กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--วันเดอเร็กซ์
เด็กไทยขึ้นแท่น “แชมป์โรคอ้วน” ในลำดับต้น ๆ ของโลก ประกาศ 10 จังหวัดนำร่อง กับ ภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กไทยใกล้วิกฤต ทั้ง “ขาด” และ “เกิน”
ในปี 2558 “เด็กอ้วน” จะมีอัตราสูงขึ้นถึง 1 ใน 5 ของเด็กวัยก่อนเรียน และ 1 ใน 10 ของกลุ่มเด็กในวัยเรียน
ณ. ห้องรัตนโกสินทร์ โรงแรมนารายณ์ สีลม : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีฯ พร้อมด้วย สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชู ปภัมถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดย นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ อุปนายกสมาคมฯ ผู้ริเริ่มและร่วมดำเนินการ โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ด้วยความสนับสนุนงบประมาณ จาก สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ร่วมกันจัด “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย” เป็นการผนึกพลัง 6 องค์กรใหญ่ ที่มีบทบาทสำคัญด้านโภชนาการและสุขภาพเยาวชนไทย พร้อมแถลงข่าว “ภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กไทยใกล้วิกฤต และ ประกาศ 10 จังหวัดนำร่องในการสร้างเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย” โดยมี นายสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษาสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดการโครงการฯ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหา ทั้งด้าน “ขาด” และ “เกิน” (Double burden) โดย “เด็กผอม” หรือ เด็กขาดสารอาหาร และ “เด็กอ้วน” หรือ ภาวะโภชนาการล้นเกิน กลายเป็นภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในชุมชนและท้องถิ่น ส่งผลให้ประเทศชาติเต็มไปด้วยเด็กที่มีสติปัญญาต่ำ และสูญเสียงบประมาณด้านยาและค่ารักษาโรค เป็นมูลค่ามหาศาล
สาเหตุหลักที่ทำลายสุขภาพเด็กไทย มาจากพฤติกรรมการกิน ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม อาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน และ อาหารฟาสฟู้ดส์แบบตะวันตก
นายแพทย์สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงข้อมูลวิจัยจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา (ปี 2540 — 2552) เด็กไทยมีระดับเชาว์ปัญญา และพัฒนาการสมวัยต่ำลง กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยระดับเชาว์ปัญญาลดลงจาก 91 เหลือ 88 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 90 — 110 และยังต่ำกว่าระดับ 104 ซึ่งเป็นระดับเชาว์ปัญญาของเด็กๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ยิ่งกว่านี้ เด็กอายุ 0 - 5 ปี ยังมีพัฒนาการสมวัยลดลงจากร้อยละ 72 เหลือเพียง ร้อยละ 67 ทั้งนี้ จากผลการสำรวจ พบว่า เด็กทารกเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อยหกเดือน ส่วนเด็กทารกอายุ 6 - 12 เดือน ที่ได้รับอาหารไม่เหมาะสมตามวัย มีอัตราสูงถึงร้อยละ 45
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านโภชนาการและสุขภาพเด็กไทย มาจากพฤติกรรมการบริโภคยุคใหม่ ในโลกโลกาภิวัตน์ โลกวัตถุนิยม และ โลกยุคบริโภคเกินพอดี ที่นิยมกิน อาหารฟาสฟู้ดส์แบบตะวันตกจนเป็นแฟชั่น ขนมถุง ขนมกรุบกรอบ และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน น้ำอัดลม ยิ่งกว่านี้ อาหารเสริมสำเร็จรูปกลายเป็นอาหารหลักแทนกล้วยบด และข้าวครูด และติดอาหารรสหวาน มัน เค็มในเด็กวัยก่อนเรียนและเด็กวัยเรียน จากการสำรวจยังพบว่า ในรอบ 3 ปี (พ.ศ. 2547 — 2550) ที่ผ่านมา เด็กไทยกินขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมเป็นประจำ เพิ่มขึ้นถึง 1.8 และ 1.5 เท่า ตามลำดับ ซึ่งขนมกรุบกรอบที่เด็กกิน จำนวน 100 ถุง นั้น มากกว่า 90 ถุง มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ มีเพียงมีไม่ถึง 10 ถุง จาก 100 เท่านั้น ที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
