กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
ทียูเอฟ ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2552 ทำกำไรสุทธิไตรมาส 4/2552 ที่สูงถึง134% ซึ่งเป็นผลงานที่โดดเด่นมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันก็โชว์ตัวเลขกำไรสุทธิทั้งปี 3,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% ซึ่งเป็นกำไรสุทธิทั้งปีที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป่องรายใหญ่ของไทย เผยถึงผลการดำเนินงานประจำปี 2552 ว่า บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิสูงถึง 3,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่ทำกำไรเท่ากับ 2,201 ล้านบาท โดยมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 3.79 บาท เพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับรายได้จากการขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 2,014 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเพียงเล็กน้อย 3% เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มีรายได้จากการขายเท่ากับ 2,070 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายในรูปเงินบาทเท่ากับ 68,995 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่มีรายได้เท่ากับ 69,048 ล้านบาท ในปี 2551 ขณะที่รายได้รวมทั้งปีนั้น บริษัทสามารถทำได้ 69,697 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่มีรายได้รวมทั้งปีที่ 69,519 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานรายไตรมาสนั้น ในไตรมาส 4 บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มสูงถึง 134% จาก 307 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็น 718 ล้านบาทในปีนี้ โดยยอดขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐและเงินบาทไม่เติบโตมากนักดังนี้ ยอดขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 519 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเล็กน้อย 2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 ที่มียอดขาย 528 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดขายในรูปของเงินบาทเท่ากับ 17,202 ล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มียอดขาย 18,410 ล้านบาท รายได้รวมเท่ากับ 17,281 ล้านบาท ลดลง 6% จากรายได้รวม 18,455 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2551
จากภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2552 ที่ออกมานี้ นายธีรพงศ์กล่าวต่อว่า ปีนี้เป็นอีก 1 ปีที่บริษัทมีความพึงพอใจกับผลการดำเนินงานเป็นอย่างมาก เพราะบริษัทสามารถสร้างและรักษาอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิได้อย่างโดดเด่นนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา ด้วยการทำกำไรสุทธิทั้งปีถึง 3,344 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยการบริหารจัดการและควบคุมต้นทุนได้อย่างดีเยี่ยม ประกอบกับผลการดำเนินงานของ
บริษัทย่อยในต่างประเทศที่ดีมาก ทุกบริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าปีนี้บริษัทจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่าง ๆ เช่น การปิดโรงงานที่อเมริกันซามัว เพื่อเปิดโรงงานใหม่ที่รัฐจอร์เจีย หรือการควบรวมทีมผู้บริหารของ 2 บริษัทย่อยในสหรัฐอเมริการะหว่างไทร-ยูเนี่ยน โฟรเซ่น ฟู้ดส์ และเอ็มเพรส อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นต้น โดยเฉพาะกรณีการปิดโรงงานนั้น บริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายในการปิดและเปิดโรงงานใหม่อยู่ที่ 17 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 568 ล้านบาท ซึ่งหากบวกกลับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เข้าไป จะส่งผลให้กำไรสุทธิในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอีก
สำหรับสัดส่วนยอดขายตามผลิตภัณฑ์ในปี 2552 นี้ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ายังเป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนการส่งออกถึง 44% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท รองลงมาได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 20% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 9% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 9% อาหารกุ้ง 6% ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 5% ปลาซาร์ดีน/แมคเคอเรล บรรจุกระป๋อง 4% และปลาหมึกแช่แข็ง 3% ส่วนตลาดส่งออกหลักนั้นยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วนการส่งออก 49% สหภาพยุโรป 13% ญี่ปุ่น 12% ขายในประเทศ 11% อัฟริกา 6% โอเชียเนีย 3% ตะวันออกกลาง 2% เอเชีย 2% แคนาดา 1% และอเมริกาใต้ 1%
นอกจากความสามารถเรื่องการบริหารจัดการและควบคุมต้นทุนแล้ว กลยุทธ์ด้านการตลาดก็เป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มและสร้างมาร์จิ้นได้อย่างยอดเยี่ยมในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเพิ่มมูลค่าในส่วนของผลิตภัณฑ์กุ้งที่ทำมาร์จิ้นได้ดี นอกจากนั้นแล้วสินค้าซาร์ดีนบรรจุกระป๋อง ปลาหมึกแช่แข็งและปลาแซลมอนแช่แข็ง อาหารกุ้ง และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ก็มียอดขายที่เติบโตในเกณฑ์ที่ดีเช่นเดียวกัน โดยมียอดขายเติบโต 40% 11% 8% และ 3% ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นผลจากการมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาและขยายสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาปริมาณความต้องการสินค้าอาหารทะเลในตลาดหลัก และตลาดใหม่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2553 นั้น นายธีรพงศ์เผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2553 คาดว่า น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี บริษัทเองก็ยังคงต้องมีความระมัดระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อม ๆ กับ การมองโอกาสและช่องทางที่จะขยายทางธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโต ส่วนในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงนั้น ค่าเงินบาทยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่บริษัทต้องติดตาม ซึ่งจากที่ผ่านมา บริษัทยังสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างดี ส่วนปัจจัยเรื่องราคาวัตถุดิบปลาก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตามสถานการณ์เช่นเดียวกัน แต่จากการที่บริษัทมีกองเรือของตนเอง ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและทราบข้อมูลที่ชัดเจน จึงทำให้
บริษัทสามารถปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันภาวการณ์การแข่งขันในตลาดโลกค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นความสามารถในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ในส่วนของกลยุทธ์ด้านการตลาดนั้น บริษัทจะให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายของผลิตภัณฑ์โดยจะมุ่งเน้นไปยังผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มมากขึ้น เน้นการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทได้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเรียกว่า “Culinary Development” ซึ่งได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารจากอเมริกามาดำเนินการ โดยหน่วยงานใหม่นี้จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสินค้าอาหารของบริษัท ส่วนเรื่องแผนการขยายธุรกิจนั้น ปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการสร้างห้องเย็นขนาดความจุ 40,000 ตัน ซึ่งเป็นแผน 2 ปี รวมถึงการเพิ่มกำลังผลิตในส่วนของสินค้าทูน่า กุ้งแช่แข็ง และปลาซาร์ดีนบรรจุกระป๋องก็จะอยู่ในแผน 2 ปีนี้เช่นกัน ซึ่งใช้งบลงทุน 2,000 ล้านบาท นอกจากนั้นแล้ว การปรับโครงสร้างการบริหารของ 2 บริษัทลูกในสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงกลางปี 2552 ซึ่งการควบรวมจะเสร็จในปี 2553 ก็จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในเรื่องของกลยุทธ์ทางการตลาดและช่องทางการตลาดที่มากขึ้น โดยการควบรวมนี้ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้บริษัทมั่นใจว่า บริษัทจะยังมีแรงส่งที่ต่อเนื่องที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเติบโตไปข้างหน้าต่อไป รวมถึงการมองหาจังหวะที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสของการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
และจากการที่บริษัททำกำไรสุทธิทั้งปีออกมาได้อย่างโดดเด่น ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอการจ่ายเงินปันผลงวดหลังในอัตราหุ้นละ 1.00 บาทต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2553 โดยแบ่งเป็นส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 0.70 บาท และส่วนที่จะถูกหักภาษีเนื่องจากไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวจำนวน 0.30 บาท นายธีรพงศ์กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
แผนกสื่อสารองค์กร
บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
โทร. 022-980024 ต่อ 675 — 678
www.thaiuniongroup.com