้องอยู่รอดและต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาเพื่อให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจึงต้องวินิจฉัยธุรกิจตนเพื่อให้รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตนเมื่อเทียบกับคู่แข่งโดยไม่รอช้า ซึ่งระบบวินิจฉัย BCDTM สามารถสนองความต้องการเหล่านี้ได้ โดยสถาบันฯมีทีมที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ใช้เวลาสอบถามผู้ประกอบการและ เยี่ยมชมกิจการเพียง 1 วัน นำมาประมวลผลในคอมพิวเตอร์ ที่สถาบันฯมีข้อมูลคู่แข่งอยู่แล้ว ผลลัพธ์จะนำไปบรรยายสรุปแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้แนวทางปรับปรุงวางกลยุทธ์ธุรกิจของบริษัทในสัปดาห์ถัดไป อันเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับกิจการได้ทันทีโดยไม่ต้องรีรอและมีค่าใช้จ่ายเพียง 25,000 บาท นายเมธี กล่าวต่อไปว่า “การเข้าวินิจฉัยธุรกิจคือการลงทุนเพื่ออนาคต และระบบวินิจฉัยธุรกิจ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน - BCDTM” ก็คือ Intelligence Knowledge Based System และ Strategic Benchmarking tool for smart CEO” นั้นเอง
ติดต่อสอบถามรายละเอียดและขอรับบริการได้ที่โครงการระบบวินิจฉัยธุรกิจ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โทรศัพท์ 0 2564 4000 ต่อ1101,7301,3019โทรสาร025644000ต่อ3333 เว็ปไซต์ www.ismed.or.th
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
คุณเมธี ลีละวัฒน์ 01 — 439 — 1030
E-mail : maytee @ ismed.or.th
แผนกประชาสัมพันธ์ :
คุณศศิธร ช้างใหญ่ โทร. (02) 564-4000 ต่อ 6103
E-mail : sasithon@ismed.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net