กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--วว.
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2551 ให้แก่ผู้ชนะการประกวด จำนวน 5 รางวัล เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
“...โครงการนี้เป็นกิจกรรมตัวอย่างที่ดี ในการส่งเสริมสนับสนุนผู้มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะเครื่องมือเครื่องจักรด้านการเกษตร ทั้งนี้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางและเชื่อมโยงกับภาคการผลิต อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ในอนาคต...” ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าว
โครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 จวบจนปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจและชักชวนให้นักประดิษฐ์เห็นความสำคัญของการคิดค้น สร้างสรรค์ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเปิดโอกาสให้สิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นฝีมือคนไทยได้พัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์
สำหรับการจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2551 นั้น มีหัวข้อการประกวดว่า “เครื่องจักรกล พลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเกษตร” โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 50 ชิ้นงาน จากการตัดสินของคณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานให้รับรางวัลจำนวน 5 รางวัล ดังนี้
รางวัลที่ 1 ถุงหมักก๊าซชีวภาพพีวีซี ผลงาน นายสุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รางวัลเชิดชูเกียรติ จำนวน 4 รางวัล ดังนี้
1. เครื่องปอกเปลือกกระเทียม ผลงาน นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
2.เครื่องกะเทาะผลหมากแห้ง ผลงาน นายสุทธิพร เนียมหอม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน)
3. เครื่องคัดขนาดไข่ ผลงาน นายนุ้ย แจ้งประจักษ์ นักประดิษฐ์อิสระ
4. ใบพัดตีน้ำแบบสไปรอล ผลงาน ว่าที่ ร.ต. ธานี ศรีทอง วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์
เครื่องปอกเปลือกกระเทียม วว. มีกำลังการผลิต 20 กิโลกรัม/ชั่วโมง สามารถปอกกระเทียมได้ดีทุกขนาดทั้งกระเทียมไทยหรือกระเทียมจีนได้สูงมากกว่า 90% โดยไม่มีการช้ำ แตก หัก เสียหายของเนื้อกระเทียม สามารถแยกเปลือกกระเทียมและเนื้อกระเทียมออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีหลักการทำงานอาศัยแรงลมแบบกระแสลมแปรปรวน ทำให้เกิดการขัดสีกันระหว่างกลีบกระเทียมกับกลีบกระเทียม รวมทั้งกลีบกระเทียมกับผนังด้านใน โดยผู้ใช้สามารถบรรจุกระเทียมได้มากที่สุดครั้งละ 10 กิโลกรัม ภายในชุดปอกเปลือกจะมีการขัดสีกันเองโดยอาศัยแรงลมช่วยในการขัดสีให้เปลือกกระเทียมร่อนออกจากเนื้อกระเทียมได้อย่างสมบูรณ์
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม “เครื่องปอกเปลือกกระเทียม วว.”ได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร โทร. 0 2577 9000 , 0 2577 9133 โทรสาร 0 2577 9009 www.tistr.or.th E-mail: tistr@tistr.or.th