ฟิทช์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Thursday June 1, 2006 14:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของธนาคารไทยพาณิชย์ (“SCB”) ที่ระดับ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘BBB’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ SCB ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) อันดับเครดิตของ SCB สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของผลกำไรจากการดำเนินงานหลักและความสามารถในการทำกำไรอันเนื่องมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อ ระดับสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนของธนาคารก็ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีเครือข่ายธุรกิจธนาคารพาณิชย์และทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย
เมื่อพิจารณาถึงการสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (“CPB”, หน่วยงานทางด้านลงทุนของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นภาคเอกชนรายเดียวที่ใหญ่ที่สุดของ SCB รวมทั้งการสนับสนุนในอดีตและในปัจจุบันของกระทรวงการคลัง (“MOF”) ส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากของ SCB ที่สูง และความสำคัญที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากต้องการความช่วยเหลือ
อันดับเครดิตของ SCB ขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศไทย การปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต รวมทั้งการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจและระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งรวมถึงโครงสร้างการกำกับดูแลและโครงสร้างทางกฎหมาย เป็นสิ่งจำเป็นที่จะสนับสนุนการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของอันดับเครดิตของธนาคารในอนาคต
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับประโยชน์จากผลพวงความพยายามในการปฏิรูประบบธนาคารตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในปี 2540 โดยมีเครือข่ายธุรกิจและเครือข่ายลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่งของธนาคาร รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย ในฐานะที่ธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ธนาคารยังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยอีกด้วย การซื้อกิจการของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง (“SPL”) ก็น่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายลูกค้ารายย่อยของ SCB
ในไตรมาสแรกของปี 2549 ผลกำไรสุทธิของ SCB ลดลงเป็น 4.3 พันล้านบาท จาก 5 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2548 โดยมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากผลประโยชน์ทางด้านภาษีจากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนในอดีตได้ใช้หมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานหลักของธนาคารยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลกำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 5.7 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2549 จาก 5.0 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2548 สภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลงและต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้นอาจจำกัดอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ว่า SCB น่าจะมีเสถียรภาพในการรักษาแนวโน้มการเติบโตของผลกำไร เมื่อพิจารณาถึงขนาดและเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCB อยู่ที่ระดับ 61.9 พันล้านบาท หรือ 9.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้อยู่ที่ระดับน้อยกว่า 7% ภายในสิ้นปี ระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารได้ลดลงมาที่ 52.2 พันล้านบาทเนื่องจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชี ซึ่งระดับสำรองหนี้สูญนี้อยู่ที่ 84.3% ของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นระดับที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของธนาคารไทย อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นได้ลดลงเป็น 9.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 ชี้ให้เห็นถึงระดับสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 72.1 พันล้านบาท หรือ 11.5% ของสินทรัพย์เสี่ยง ในขณะที่เงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ระดับ 91.6 พันล้านบาท หรือ 14.6% ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่ง
ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาต ในปี 2447 เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อประมาณ 13% และทางด้านเงินฝากประมาณ 12% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 23.72% ธนาคารไทยพาณิชย์มีบริษัทย่อยและร่วมชั้นนำในธุรกิจการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ให้ผู้บริโภค การดำเนินงานด้านวาณิชธนกิจ การจัดการกองทุน และธุรกิจประกัน
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่:
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,
สรสิทธิ์ วรรณประเสริฐ,
Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4755

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