กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทส.หวั่นปัญหากัดเซาะ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอาจทำภาคเศรษฐกิจเสียหายได้ถึง 3.3 ล้านล้านบาท เผยประเทสไทยเสียพื้นที่จากปัญหานี้แล้ว 113,000ไร่ ชี้กรุงเทพ ฯ เป็นเมืองเสี่ยงอันดับ 9 ของโลก เตรียมประชุมรับมือวิกฤติด่วน
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.)เปิดเผยว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนานและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรง ซึ่งขณะนี้อัตราการกัดเซาะชายฝั่งอยู่ที่ระดับ 5 เมตร — 30 เมตร และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ และนอกจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแล้วพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยยังเป็นพื้นที่เสี่ยงอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) เมื่อปี 2007 พบว่าระดับน้ำทะเลของโลกจะมีอัตราการเพิ่มอยู่ที่ 9 เซนติเมตร - 88 เมตร ในช่วง 100 ปี คือในปี 2097 ซึ่งหากระดับน้ำทะเลในประเทศไทยสูงขึ้นอีก 1 เมตร ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีมูลค่าความเสียหายของสินทรัพย์จากผลกระทบดังกล่าวเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท และกรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายของที่ดินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจประมาณ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ทส. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 20 ปี จัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2551 — 2555 จัดตั้งหน่วยงานเพื่อจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และการวิจัยทางด้านสมุทรศาสตร์ อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาในบางพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นหรือยังไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การประชุมสู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและเตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนในครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติที่จะเกิดขึ้น
“ยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนปฏิบัติการที่ได้ดำเนินการมาตลอด รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอาจต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ซึ่งผมเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ กับเศรษฐกิจไทยได้ แม้ว่าวันนี้เราจะมาพูดเรื่องอนาคตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า แต่สิ่งที่จะทำในวันนี้คือหยุดยั้งและป้องกันปัญหา ซึ่งคน ๆ เดียวไม่สามารถทำได้ และทั่วโลกก็พยายามผลักดันให้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกัน” นายสุวิทย์กล่าว
ด้านนายประวิม วุฒิสินธุ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยทั้ง 2 ด้านมีพื้นที่ความยาวประมาณ 2,800 กิโลเมตร เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 12 ล้านคน ขณะนี้ร้อยละ 23 ของแนวชายฝั่งทะเลของไทยหรือราว 600 กิโลเมตรกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งประเทศไทยสูญเสียพื้นที่จากปัญหานี้ไปแล้วกว่า 113,000 ไร่ โดยเฉพาะในช่วง 55 ปีที่ผ่านมานี้มีการกัดเซาะผืนดินไป 16,760 ไร่
“จังหวัดที่จัดว่าเป็นพื้นที่วิกฤติมีทั้งสิ้น 13 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทางรวม 207 กิโลเมตรหรือประมาณร้อยละ 12 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยพื้นที่รูปตัว ก มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 10 — 20 เมตรต่อปี ในส่วนพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปีใน 5 จังหวัด คือ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และหากระดับน้ำทะเลสูงเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร จังหวัดพัทลุงจะโดนผลกระทบด้วยเช่นกัน” นายประวิมกล่าว