น่าตกใจ เด็กไทยกินขนมเฉลี่ย 9,800 บาท ต่อคน / ปี เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา 3,024 บาท ต่อคน / ปี และไม่กินผัก ส่งผลให้เด็กไทยมีปัญหาทุพโภชนาทั้ง “ขาด” และ “เกิน”
ที่น่าตกใจยิ่งขึ้น คือ เด็กไทยซื้อขนมกินเฉลี่ยถึง คนละ 9,800 บาท ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่ใช้เงินเพียงคนละ 3,024 บาทต่อปี ในขณะเดียวกัน กรมอนามัยรายงานว่า เด็กวัยเรียนกินผักเพียงวันละ 1.5 ช้อนโต๊ะ ซึ่งควรกินไม่ต่ำกว่าวันละ 12 ช้อนโต๊ะ พฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้เด็กไทยมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการทั้ง “ขาด” และ “เกิน” โดยเฉพาะความชุกของโรคอ้วนในเด็กไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ในลำดับต้นๆของโลก กรมอนามัย คาดประมาณว่า ในปี 2558 ความชุกของเด็กอ้วนจะสูงถึง 1 ใน 5 ของเด็กวัยก่อนเรียน และ 1 ใน 10 ของเด็กวัยเรียน โดยจะเป็นโรคอ้วนและเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ในเวลาเดียวกันยังพบเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดสารไอโอดีน และเป็นโรคโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก และอื่น ๆ อย่างน้อย 16 โรค
ผลการศึกษาระยะยาว พบว่า เด็กที่ขาดสารอาหารมีรูปร่างเตี้ย แคระแกร็น เมื่อโตขึ้นจนถึงอายุ 8 — 10 ปี มีสติปัญญาต่ำกว่าเด็กที่ไม่เตี้ยแคระแกร็น และมีผลสัมฤทธิ์การเรียนต่ำ เด็กกลุ่มนี้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีระดับสติปัญญาต่ำ และมีความสามารถในการสร้างรายได้ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารเหมาะสมตามวัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัญหาทุพโภชนาการในเด็ก มีผลให้รายได้ของประเทศลดลงถึงร้อยละ 2 — 3 และจากผลการศึกษา ผู้ป่วยเบาหวานในสถานพยาบาล 11 แห่ง พบว่า เด็กและวัยรุ่นป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น จากร้อยละ 2 ในปี พ.ศ. 2542 เพิ่มเป็นร้อยละ 18 ในปี พ.ศ. 2547
ผลกระทบของปัญหาด้านสุขภาพดังกล่าว ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การสูญเสียปีสุขภาวะ การขาดงาน ข้อจำกัดด้านร่างกายที่บั่นทอนความสามารถของผู้ที่เป็นโรคอ้วน ประเทศไทยสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยในปี พ.ศ. 2548 ค่ารักษาพยาบาลของโรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมกันเพียงสามโรคสูงถึงกว่า 70,000 ล้านบาท
ทุพโภชนาการเด็กไทย : ผู้ใหญ่รังแกเด็ก
“ปัจจุบันเด็กไทยเผชิญปัญหา 2 ด้าน ทั้งขาดสารอาหาร และภาวะโภชนาการเกิน ในเวลาเดียวกัน สาเหตุสำคัญเกิดจาก พฤติกรรมทางอาหารและโภชนาการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งต้นเหตุเกิดจากขาดการวางรากฐาน และสร้างระบบการเข้าถึงอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมให้แก่เด็กซึ่ง สรุปได้ 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้
1) ครอบครัวและชุมชนขาดความรู้และทักษะด้านอาหารและโภชนาการ กล่าวคือ ขาดการสร้างแรงจูงใจ และจิตสำนึกให้ผู้เลี้ยงดูเด็กเห็นความสำคัญและใส่ใจให้อาหาร ลูก-หลาน ที่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะพ่อแม่และคนในชุมชน เข้าไม่ถึงระบบการสื่อสารด้านอาหารและโภชนาการ
2) สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมโภชนาการที่พึงประสงค์ ผลการสุ่มสำรวจโรงเรียน 400 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2548 พบว่า โรงเรียนมักจัดอาหารกลางวันและอาหารว่างเป็นอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง อุดมไปด้วยไขมันและน้ำตาล โรงเรียนที่มีการจัดผลไม้ให้กับเด็กใน 1 สัปดาห์ มีเด็กอ้วน น้อยกว่าโรงเรียนที่ไม่จัดผลไม้ ร้อยละ 30 และโรงเรียนที่มีการขายเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน มีเด็กอ้วนเป็น 2 เท่าของโรงเรียนที่ไม่มี
3) การบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการระดับพื้นที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะกลไกการทำงานของสามภาคส่วนที่เป็นเจ้าภาพหลัก คือ ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ และชุมชนหรือภาคประชาชน พบว่า ท้องถิ่นมีเงินและทรัพยากร แต่ส่วนใหญ่ขาดองค์ความรู้ ทักษะ และ ประสบการณ์ การดำเนินงานด้านการพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบางพื้นที่ ไม่สามารถปรับตัวและกระบวนทัศน์ในการทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้ ในขณะที่ ชุมชนหรือภาคประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้มแข็ง ส่งผลให้การจัดการด้านอาหารและโภชนาการในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนไม่ได้มาตรฐานโภชนาการ นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวปิดท้าย
ได้เวลารวมพลังสร้างเด็กไทยให้มีโภชนาการสมวัย พ้นภัย “อ้วน” และ “ผอม”
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการฯ ร่วมเปิดเผยว่า “จากปัญหาโภชนาการของเด็กไทยที่กล่าวมาแล้วนั้น หากปล่อยไว้เ ด็กไทยวิกฤตแน่ และจะเกิดผลกระทบต่อประเทศชาติในระยะยาว ด้วยเหตุนี้
ทั้ง 6 หน่วยใหญ่ได้ร่วมกันผนึกพลังเพื่อเยาวชนของชาติ คือ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ด้วยความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสนับสนุนงบประมาณ ร่วมกันดำเนินงานตามโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อพัฒนาระบบและกลไกให้ท้องถิ่นและชุมชนมีศักยภาพและสมรรถนะในการส่งเสริมให้เด็กทารก เด็กวัยก่อนเรียน และเด็กวัยเรียน ที่อยู่ในชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน ได้มีพฤติกรรมการกินอาหารครบถ้วน เพียงพอ มีคุณค่าทางโภชนาการทุกวัน ซึ่งมีแผนการดำเนินงานใน 10 จังหวัดนำร่องได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง อุดรธานี ขอนแก่น เพชรบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี สงขลา ภูเก็ต และกรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลา 3 ปี
โดยในปีแรก เป็นช่วงระยะเวลาเตรียมการและจัดทำนวัตกรรมหรือเครื่องมือการขับเคลื่อนงาน ปีที่สองจะพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นและนำนวัตกรรมไปใช้ในสถานการณ์จริง พร้อมติดตาม ควบคุมกำกับ ส่วนปีที่สาม จะมีการถอดบทเรียนและกำหนดเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย พร้อมผลักดันนโยบายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ภาคีเครือข่ายด้านอาหารและโภชนาการทั้ง 6 องค์กร ได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ, กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ณ โรงแรมนารายณ์ นับได้ว่าเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือร่วมใจเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย และฉลาดแข็งแรงอย่างยั่งยืนต่อไป
จากแผนปฏิบัติการนี้ คณะดำเนินโครงการฯ ได้วางเป้าหมายในการดำเนินงานสำหรับปี 2554 — 2555 ให้บรรลุ “แนวโน้มของเด็กทารก เด็กวัยก่อนเรียน และเด็กวัยเรียนที่ร่วมโครงการ จำนวน 145,000 คน อย่างน้อย 85% จะต้องมีภาวะโภชนาการสมวัย คือ มีน้ำหนัก / ส่วนสูง ตามเกณฑ์อายุ”
ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ได้น้อมนำพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2540 สู่ภาคปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ดังนี้
“...มีเด็กไทยจำนวนมากที่มีปัญหาทุพโภชนาการ หากท่านทั้งหลายสามารถช่วยกันขจัดปัญหานี้ให้หมดไป ทรัพยากรบุคคลก็จะมีคุณภาพมากขึ้น และมีศักยภาพในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าในอนาคต...”
สอบถามรายละเอียดได้ที่
บริษัท วันเดอเร็กซ์ จำกัด
โทร. 0-2973-4911, 0-2973-3030
Email : wonderex2002@gmail.com